หนีปัญหา

หยุดหนีปัญหา หันหน้ามาสื่อสาร คำแนะนำจากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

หยุดหนีปัญหา หันหน้ามาสื่อสาร คำแนะนำจากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

อย่า หนีปัญหา อีกต่อไปเลย…

“ดิฉันเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวค่ะ เลิกรากับพ่อของลูกมา 2 ปีแล้ว ดิฉันเป็นฝ่ายขอลูกมาเลี้ยงเองทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะห่วงลูก เนื่องจากสามีไปมีผู้หญิงอื่น ตอนนี้ลูกสาวอายุ 3 ขวบเศษแล้ว แกเป็นเด็กร่าเริง ช่างพูดช่างคุย และซนมาก ทุกเย็นดิฉันต้องไปรับแกจากโรงเรียนมาอยู่ที่ออฟฟิศก่อน พองานเลิกจึงกลับบ้านด้วยกัน

หน้าที่แม่บ้านของออฟฟิศทำให้ดิฉันอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะมีงานตลอด ลูกสาวจึงวิ่งไปวิ่งมาทั่วออฟฟิศ ยังดีที่เป็นออฟฟิศเล็กๆ และคุณๆ ที่ออฟฟิศก็เอ็นดูลูกสาวของดิฉัน แต่ปัญหาอยู่ที่ เวลาห้ามไม่ให้วิ่งซน แกก็จะมานัวเนียอยู่กับดิฉัน ถามโน่นถามนี่ ชวนเล่นตลอดเวลาจนทำงานไม่ได้ ดิฉันจึงดุและให้อยู่เฉยๆ บ้าง ทุกครั้งแกจะร้องไห้และบอกว่า ไม่รักแม่แล้ว ไม่อยากอยู่กับแม่แล้ว อยากไปอยู่กับพ่อกับย่า ดิฉันน้ำตาตกเลยค่ะ ดิฉันยอมเหนื่อยเพื่อจะเลี้ยงดูแกให้ดีที่สุด แต่เวลาไม่พอใจขึ้นมา แกก็อยากไปอยู่กับพ่อ รู้ทั้งรู้ว่าแกเป็นเด็ก พูดไปเรื่อย แต่ก็รู้สึกแย่มาก ควรคิดอย่างไรไม่ให้ตัวเองเสียใจคะ”

ธรรมะจากแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต 

พอได้ยินว่าลูกอยากไปอยู่กับคนอื่นแล้วรู้สึกแย่มาก แปลว่าคุณกำลังหลงอารมณ์

รีบดึงใจขึ้นมา อย่าให้จิตตก ถ้าจิตไม่ตก ก็เท่ากับคุณ ‘รู้ทัน’

เมื่อไรที่ ‘รู้’ แล้วไม่ ‘หลง’ อารมณ์ก็ ‘รอด’

เมื่อ ‘รอด’ เราก็จะมีปัญญาในการคิดหาวิธีจัดการให้ชีวิตของเรามีความพอดี

เพราะการที่ลูกต้องการแม่ แต่แม่ไม่มีเวลาให้ลูกนั้นเป็นเรื่องที่จัดสรรเวลาและจัดการข้อตกลงได้ไม่ยาก

เด็ก 3 ขวบคือเด็กในระดับอนุบาลแล้ว เป็นเด็กที่ถูกฝึกเรื่องวินัยในระดับอนุบาลมาแล้ว

ดังนั้น คุณแม่ลองสร้างวินัยให้เขาว่า เวลาไหนที่เขาจะได้อยู่กับแม่แบบลูกได้เล่น แต่แม่ทำงาน อย่างเป็นวิถีชีวิตที่ไปด้วยกันได้

คนหนึ่งเล่น และเรียนรู้

ส่วนอีกคนทำงาน และเรียนรู้

คือลูกได้เล่น แต่ลูกก็ต้องเรียนรู้

แม่ทำงาน แม่ก็ต้องเรียนรู้

ถ้าทั้งแม่ทั้งลูกไม่ขาดการเรียนรู้

คุณก็จะบริหารเวลาตรงนี้ได้

การให้เด็กหยุดซน ไปนั่งเฉยๆ เป็นการหนีปัญหาค่ะ  สิ่งที่แม่ต้องทำคือ ‘การสื่อสาร’

กับเด็กวัยอนุบาล อย่าพูดคำว่า “อย่า” กับเขา แต่ให้พูดคำว่า “มาลองดู”  แล้วชวนลูกทำสิ่งที่เป็นการเรียนรู้ให้สมวัย เช่นอาจจะใช้งานของคุณให้เด็กลองร่วมเรียนรู้ เช่น การเรียงกระดาษให้เป็นระเบียบ หาไม้กวาดเล็กๆ ให้กวาดใบไม้  เก็บใบไม้ ชี้ชวนให้เด็กสนใจ

“มาลองช่วยแม่ (ทำโน่นทำนี่) ดีไหม ถ้าหนูทำได้ หนูเองจะสนุกและมีความสุข และทำให้แม่มีความสุขตามไปด้วย  เราสองคนจะมีความสุขไปพร้อมๆ กัน”

เด็กได้ยินอย่างนี้ก็จะรู้สึกสนุกและมีความสุข เพราะทั้งได้เล่น ทั้งได้ทำให้แม่มีความสุข

ก่อนนอนก็ขอให้มีการสรุปการเรียนรู้กันทุกวัน ด้วยการหานิทานก่อนนอนมาเล่าให้ลูกฟัง อาจเป็นนิทานที่แม่แต่งเอง ซึ่งมีเนื้อหาของการเดินทางมาตลอดทั้งวันของแม่กับลูก

ตอนจบอาจทิ้งท้ายไว้ว่า แล้วเช้าวันรุ่งขึ้น คุณกับเจ้าหญิงองค์น้อยๆ อายุ 3 ขวบก็จะช่วยกันทำงาน (เปลี่ยนงานให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำไปเรื่อยๆ ไม่จำเจ อย่างมีความสุข

ปัญหาของคุณ แก้ไขไม่ยากค่ะ เริ่มที่ ‘รู้ให้ทันความหลง’

ก็รอดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ

แม่ชีศันสนีย์ยินดีตอบทุกคำถาม สามารถฝากคำถามได้ที่ therranuch_pa@amarin.co.th

เรื่อง แม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต

ที่มา :นิตยสาร Secret ฉบับที่ 185 คอลัมน์ Family Issue


บทความน่าสนใจ

ลาก่อนความทุกข์ 4 วิธีรับมือกับความทุกข์ในตัวคุณ

หากกลัวความทุกข์ จงข่มจิตให้อย่ากลัวความทุกข์ คำแนะนำจากแม่ชีศันสนีย์

ก็เพราะเราคิดไม่เหมือนกัน เราจึงต้องแยกกัน แม่ชีศันสนีย์ กับข้อคิดดีๆ

รวม 7 ปัญหาที่ แม่ชีศันสนีย์ ช่วยเยียวยาให้พ้นทุกข์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.