ไข่มุก ซุปตาร์,มะเร็ง,มะเร็งผิวหนัง,โรคมะเร็งผิวหนัง

ทำความรู้จัก มะเร็งผิวหนัง ให้มากขึ้น หลังดาราตลก ไข่มุก ซุปตาร์ เสียชีวิตสุดยื้อ

มะเร็งผิวหนัง ภัยร้ายคร่าชีวิต

เชื่อว่าหลายคนคงได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ ไข่มุก ซุปตาร์ ด้วยโรคมะเร็งผิวหนังกันแล้ว แม้โรคนี้จะพบไม่บ่อย และข่าวคราวการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ก็แทบไม่ค่อยได้เห็น แต่เราก็อยากให้หลายๆ คนทราบข้อมูลเกี่ยวกับ โรคมะเร็งผิวหนัง เอาไว้ เพื่อสังเกตร่างกายของตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวดาราตลกดังเสียชีวิต

ข้อหยิบยกเนื้อข่าวจาก thairath.com

ระบุว่า

หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายมานาน และเพิ่งจะขอรับบริจาคเงินจากแฟนๆ เพื่อไปทำคีโมครั้งสุดท้าย และเก็บไว้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในการรักษาตัว แต่กลับเจออาการแทรกซ้อนจนต้องพักการทำคีโมเอาไว้ก่อน แต่ด้วยกำลังใจที่ยังดี ทำให้ ไข่มุก ซุปตาร์ หรือ พิพัฒน์ ผึ้งทรัพย์ นางโชว์และดาวตลกชื่อดัง ยังมีหวังและกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย รักษาตัวเองให้หาย และกลับมาทำงานที่ตัวเองรักอีกครั้ง

แต่เพราะถูกโรคร้ายรุมเร้ามานาน บวกกับมีอาการแทรกซ้อน จึงทำให้ ไข่มุก ซุปตาร์ ได้เสียชีวิตลงแล้วในวันนี้ และในวันพรุ่งนี้ (11 ธันวาคม) เวลา 17.00 น. จะมีการรดน้ำศพที่วัดหนามแดง เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ และทางบันเทิงไทยรัฐออนไลน์ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของไข่มุกด้วยนะคะ

การจากไปของดาราตลกคนดังสร้างความอาลัยแก่ญาติๆ เพื่อนๆ และแฟนๆ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงภัยร้ายของมะเร็ง(ที่แม้จะพบได้ไม่บ่อย)นี้ เราจึงนำข้อมูลจาก ฐานข้อมูลออนไลน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาให้อ่านกันค่ะ

ไข่มุกซุปตาร์,โรคมะเร็งผิวหนัง,มะเร็งผิวหนัง,มะเร็ง
ภาพจาก thairath.com

รู้จักโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบันนี้พบโรคมะเร็งผิวหนังได้บ่อยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังมีดังนี้

  1.   โรคทางพันธุกรรมบางโรค
  2.   คนผิวขาว หรือคนเผือก
  3.   แสงแดด
  4.   สารเคมี เช่น สารหนู (Arsenic)
  5.   ไวรัสหูด (human papilloma virus) บางชนิด
  6.   แผลเรื้อรัง
  7.   การได้รังสีรักษา
  8.   ภาวะภูมิต้านทานต่ำ
  9.   การสูบบุหรี่

โดยมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยในคนไทย มี 3 ชนิดคือ Basal Cell Carcinoma, Squamous Cell Carcinoma และ Malignant Melanoma

Basal Cell Carcinoma

พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50  ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นตุ่มผิวเรียบ ขอบจะมันวาว บางครั้งขอบอาจมีขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย และอาจมีหลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่ผิว ในคนไทยตุ่มมักมีสีดำหรือสีน้ำตาลปะปนมากน้อยแตกต่างกัน บางรายอาจมีแผลแตกตรงกลางรอยโรค ขยายกว้างออกช้า ๆ ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูก ลักษณะเด่นของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลหรือดำ ล้อมรอบด้วยขอบมันวาว ยกและม้วนเข้า

Squamous Cell Carcinoma

พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50  ปีขึ้นไป ระยะเริ่มจะเป็นก้อนขนาดเล็ก สีผิวปกติหรือแดงเล็กน้อย แข็ง ขอบเขตไม่ชัดเจน ผิวมักจะขรุขระ และอาจมีขุยร่วมด้วย ต่อมารอยโรคจะกว้างออกและลึกลงไปเรื่อย ๆ จนผิวแตกออกเป็นแผล มีสะเก็ด เลือดออก และมีกลิ่นเหม็น มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ แขน และหน้าอก มะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน มีผิวขรุขระ และมีขุย มักแตกออกเป็นแผล

Malignant Melanoma

พบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ผู้ป่วยมักอยู่ในอายุระหว่าง 50 – 70 ปี มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดที่ตำแหน่งใดบนร่างกายก็ได้ อาจพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำหรือไม่ก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีดำเข้ม แต่ก็พบมีหลายสีได้ ตั้งแต่สีดำ แดง ชมพู น้ำตาล เทา โดยสีของมะเร็งผิวหนังจะกระจายบนก้อนไม่สม่ำเสมอกัน ในคนไทยมักพบมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ถึงร้อยละ 50 มะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักเกิดบนตำแหน่งที่เป็นไฝเดิม แล้วมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป หรือเป็นไฝที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยไฝเหล่านี้จะมีลักษณะขอบเขตไม่ชัดเจน มีสีไม่สม่ำเสมอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร

ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา

อ้างอิง : บทความ มะเร็งผิวหนัง โดย ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สารอาหารเพื่อ ผิวสวย

10 สารอาหารป้องกันมะเร็ง ช่วยร่างกายแข็งแรง

วิตามินธรรมชาติ ป้องกันมะเร็ง ทุกอวัยวะ

เคล็ดลับความงาม เพื่อผิวสวย สู้แดด

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.