ผู้ป้วยมะเร็ง,โรคมะเร็ง,มะเร็ง

องค์การอนามัยโลกเตือน ภายในปี 2030 ผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้น 73%

จำนวนผู้ป่วยมะเร็ง มากขึ้นกว่าร้อยละ 73 ในปีค.ศ. 2030

ภายในปีค.ศ.2030  จำนวนผู้ป่วยมะเร็ง จากทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 75  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจน เหตุเพราะรับเอาไลฟ์สไตล์ทำร้ายสุขภาพ “แบบตะวันตก” มาใช้ในชีวิต – รอยเตอร์ส

ที่มาของข่าวน่าตกใจ

พาดหัวข่าวที่ทำเอาคนตกอกตกใจกันไปทั่วโลกนี้ เป็นรายงานล่าสุดจากองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติInternational Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร The Lancet Oncology

ดร.เฟรดดี้ เบรย์ หัวหน้าทีมวิจัยจากองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส และทีมวิจัย ได้รวบรวมข้อมูลประมาณการอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งและอัตราการตายตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 ใน 184 ประเทศ โดยทีมวิจัยได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับมะเร็งชนิดต่างๆ เพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ในแต่ละประเทศอย่างไร โดยใช้เกณฑ์ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือค่า HDI (Human Development Index) เป็นตัวแบ่งประเทศต่างๆเพื่อทำการศึกษา

ดัชนีการพัฒนามนุษย์นี้จะพิจารณาจากปัจจัย 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสุขภาพ (Long and Healthy Life) ด้าน การศึกษา (Education) และด้านมาตรฐานการครองชีพ (A Decent Standard of Living)

กลุ่มนักวิจัยพบว่า ในปัจจุบันนี้คนในประเทศกำลังพัฒนาจะป่วยเป็นมะเร็งที่มีสาเหตุจากเชื้อโรค เช่น มะเร็งปากมดลูกมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma) น้อยลง เพราะเชื้อโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งชนิดดังกล่าวได้ถูกควบคุมแล้ว

มะเร็ง 78%

ทว่ามะเร็งที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้กลับเป็นมะเร็งที่มาจากการใช้ชีวิตผิดๆ คือ มะเร็งปอดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจก็คือ ในปีค.ศ. 2008 ผู้ป่วยมะเร็งเกือบร้อยละ 40 ของโลกเป็นผู้ป่วยในกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพสูง แม้ประเทศเหล่านั้นจะมีจำนวนประชากรเพียงร้อยละ 15 ของโลกเท่านั้นในรายงานการวิจัยนี้จึงชี้ให้เห็นด้วยว่า มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเป็นมะเร็งของประชากรในประเทศนั้นๆสูงขึ้นด้วย

ไฮไลต์ของรายงานการวิจัยนี้ที่ทำให้โลกตกตะลึง คือ การคาดการณ์สถานการณ์มะเร็งในอนาคต เพราะข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นภัยมะเร็งที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดร.เบรย์คาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตว่า

“ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในประเทศที่ร่ำรวยอยู่แล้ว แต่ในทศวรรษต่อๆไปมะเร็งจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอัตราการเจ็บป่วยและล้มตายกันมากในทุกภูมิภาคของโลก”

ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า ในปีค.ศ. 2030 ประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพปานกลาง เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ จีน และอินเดีย จะมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78

ส่วนประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพต่ำอาจโชคร้ายกว่านั้น เพราะจะมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 93

7 มะเร็งยอดฮิต

ดร.เบรย์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า มะเร็ง 7 ชนิดที่จะเป็นกันมากทั่วโลกในอนาคต ได้แก่ มะเร็งปอดมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ และมะเร็งปากมดลูก

ทั้งยังเน้นย้ำว่า การเพิ่มขึ้นของมะเร็งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม มาจากปัจจัยหลักคือ กินอาหารผิดขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ข้อมูลในรายงานนี้ยังแสดงให้เราเห็นสถิติบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น พบว่าอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก สูง และปานกลางอย่างประเทศไทยของเราขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะป่วยเป็นมะเร็งปอดกันมากขึ้น

สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้ประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งสูงถึงร้อยละ 93 นั้นอาจมาจากผู้คนไม่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองให้ห่างจากมะเร็ง

ในทางกลับกัน สำหรับประเทศที่ผู้คนมีความรู้และมีกำลังพอที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง ดร.เบรย์ สรุปว่า การป่วยเป็นมะเร็งจะเป็นเหมือนผลพวงของการที่ประชากรมีการศึกษาสูง รายได้เพิ่มขึ้นและอายุขัยยืนยาวขึ้น

จำนวนผู้ป่วยมะเร็ง,โรคมะเร็ง

มะเร็งในไทย

เมื่อหันกลับมามองเมืองไทยของเราแล้ว คำกล่าวของ ดร.เบรย์ดูจะไม่เกินจริง เพราะต้องยอมรับว่าเรากำลังเหยียบคันเร่งกันเต็มที่เพื่อไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาเต็มขั้น ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ปรากฏการณ์มะเร็งในประเทศของเราเพิ่มมากขึ้น จนทำลายสถิติจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ถ้ามองภาพรวมของโลก ประเทศส่วนใหญ่ต่างก็พยายามก้าวเดินไปในทิศทางที่คล้ายๆกัน กล่าวคือมุ่งไปหาความเจริญทางวัตถุนิยมที่ก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้งทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น เรากินอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมที่เร่งผลิตให้อาหารถูกนำมาบริโภคในแต่ละวันกันอย่างเต็มที่ ทำให้ต้องใช้สารเคมีสารพัดชนิด ค่านิยมการใช้ชีวิตเร่งรีบทำให้อาหารฟาสต์ฟู้ดมีให้ซื้อหาเกือบทุกมุมถนน ไหนจะสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่ทำให้เรานั่งๆนอนๆ ขาดการออกกำลังกาย จนเราติดความสบาย

แม้สิ่งเหล่านี้คนส่วนใหญ่ของโลกเรียกว่าการพัฒนา แต่ก็เป็นการพัฒนาไปสู่วิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมและวัตถุนิยมที่ดูจะกู่ไม่กลับ และหากพิจารณากันให้ดี ก็เป็นไปทางเดียวกับสถิติผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจนน่ากลัวตามรายงานวิจัยนี้

ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ ทั้งองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติเจ้าของงานวิจัยและหลายฝ่ายต่างมีข้อกังวลว่า ปัญหานี้จะสร้างภาระอันหนักอึ้งให้หลายประเทศเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งนั้นสูงมากกว่าการรักษาโรคอื่นเป็นไหนๆ กลุ่มผู้วิจัยจึงให้ความเห็นว่าเราควรให้ความสำคัญและลงมือดูแลสุขภาพของตัวเองเสียแต่วันนี้เพื่อป้องกันมะเร็งร้ายจะดีกว่า

นี่ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่เราทุกคนต้องมานั่งทบทวนและหาทางออกร่วมกันว่า จะยอมอยู่ในกระแสหลักแห่งบริโภคนิยม วัตถุนิยมสุดโต่งต่อไปแล้วเดินไปสู่ขอบเหวของปัญหาใหญ่เช่นนั้นหรือไม่

หรือคุณพร้อมแล้วที่จะสวนกระแสสร้างสมดุลให้วิถีชีวิตของตัวเอง มาเริ่มต้นไปพร้อมกันด้วย 5 เล็ก 5 ใหญ่ของชีวจิต เพื่อพิชิตมะเร็งได้ราบคาบและสร้างสังคมคุณภาพไปด้วยกัน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 น้ำมันพืชสุขภาพ ผัด ทอด อย่างไรไม่เป็นมะเร็ง

ประสบการณ์สุขภาพ : โรคมะเร็งรังไข่กับสาววัยทำงานไฟแรง

เหตุผลต้องรู้ ก่อนตรวจหายีน มะเร็งเต้านม

แก้โรคกรดไหลย้อน แบบง่ายๆ หยุดมะเร็งในอนาคต

 

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.