มดลูก, มะเร็งปากมดลูก, ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

อายุเยอะก็ควรไปตรวจหาความเสี่ยงโรค มะเร็งปากมดลูก

คุณหมอแนะนำ อายุเยอะก็ต้องไปตรวจคัดกรองโรค มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่สาวๆ ทุกคนเกรงกลัวไม่แพ้มะเร็งเต้านม ซึ่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้นั้น มีหลากหลายช่วงวัยจนไม่ว่าสาวเล็กสาวใหญ่ ก็ต้องใส่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกไว้ในโปรแกรมตรวจสุขภาพของตนเอง

แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข จึงหยิบยกคำถามที่มีประโยชน์จากทางบ้านมา พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

คำถาม : คุณแม่ของดิฉันอายุ 75 ปีแล้ว  อยากทราบว่า ยังจำเป็นต้องไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่อีกหรือไม่

คุณหมอตอบ

ก่อนอื่นขออธิบายเรื่องการตรวจภายใน กับการตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูก (แปปสเมียร์) ก่อนนะคะ

การตรวจภายใน

คือ การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ โดยแพทย์จะตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก แล้วใส่เครื่องมือที่เรียกว่า สเป็คคูลัม ซึ่งมีลักษณะเหมือนปากเป็ดเข้าไปตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ได้แก่ ช่องคลอด ปากมดลูก และคลำดูขนาดมดลูก รวมถึงคลำตรวจปีกมดลูกด้วย

แปปสเมียร์

คือ การตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกผ่านการตรวจภายใน โดยใช้ไม้ง่าม หรือพู่กัน ป้ายเอาเซลล์ที่ปากมดลูกไปตรวจทางเซลล์วิทยา ดังนั้นคุณสามารถตรวจภายในได้โดยไม่ต้องตรวจแปปสเมียร์ แต่คุณไม่สามารถตรวจแปปสเมียร์โดยไม่ตรวจภายในได้

 

มดลูก, มะเร็งปากมดลูก, ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

แปปสเมียร์ มีประโยชน์ เพราะ สามารถตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที ลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก ระยะลุกลาม ลดอัตราการตายและอัตราทุพพลภาพจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูก ไม่ติดอันดับการเสียชีวิต 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง พบว่าเพราะมีการรณรงค์ให้ทำแปปสเมียร์ ในปีค.ศ.1950 – กลางปีค.ศ. 1980 ตามโปรแกรมของรัฐจึงสามารถลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกไปได้ถึงร้อยละ 70

ส่วนในประเทศไทยการรณรงค์ให้ตรว แปปสเมียร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้จำนวนและอัตราตายของคนไข้มะเร็ง ปากมดลูกลดลงจากอันดับที่ 1 เป็น อันดับที่ 2 รองจากมะเร็งเต้านม

โปรแกรมการคัดกรองของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ มีดังนี้

  1. เริ่มทำแปปสเมียร์เมื่ออายุ 21 ปี ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ โดยตรวจทุก 3 ปี ให้เหตุผลที่ไม่คัดกรอง ในคนอายุต่ำกว่า 21 ปีไว้ว่า เพราะ โอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ในวัยรุ่นมีน้อยมาก แค่ 1 ในล้านคน
  2. เมื่ออายุ30 ปีขึ้นไปให้ตรวจหาไวรัสเอชพีวีร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์ทุก 5 ปี
  3. หยุดตรวจที่อายุ 65 ปีในคนที่ทำตามโปรแกรมการคัดกรองอย่างเคร่งครัด ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา มีผลการตรวจไวรัสเอชพีวีร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์เป็นลบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือการตรวจแปปสเมียร์ เป็นลบอย่างน้อย 3 ครั้ง และตรวจ ครั้งสุดท้ายภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะหากทำตามโปรแกรมการคัดกรอง โอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกหลังอายุ 65 ปีจะมีน้อยมาก

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ตรวจคัดกรองแปปสเมียร์ ตั้งแต่อายุ 21 ปี ทุก 3 ปี จนถึงอายุ 65 ปี ส่วนในโรงพยาบาลรัฐยังไม่มีโปรแกรมตรวจหาไวรัสเอชพีวี ร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมการคัดกรองนี้ไม่รวมคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอาจจะต้องตรวจบ่อย เช่น ตรวจทุกปี ไปจนถึงอายุ 70 – 75 ปี ได้แก่

  1. คนที่เคยมีประวัติมีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ หรือเคยเป็นมะเร็งปากมดลูก
  2. คนที่ปัจจุบันสูบบุหรี่ หรืออดีตเคยสูบบุหรี่
  3. คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ กำลังรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด
  4. คนที่เคยตรวจพบเชื้อเอชพีวีที่ปากมดลูก
  5. คนที่จำไม่ได้เลยว่าตรวจครั้งล่าสุดเมื่อไร และผลแปปสเมียร์เป็นอย่างไร
  6. คนที่แต่งงานใหม่ สำหรับจดหมายที่ถามมา

ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 75 ปีแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจแปปสเมียร์เพื่อคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกแล้วค่ะ แต่ยังมีความจำเป็น ที่ต้องตรวจภายใน โดยตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาว ตกเลือด ปวดท้อง ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะแสบ ขัด ฯลฯ

เพราะถึงแม้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกน้อย แต่ก็อาจเกิดความผิดปกติจากการอักเสบ ติดเชื้อ เป็นเนื้องอก หรือมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ได้ เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็ง รังไข่ เพราะฉะนั้นการตรวจภายในจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ผู้หญิง ต้องรู้จัก เข้าใจ ป้องกัน ไวรัสเอชพีวี (HPV)

วิธีการดูแลสุขภาพของผู้หญิงยุคใหม่กับ โรคภัยใกล้ตัว

วิธีป้องกัน 5 โรคร้าย สำหรับ สาวโสด ขี้เหงา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.