Surf Skate ล้ม กระดูกหัก เล่นสเก็ต

ผู้เชี่ยวชาญแนะ เล่น Surf Skate อย่างไร ไม่ให้ “หัก”

ผู้เชี่ยวชาญแนะ เล่น Surf Skate อย่างไร ไม่ให้ “หัก”

ในปัจจุบันกีฬาเซิฟสเก็ต ( Surf Skate ) ค่อนข้างได้รับความนิยมสูงมากไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่น,ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นด้วยประโยชน์ในการออกกำลังกายหรือด้วยความตื่นเต้นที่ได้รับก็ตาม กีฬาเซิฟสเก็ตถือว่าช่วยเผาผลาญแคลอรี่, ลดน้ำหนักและช่วยฝึกความสามารถในการทรงตัวได้อย่างดีเยี่ยม
แต่ความสนุกของกีฬาชนิดนี้ต้องแลกมาด้วยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นครับ โดยเฉพาะกับกระดูก, ข้อต่อ, เอ็นและกล้ามเนื้อ เราจะมีวิธีอย่างไร ที่จะลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บลงให้ได้มากที่สุด

“ข้อเข่าและข้อศอก มักไม่หัก”

จากสถิติพบว่าตำแหน่งของข้อเข่าและข้อศอกมักไม่หัก มักจะพบเป็นแค่เพียงแผลพกช้ำหรือแผลถลอกเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วการใส่อุปกรณ์ป้องกันบริเวณข้อศอกและข้อเข่าจะสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดแผลถลอกหรือแผลฟกช้ำได้ แต่รู้ไหมว่า นั่นไม่ใช่อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด

“ข้อมือ!!! คือตำแหน่งที่พบกระดูกหักมากที่สุดต่างหาก”

อันดับหนึ่งเลยคือข้อมือ เนื่องจากพบว่าขณะล้ม ผู้เล่นมักจะใช้มือยันลงที่พื้นโดยตรงอย่างไม่ตั้งใจ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อมือได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเอ็นข้อมืออักเสบ หรือกระดูกข้อมือหักก็ตาม อุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญที่สุดในการเล่นเซิฟสเก็ตจึงเป็นสนับข้อมือครับ!!! สำคัญกว่าสนับเข่าหรือสลับศอกเสียอีกใครที่เล่นเซิฟสเก็ตอยู่แล้วยังไม่มี แนะนำให้หามาใช้ด่วนเลย เพราะจากงานวิจัยพบว่า สลับข้อมือสามารถช่วยลดการหักของกระดูกข้อมือได้อย่างดี

Surf Skate ล้ม กระดูกหัก เล่นสเก็ต

“กระดูกข้อเท้ามักเกิดการหักหรือร้าวได้บ่อย”

ลำดับรองลงมา คือ ข้อเท้า ไม่ว่าจะเป็นเอ็นข้อเท้าบาดเจ็บ หรือกระดูกข้อเท้าแตกร้าวก็ตาม เนื่องจากว่า ขณะเล่นเซิฟสเก็ต ต้องใช้ข้อเท้าในการหักเลี้ยวและขยับตัวบอร์ด ทำให้ไม่สามารถที่จะใส่อุปกรณ์ป้องกันชนิดแข็งได้ ส่งผลให้หากเกิดอุบัติเหตุ ข้อเท้าจะเกิดการบิดตัวนำไปสู่การบาดเจ็บได้ในที่สุด

“กระดูกแขน, กระดูกขาก็พบว่าหัก”

จากสถิติพบน้อยกว่าข้อมือและข้อเท้าบาดเจ็บครับ แต่ก็พบได้เช่นกัน แม้แต่หมอเองก็เคยผ่าตัดผู้ป่วยแขนหักจากการเล่นเซิฟสเก็ต กระดูกอื่นๆ ที่พบอีกได้แก่ กระดูกบริเวณใบหน้า เช่น จมูก, คาง, กรามเป็นต้น

“ 3 ปัจจัยที่ทำให้เจ็บตัว”

-การกระโดดไม่ว่าจะเป็นการกระโดดจากพื้น หรือการกระโดดจากอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บ

-Downhill หรือการไถสเก็ตลงเนิน เพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บ เพราะว่าความเร็วของสเก็ตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เรา control หรือบังคับตัวสเก็ตได้ยากขึ้น และการเกิดอุบัติเหตุที่ความเร็วสูงย่อมทำให้ได้รับการบาดเจ็บที่มากกว่าความเร็วต่ำ

-ไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน จัดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บข้อหนึ่ง การเกิดอุบัติเหตุขณะใส่อุปกรณ์ป้องกันนั้นจะได้รับผลลัพธ์ที่แตกต่างกับไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันเป็นอย่างมาก กันไว้ดีกว่าแก้ ใส่อุปกรณ์ป้องกันดีกว่า

ส่งท้ายอีกข้อคือ ไม่ควรเล่นเซิฟสเก็ตบนถนนที่มีรถยนต์เด็ดขาด จากสถิติพบว่าอุบัติเหตุรุนแรงในระดับถึงกับเสียชีวิต เกิดจากการเล่นบนถนนดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงไปเล่นบริเวณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราจะสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมแล้วนั้น อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้เสมอและการบาดเจ็บย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ตามมา การเล่นอย่างมีสติ ไม่หักโหมวู่วาม จึงเป็นปัจจัยที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

บทความโดย : นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์ศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง ชั้น 2 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) โทร 02-836-9999 ต่อ 2621-2


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เพิ่มแคลเซียม ให้ร่างกายวันนี้ ลดโอกาสกระดูกเปราะ

โยเกิร์ตนมถั่วเหลืองโฮมเมด อาหารบำรุงกระดูก ปรับสมดุลฮอร์โมน

ไม่อยากเป็น กระดูกพรุน ตอนแก่ อย่าเอาแต่หลบแดด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.