ดูแลฝ่าเท้า, นวดเท้า, ฝ่าเท้า, แช่น้ำอุ่น, เท้า

ดูแลฝ่าเท้า ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ

ดูแลฝ่าเท้า ด้วยการนวด และแช่น้ำอุ่น เพื่อความแข็งแรงของเท้าและร่างกาย

ดูแลฝ่าเท้า เถอะค่ะ เขารับน้ำหนักตัวเรามาทั้งชีวิต คำนี้ไม่เว่อร์ไปนะคะ เพราะอวัยวะส่วนท้ายสุดของร่างกายเช่น “เท้า” ถือเป็นโครงสร้างสําคัญอีกอย่างหนึ่งของร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากเท้าจะมีบทบาทในแทบทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวแล้ว เท้ายังต้องทําหน้าที่แบกรับน้ําหนักตัวของเราอยู่ทุกวัน เมื่อถูกใช้งานหนักขนาดนี้ เราจึงควรหันมาดูแลสุขภาพเท้ากันเสียหน่อย เท้าคู่สวยของเราจะได้ไม่น้อยใจค่ะ

Reflexology ช่วยเลือดลมดี

“ตามหลักทฤษฎี Mirror Theory Reflexology เชื่อว่า ร่างกายทั้งตัวของเราคือกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนภาพหนึ่งภาพ แต่ถ้าเราลองทุบกระจกให้แตกเป็นเศษเล็กๆ แล้วส่องดู มันก็จะสะท้อนเป็นภาพเดียวกับในกระจกบานใหญ่อยู่ดี ซึ่งกระจกบานเล็กที่ว่านี้คือ หู มือ และเท้า จึงพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทั้งสามอวัยวะนี้เป็นกระจกที่สามารถสะท้อนถึงอวัยวะทุกส่วนในร่างกายได้”
แพทย์หญิงศรัญญา กตัญญูวงศ์ หรือคุณหมอส้ม แพทย์แผนจีนประจําชีวจิตโฮมคลินิก เล่าถึงศาสตร์แห่งการนวดกดจุดสะท้อน หรือ Reflexology ให้ฟัง ทําให้เราเข้าใจถึงความสําคัญของการดูแลเท้ามากยิ่งขึ้น เนื่องจากเท้ามีความสัมพันธ์กับอวัยวะทั้งตัว คุณหมอส้มยังให้ความรู้เพิ่มเติมด้วยว่า สาเหตุที่เราต้องนวดบริเวณเท้า แทนที่จะเป็นอวัยวะอื่นนั้น เป็นเพราะเท้าคือจุดศูนย์รวมของปลายประสาทเล็กๆ ที่สามารถส่งความรู้สึกไปยังสมองได้ไวกว่าอวัยวะอื่น การนวดเท้าจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายทั้งกล้ามเนื้อเท้าและอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับเท้า เช่น กระดูกสันหลัง บ่า เอว ได้ด้วย

Easy Tricks ดูแลฝ่าเท้า

สําหรับวิธีนวดเท้าด้วยตัวเองตามคําแนะนําของคุณหมอส้ม มีดังนี้ค่ะ
1. กดจุดเจี่ยซีแก้ปวดเรื้อรัง
การกดจุดเจี่ยซี ซึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางข้อเท้าด้านหน้า จะช่วยคลายอาการปวดเรื้อรังที่ไม่รุนแรงได้ โดยก่อนนวดให้ถูฝ่ามือทั้งสองข้างจนร้อน จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดแรงๆ ที่เท้าซ้ายและขวาพร้อมกัน นับ 1–5 ต่อการกด 1 ครั้ง และควรกดซ้ําๆ กัน 5–6 ครั้ง
2.นวดขึ้น–ลงไล่น้ําเหลืองคั่ง
นั่งบนพื้นในท่าชันเข่า และเริ่มนวดจากหัวเข่าลงไปยังส้นเท้า จากนั้นค่อยๆ นวดไล่จากส้นเท้าไปยังปลายเท้า เมื่อนวดไปถึงนิ้วเท้าให้ใช้มือคลึงแล้วดึงเพื่อยืดนิ้วเท้าออกจนครบทุกนิ้ว จากนั้นค่อยๆ นวดย้อนขึ้นจากปลายเท้าไปยังหัวเข่าด้วยวิธีเดียวกัน ทําต่อเนื่อง 5–15 นาทีในช่วงเย็น เพื่อช่วยผ่อนคลายเท้า หลังใช้งานหนักมาทั้งวัน
ดูแลฝ่าเท้า, นวดเท้า, ฝ่าเท้า, แช่น้ำอุ่น, เท้า
ดูแลฝ่าเท้าด้วยการนวด ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเท้า

Tip แช่น้ำอุ่นลดปวด

นอกจากการนวดแล้ว ก่อนเข้านอนให้แช่เท้าในน้ําอุ่นผสมดอกคําฝอยวันละ 5 นาที จะช่วยลดอาการปวดเท้าได้ดียิ่งขึ้น

ปรับท่านั่ง-เดิน เพิ่มสุขภาพเท้า

หนังสือเรื่องปรับบุคลิกภาพ เพื่อความเป็นผู้หญิงสมาร์ทและสุขภาพดี จากอมรินทร์สุขภาพ บอกไว้ว่า ท่าทางการนั่งและเดินที่ผิดอาจทําให้เกิดอาการปวดเมื่อยเท้า เวลานั่งทํางาน เราจึงควรปรับท่าทางให้ถูกต้อง โดยเอาหลังพิงติดกับพนักเก้าอี้ไว้ และหาหมอนมารองบริเวณเอว เพื่อดันให้เอวอยู่ห่างจากพนักเก้าอี้ประมาณ 1 ฝ่ามือ นอกจากนั้นควรนั่งแยกขาออกจากกันเล็กน้อย เพื่อให้น้ําหนักตัวทิ้งลงมาที่ฝ่าเท้าอย่างสมดุล ส่วนในเวลาเดิน ควรเดินก้าวยาวๆ ยืดอกและกระชับก้นเล็กน้อย เพื่อเป็นการส่งแรงดันกระดูกเชิงกรานออกไปด้านหน้า และช่วยยืดกระดูกสันหลังให้ตั้งตรง ซึ่งดีกว่าการเดินหลังค่อมที่จะทําให้น้ําหนักของลําตัวด้านบนถูกทิ้งไปข้างหน้าหมดจนเสียสมดุล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.