“ กล่องดินสอ ” สิ่งดีๆ ที่มีค่ามากกว่ากำไร

สิ่งดีๆ ที่มีค่ามากกว่ากำไร แนวคิดของ SE รุ่นใหม่ “กลุ่มกล่องดินสอ”

สิ่งดีๆ ที่มีค่ามากกว่ากำไร แนวคิดของ SE รุ่นใหม่ ” กล่องดินสอ ” 

ผมถนัดมากเลยครับกับโปรเจ็กต์ที่ไม่มีกำไร” คุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เจ้าของบริษัท “ กล่องดินสอ ” เสนอไอเดีย “เล่นเส้น” อุปกรณ์วาดภาพสำหรับเด็กพิการทางสายตา พูดกลั้วหัวเราะเมื่อเล่าถึงโปรเจ็กต์ต่างๆ บริษัททำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) ที่กำลังมาแรงตอนนี้

คุณต่อเล่าว่า 3 ปีก่อนเขาใช้เวลาว่างจากการเรียนปริญญาโทไปทำงานอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เป็นประจำโดยเน้นสอนการบ้านให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองช่วยเหลือคนอื่นได้ดีและตอนนั้นเองที่คุณต่อเริ่มมีไอเดียพัฒนาอุปกรณ์การสอนขึ้นมา “อุปกรณ์ที่โรงเรียนใช้สอนเด็กส่วนใหญ่ครูจะทำใช้เองครับ โดยประยุกต์จากกระดาษแข็งหรืออะไรเท่าที่ทำได้ ซึ่งอาจตอบโจทย์ครู แต่ผมคิดว่าเราสามารถทำให้ดีขึ้นกว่านั้นได้”

ด้วยเหตุนี้ คุณต่อจึงคิดค้นชุดวาดเขียน “เล่นเส้น” ขึ้นมาเพื่อช่วยถ่ายทอดจินตนาการของเด็กๆ ออกมาเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งนับเป็นศาสตร์ใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยชุดเล่นเส้นรุ่นแรกประกอบด้วยปากกาพลาสติก เส้นไหมพรม และสมุดที่ติดแผ่นตีนตุ๊กแก วิธีใช้คือ ใส่ไหมพรมซึ่งใช้แทนน้ำหมึกลากเส้นไปบนสมุดที่ติดแผ่นตีนตุ๊กแก ไหมพรมจะติดบนตีนตุ๊กแกเป็นรูปตามที่ต้องการ โดยที่ปลายปากกาจะมีตัวตัดไหมติดเอาไว้ด้วย ซึ่งรูปที่วาดเสร็จแล้วจะเป็นเส้นนูน เด็ก ๆ สามารถใช้มือสัมผัสตามได้

เนื่องจากคุณต่อไม่มีความชำนาญในการออกแบบอุปกรณ์ ทำให้อุปกรณ์ชุดเล่นเส้นรุ่นแรกพังง่าย เขาจึงชักชวนดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบ “ กล่องดินสอ ” กระทั่งได้เป็นปากกาเล่นเส้นเวอร์ชั่นไม้ ไม่นานนักบริษัทเอกชนรายใหญ่ก็ขอซื้อแล้วนำไปบริจาคให้โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ พวกเขาจึงตั้งบริษัทกล่องดินสอ จำกัด ขึ้น แม้ปัจจุบันสามารถส่งอุปกรณ์ชุดเล่นเส้นไปจำหน่ายในต่างประเทศได้แล้ว แต่บริษัทก็ยังไม่มีกำไร

“ถ้าถามว่าบริษัทมีกำไรไหม มันก็ไม่มีนะ เพราะต้องนำเงินที่ได้มาพัฒนาส่วนอื่นด้วย จริง ๆ บริษัทเราทำ 3 ด้านครับ ทั้งด้านการศึกษา การจ้างงาน และการสร้างความตระหนักถึงคนพิการแก่สาธารณชนเราต้องเอาเงินมาใช้หมุนเวียนตรงนี้ด้วย”

คุณต่ออธิบายว่า ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่มีทัศนคติว่า คนพิการมีความสามารถไม่เทียบเท่าคนปกติ จึงไม่เต็มใจรับผู้พิการเข้าทำงาน

“นานมาแล้วเราเคยไปทดสอบผลิตภัณฑ์กับเด็กพิการทางสายตาชั้น ม.ปลาย เราถามเขาว่า เรียนใกล้จบแล้ว จะทำงานอะไร บางคนบอกจะขายลอตเตอรี่ บางคนบอกจะเป็นหมอนวด (แผนโบราณ) นั่นคือทางเลือกชีวิตที่ดีที่สุดแล้วที่เขาจะทำได้มันเป็นบรรยากาศที่…เออเนอะ เราไม่น่าถามเลย”

เหตุนี้กลุ่มกล่องดินสอจึงร่วมมือกับมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยจ้างคนพิการบรรจุหีบห่อชุดเล่นเส้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานผู้พิการ และกำลังวางแผนพัฒนาอาชีพให้ผู้พิการด้านอื่นๆ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ของกลุ่มกล่องดินสอยังนำเสนอผลงานของน้อง ๆ ผู้พิการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในสังคมตระหนักถึงผู้พิการอีกด้วย

“เป้าหมายคือ เราอยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิการ ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่ทำผลิตภัณฑ์ การจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องสร้างองค์ความรู้ก่อน อย่างล่าสุดเราศึกษาว่าเด็กตาบอดอยากไปไหนมากที่สุดโดยให้น้องลองวาดภาพ ส่วนใหญ่เขาวาดภาพทะเล สถานที่ในฝันของน้อง ๆ เราจึงลองจัดทริปพาน้องไปทะเล”

แม้กลุ่ม “ กล่องดินสอ ” จะเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มีใจทำงานเพื่อสังคม แต่คุณต่อกลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำอย่างเขาก็ได้

“ผมอยากบอกเด็กรุ่นใหม่ว่า ไม่ใช่จบแล้วมาทำงานเพื่อสังคมคือเจ๋ง จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นครับ ใครถนัดแบงก์ก็ทำแบงก์ไปใครถนัดบัญชีก็ทำบัญชีไป แต่พยายามให้คิดถึงว่าสิ่งที่ทำส่งผลกระทบต่อคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ให้พยายามเพิ่มผลกระทบในแง่บวกมากขึ้น แล้วลดผลกระทบในแง่ลบให้น้อยลง”

            เพราะงานเพื่อสังคมทำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้…แค่มีใจเป็นตัวนำทางเท่านั้น

ติดตามข่าวสารของกลุ่มกล่องดินสอหรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ผู้พิการได้ที่ www.klongdinsor.com หรือ Facebook: klongdinsor

ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ชัยชนะที่แลกมาด้วยหัวใจ ของ เรวัตร์ ต๋านะ นักวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย

10 วิธีคิดสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง

ใส่ใจอาหารถวายพระสงฆ์ เหมือนส่งสิ่งดี ๆ ให้คนที่คุณรักกันเถอะ

ถึงจะเกเรแค่ไหน ผมก็จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจให้ได้ – เป้ วงมายด์

ค้นพบความสุขทางใจ ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ สวนประไพธรรม

ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ “ชีวิตนี้ผมไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว”

เบื่องาน หมดไฟในการทำงาน ปลุกพลังในตัวคุณได้ง่ายๆ 5 ขั้นตอน

8 ขั้นตอน เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลังก้าวต่อไป

 

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.