อาหารสุขภาพ,อาหารป้องกันมะเร็ง

10 สารอาหารป้องกันมะเร็ง ช่วยร่างกายแข็งแรง

สารอาหารป้องกันมะเร็ง ที่น่าสนใจ

ถ้ามะเร็งเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจ เชื่อว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยวหรอกค่ะ เพราะว่ารอบๆ ตัวเรามีทีมพระเอกคอยช่วยเหลือปกป้องเราให้ห่างไกลจากมะเร็งได้ พระเอกที่ว่านั้นก็คือสารแอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิดในอาหารที่เราพบเห็นอยู่เป็นประจำหรือรู้จักดี มาดูกันว่า สารอาหารป้องกันมะเร็ง มีอะไรบ้าง

สารอาหารที่ช่วยต้านโรค

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ให้คำจำกัดความมะเร็งสั้นๆว่า “เนื้องอกหรือกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับท็อกซิน (Toxin) หรือพิษ ทั้งจากที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและสิ่งแวดล้อมภายนอกรวมกับการเกิดฟรีแรดิคัล (Free Radical) ภายในตัวเอง ส่งผลให้ระบบอิมมูนซิสเต็ม (Immune System) หรือภูมิชีวิตลดลง ร่างกายจึงอ่อนแอและไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

สารต้านมะเร็งพระเอกของเรา โดยเฉพาะสารแอนติออกซิแดนต์ที่มีมากในผักผลไม้หลายชนิดนั้นสามารถลดท็อกซินและยับยั้งฟรีแรดิคัล จึงช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งได้

นอกจากนี้ยังคอยช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ รวมทั้งคอยกำจัดเซลล์ผิดปกติก่อนที่จะก่อตัวเป็นมะเร็ง  คราวนี้เรามารู้จักพระเอก 20 สารอาหารต้านมะเร็งกันค่ะ

วิตามินซี

เป็นแอนติออกซิแดนต์ที่เก่งฉกาจ สามารถยับยั้งและต้านทานเชื้อโรค ที่สำคัญ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันร่างกาย
ช่วยซ่อมแซมเซลล์ส่วนที่สึกหรอและต่อต้านการอักเสบ ตับของเราซึ่งทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต้องการวิตามินซีด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ขาด
วิตามินซีร่างกายจะอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย และขาดอาวุธชั้นดีในการต่อสู้กับมะเร็ง

วิตามินซีมีในผักสดและผลไม้ หาซื้อง่ายและราคาไม่แพงเลยค่ะ เช่น กะหล่ำดอก บรอกโคลีพริกหวานแดง ฯลฯ ก็มีวิตามินซีแล้ว

ผักพื้นบ้านอย่างดอกขี้เหล็กมีวิตามินซีสูงมากที่สุด รองลงมาเป็นยอดมะยม ฝักมะรุม

ซีลีเนียม

น่าแปลกที่ซีลีเนียมเป็นธาตุที่มีน้อยมากๆ ในโลกใบนี้ และร่างกายของเราก็ยังต้องการมัน แต่ก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น และขาดไม่ได้เสียด้วยสิ ซีลีเนียมทำหน้าที่ลดการเกิดฟรีแรดิคัลและเป็นมิตรที่ดีของวิตามินอี โดยจับมือช่วยกันดูแลเนื้อเยื่อและชะลอเซลล์ไม่ให้แก่ชราไปก่อนเวลา ป้องกันมะเร็งผิวหนัง

ใครกลัวขาดซีลีเนียมควรกินอาหารทะเล บราซิลนัท ก็มีซีลีเนียม สูง นอกจากนี้ยังมีในบรอกโคลี เห็ดกะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ ฯลฯ

สารอาหารป้องกันมะเร็ง
ผักและผลไม้หลายชนิด มีสารแอนติออกซิแดนต์ ช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งได้

วิตามินอี

เป็นสารแอนติออกซิแดนต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน เมื่อพูดถึงการชะลอวัย เรามักจะนึกถึงวิตามินอีเป็นอันดับแรก อาจเป็นเพราะมีการนำวิตามินอีมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

วิตามินอีมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำลายเซลล์ส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาวและช่วยป้องกันร่างกายจากมลพิษในอากาศได้อีกด้วยค่ะ

เนื่องจากวิตามินอีละลายในไขมัน เราจึงพบว่าน้ำมันพืชหลายชนิดมีวิตามินอีอยู่ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันจมูกข้าวสาลี ฯลฯ

นอกจากนี้วิตามินอีในอาหารธรรมชาติยังหาได้จากถั่วต่างๆ ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว รำ งามันเทศ ผักโขม อะโวคาโด ฯลฯ

ลิกแนน

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่กินอาหารซึ่งอุดมไปด้วยลิกแนนหรือสารคล้ายเอสโทรเจนจากพืชนี้จะลดโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 14 สารชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นแอนติออกซิแดนต์ด้วยเช่นกัน

อาหารที่พบลิกแนนมากที่สุดคือเมล็ดแฟลกซ์และงา นอกจากนี้ยังมีในเมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลืองกะหล่ำปลี บรอกโคลี ข้าวโอ๊ต เอพริคอต สตรอว์เบอร์รี่ ฯลฯ

วิตามินเอ

เรารู้จักวิตามินเอในฐานะวิตามินบำรุงสายตาและมีคุณสมบัติละลายในไขมันมาตั้งแต่เรียนวิชาสุขศึกษา ในฐานะแอนติออกซิแดนต์ วิตามินเอทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นหน่วยปราบปรามเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย

วิตามินเอแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เรตินอล (Retinol) ซึ่งอยู่ในรูปของวิตามินเอที่ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที อีกรูปหนึ่งก็คือแคโรทีนซึ่งเราจะว่ากันต่อในหัวข้อถัดไปค่ะ

วิตามินเอในอาหารได้มาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อย่างเช่น น้ำมันปลา

แคโรทีน

เป็นแอนติออกซิแดนต์อีกชนิดหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อย ความจริงแล้วแคโรทีนเป็นรูปหนึ่งหรือเป็นสารประกอบของวิตามินเอนั่นเอง

American Cancer Society ประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า วิตามินเอได้จากสัตว์ ส่วนวิตามินเอที่อยู่ในรูปโปรวิตามินเอแคโรทีนอยด์ (Provitamin A Carotenoid) เช่น เบต้าแคโรทีน แอลฟาแคโรทีน และอื่นๆ จะมีมากในผักผลไม้สีเข้มหลากสี เหลือง แดง ส้ม และเขียว เช่น ฟักทอง แตงโม แครอต บรอกโคลี และผักใบเขียวอย่างผักโขมหรือผักบุ้ง

จะเป็นแคโรทีน เบต้าแคโรทีน หรือแคโรทีนอยด์ ชื่อไหนก็แล้วแต่ ในฐานะผู้ต้องการกินอาหารต้านมะเร็งอย่างเราๆอย่าไปซีเรียสกับมันมากค่ะ เอาเป็นว่า ถ้าเราหันมานิยมกินผักผลไม้สีเหลือง แดง ส้ม และเขียว สีสดๆเข้มๆเมื่อไร แสดงว่าสุขภาพของเรามีผู้คุ้มครองเข้มแข็งเพราะได้รับแอนติออกซิแดนต์ตัวสำคัญจากวิตามินเอเพียงพอ

ลูทีน

เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีสีเหลืองสามารถต้านฟรีแรดิคัล มีประโยชน์อันโดดเด่นคือ การปกป้องดวงตาและบำรุงสายตา ช่วย
ชะลอความเสื่อมของดวงตาให้ช้าลง ถ้าพูดถึงคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ลูทีนจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมได้ค่ะ

เราจะหาลูทีนในอาหารได้จากผักสีเขียว ส้ม กีวี องุ่น ผักโขม ฯลฯ

ไลโคปีน

จัดเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ซึ่งสามารถต่อต้านฟรีแรดิคัลได้ดีมากๆ และช่วยชะลอวัยให้เสื่อมช้าลง

บทความจาก American Cancer Society บอกว่า คนที่กินมะเขือเทศมากๆ พบว่าลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งในช่องท้อง

เนื่องจากไลโคปีนเป็นสารพฤกษเคมีที่ให้สีแดง เพราะฉะนั้นผักผลไม้ที่มีสีแดงมักจะอุดมไปด้วยสารอาหารนี้ เช่น แตงโม มะเขือเทศ
มะละกอ ฝรั่งขี้นก (เวลาสุกเนื้อในเป็นสีชมพู) เกรปฟรุตสีชมพู ฯลฯ

สารอาหารป้องกันมะเร็ง
กินผักและผลไม้เป็นประจำ ช่วยห่างไกลมะเร็ง

แคปไซซิน

หลายคนอาจได้ยินชื่อสารชนิดนี้มาบ้างจากพริกคุณสมบัติเผ็ดร้อนของแคปไซซินเป็นตัวทำให้พริกหรือเครื่องเทศบางชนิดมีความเผ็ด ความเผ็ดมีประโยชน์หลายอย่างค่ะ ช่วยลดอาการปวด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยละลายลิ่มเลือด

ส่วนคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง แคปไซซินจะยับยั้งสารเคมีที่เป็นตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่ได้ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมประเทศอังกฤษ รายงานว่า สารชนิดนี้จะไปทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยไม่ไปทำร้ายเซลล์ดีที่อยู่รอบๆ

ฟลาโวนอยด์

ต้องบอกไว้หน่อยค่ะว่า ฟลาโวนอยด์เป็นสารพฤกษเคมีในกลุ่มพอลิฟีนอล (Polyphenol) เพราะจะมีสารในกลุ่มนี้อีกหลายชนิดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ

ฟลาโวนอยด์มีสารประกอบหลายชนิดที่ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติเป็นแอนติออกซิแดนต์ เช่น ฟลาโวน (Flavone) และคาเทชิน (Catechin) สามารถป้องกันไม่ให้เซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายของเราถูกฟรีแรดิคัลทำลาย

และเพราะเป็นสารพฤกษเคมี ฟลาโวนอยด์จึงพบเฉพาะในพืชผักผลไม้เท่านั้น เช่น ชาเขียว องุ่นแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม แอ๊ปเปิ้ล ถั่วเหลือง ส้ม ฯลฯ ในเนื้อส้มและใยส้มจะมีฟลาโวนอยด์อยู่มาก การกินส้มทั้งผลย่อมทำให้ได้รับคุณค่าสูงสุด


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีปรับอาหารสำเร็จรูปให้เป็น อาหารสุขภาพ

5 อาหารสุขภาพนานาชาติ ลดน้ำตาลในเลือด (มีสูตรพร้อมวิธีทำ)

5 เมนูอาหารสุขภาพ ดับร้อน วิตามินสูง ต้านป่วย (มีสูตร)

อาหารสุขภาพ สำหรับ ผู้หญิง ทำงาน แก้โรคเต้านม มดลูก รังไข่ ตอนที่ 2

 

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.