อายุ 40+ ประจำเดือนมาน้อย อ่อนเพลีย เป็นโรคอะไรได้บ้าง

อายุ 40+ ประจำเดือนมาน้อย อ่อนเพลีย เป็นโรคอะไรได้บ้าง

วันนี้ ชีวจิต นำคำถามจากทางบ้าน ที่ถามเข้ามาผ่านคอลัมน์ เปิดห้องหมอสูติมาค่ะ เรื่อง ประจำเดือน มาน้อย อ่อนเพลีย บางทีปัญหาของแฟนชีวจิตท่านนี้ อาจตรงกับหลายๆ คน เลยเอาคำแนะนำจากคุณหมอมาให้ได้อ่านกันเลย

เมื่อเริ่มมีอาการในวัย 40+

คำถาม : เรียนคุณหมอชัญวลี ดิฉันอายุ 40 ปีแล้วค่ะ เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน คือมาน้อยกว่าเดิมมากและรู้สึกหงุดหงิดง่าย บางครั้งก็มีอาการอ่อนเพลีย จึงกังวลใจว่า เมื่อเข้าสู่ภาวะ หมดประจำเดือน นั่นหมายถึงความแก่มาเยือน ขอสอบถามคุณหมอว่า ดิฉันสามารถยืดภาวะหมดประจำเดือน ออกไปได้ไหมคะ เพราะยังไม่อยากแก่ค่ะ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

มีความเชื่อที่ไม่เป็นจริงในสังคมไทย คือ ประจำเดือนมามากเป็นเรื่องดี เป็นการขับของเสีย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่องส่วนประจำเดือนมาน้อยไม่ดี เพราะแสดงว่าประจำเดือนใกล้หมดทำให้แก่เร็ว

ความเชื่อนี้ทำให้คนที่ประจำเดือนมามากไม่มาพบแพทย์จึงทำให้เกิดอันตราย เพราะประจำเดือนมามากส่วนใหญ่เกิดจากโรค เช่น เนื้องอกมดลูก มดลูกอักเสบ มะเร็งปากมดลูกมะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ เป็นต้น

ส่วนคนที่ ประจำเดือนมาน้อย ไม่อยากแก่เร็ว มักรีบมาพบแพทย์เพราะกลัวว่าจะเข้าสู่วัยทอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการวัยทอง แต่เป็นสภาวะปกติ เพราะเมื่ออายุมาก มดลูกมีขนาดเล็กลง ประจำเดือนก็มาน้อยลง หรือบางคนก็เกิดจากฮอร์โมนไม่ปกติ เช่น อ้วนไป ผอมมาก มีความเครียดสะสม เป็นต้น

ข้อมูลจาก : คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 402 (1 กรกฎาคม 2558)

ประจำเดือนมาน้อย อ่อนเพลีย ปวดประจำเดือน ประจำเดือน สูตรยาไทย สมุนไพรไทย

แค่ไหน ถึงเรียกว่าประจำเดือนมาน้อย

โดยปกติ ระยะเวลาในการมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน การไหลของเลือดประจำเดือนเป็นหยดเพียงเล็กน้อย และมีลักษณะประจำเดือนแบบนี้บ่อยๆ ก็สันนิษฐานได้ว่า “ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ” ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การคุมกำเนิดที่มีผลต่อการตกไข่ ภาวะถุงน้ำ PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคไทรอยด์ น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือการมีภาวะเครียดสะสม

วิธีการปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยให้ประจำเดือนปกติ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้ แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ควบคู่ไปกับสร้างกล้ามเนื้อครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกินไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า หรือวอลนัท และเลือกกินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างผัก ผลไม้ หรือโฮลเกรน
  • เครียดให้น้อย หัวเราะให้มาก เพราะทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
  • ให้ความสำคัญกับการนอน ไม่ใช่แค่นับจำนวนชั่วโมงการนอนให้เพียงพอ แต่ควรปรับเวลาการนอนใหม่ เป็นเข้านอนราว 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า หรือตื่นเร็วกว่านี้ได้ถ้ารู้ว่านอนเต็มอิ่ม ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียระหว่างวัน
  • ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ และที่สำคัญ “ไม่ควร” อดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล

ข้อมูลเรื่องลับๆ ที่ผู้หญิงควรรู้

ชวนทำความรู้จัก ที่มาของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด : มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเป็น

เชื้อเอชพีวี ตัวการมะเร็งปากมดลูก ติดได้แม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์

หมอสูติแชร์ประสบการณ์ คนไข้มะเร็งปากมดลูก ระยะเริ่มต้น

อายุเยอะก็ควรไปตรวจหาความเสี่ยงโรค มะเร็งปากมดลูก

นวดมดลูก ช่วยให้มดลูกแข็งแรงด้วยวิธีธรรมชาติ แก้ปวดประจำเดือน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.