สุพิชญา สูรพันธุ์

เส้นทางสู่ความสำเร็จของ สตาร์ตอัพยุคใหม่ กั๊ก - สุพิชญา สูรพันธุ์

เส้นทางสู่ความสำเร็จของ สตาร์ตอัพยุคใหม่ กั๊ก สุพิชญา สูรพันธุ์ 

เชื่อว่าปัจจุบันคนไทยวัยทำงานจำนวนไม่น้อยมีบัตรเครดิตและหลายคนก็มีหลายใบ แต่สุดท้ายความสะดวกสบายเช่นนี้กลับนำมาซึ่งปัญหาหนี้สินในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง

คุณกั๊ก – สุพิชญา สูรพันธุ์ ซีอีโอบริษัท Neversitup จำกัด เล็งเห็นปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านการเงินที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ จึงสร้างแอพพลิเคชัน พิกกิโปะ (Piggipo - มาจากคำว่า piggy bank ที่แปลว่ากระปุกออมสินและ pocket ที่แปลว่ากระเป๋าสตางค์) จนกลายเป็นแอพพลิเคชันบนมือถือที่ทำหน้าที่เป็นเลขาฯส่วนตัวด้านการเงินที่ช่วยบริหารจัดการ วางแผนการเงิน และควบคุมค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกใบได้ครบจบในแอพเดียว

“ก่อนหน้านี้กั๊กประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยตนเอง เพราะมีบัตรเครดิตหลายใบและเริ่มใช้จ่ายเกินตัวจนต้องเอาเงินเดือนเดือนถัด ๆ ไปมาจ่ายค่าบัตรเครดิต บางครั้งหนักข้อถึงขั้นต้องไปเอาเงินเก็บมาจ่ายค่าบัตรเครดิตก็มี กั๊กจึงคิดสร้างแอพพลิเคชันนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยให้แอพนี้รวมค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีออกมาให้เห็นเป็นตัวเลขเพื่อผู้ใช้จะได้ทราบว่าตนเองใช้จ่ายกับสิ่งต่าง ๆไปเท่าไรบ้าง”

แต่เส้นทางสู่การเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จของซีอีโอวัย 26 ปีผู้นี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“กั๊กได้อ่านหนังสือเรื่องบทเรียนธุรกิจร้อน ๆ จาก Silicon Valley ของคุณเรืองโรจน์พูนผล และเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นสตาร์ตอัพ ผนวกกับเป็นคนชอบเทคโนโลยีจึงคิดจะเขียนแอพพลิเคชันขึ้นมาเพื่อนำไปเสนอแหล่งเงินทุน ตอนนั้นกั๊กไม่มีความรู้ด้านไอทีเลย ทั้งยังไม่รู้จักคนในวงการนี้ด้วยจึงต้องทดลองเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองโดยศึกษาจากอินเทอร์เน็ต

“กั๊กใช้เวลาเขียนประมาณ 6 เดือนช่วงนั้นร้องไห้ทุกวัน รู้สึกท้อแท้ ประกอบกับเป็นช่วงที่เพื่อน ๆ ที่เรียนจบมาพร้อมกันได้งานทำในบริษัทใหญ่ ๆ ได้เงินเดือนสูงๆ ยิ่งทำให้รู้สึกกดดันมากยิ่งขึ้น ครอบครัวก็อยากให้ทำงานในบริษัทก่อน แต่โชคดีที่คุณพ่อเข้าใจและคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่

“หลังจากผ่านไป 6 เดือน กั๊กก็ได้แอพพลิเคชันที่ยังไม่สมบูรณ์แบบมาแอพหนึ่งเมื่อนำไปให้นักเขียนโปรแกรมดู ก็พบว่ากั๊กใช้เวลาเขียนนานเกินไป ทั้งยังได้แอพฯที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ กั๊กจึงหาทีมมาทำใหม่อย่างไรก็ตามการที่กั๊กทดลองเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองก็ทำให้เข้าใจพื้นฐานและได้เข้าไปในสังคมของนักเขียนโปรแกรมมากขึ้นผนวกกับตอนนั้นกั๊กได้เข้าเรียนใน Disrupt University ของคุณเรืองโรจน์ พูนผล ทำให้กั๊กได้เจอคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และเป็นคนที่อยากจะเป็นสตาร์ตอัพเหมือนกัน เราจึงสร้างทีมขึ้นมาได้ในที่สุด”

แต่อุปสรรคที่คอยขัดขวางความสำเร็จกลับไม่หมดเพียงเท่านั้น

“เมื่อเราตั้งทีมได้แล้ว เราก็ผลิตแอพพลิเคชัน Piggipo เวอร์ชัน 1.0 ออกสู่ตลาดและทีมของเราก็เข้าร่วมบู๊ธแคมป์ในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทยตอนนั้นยอดผู้ใช้งานแอพพลิเคชันของเราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทีมงานกลับยุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะกั๊กบริหารงานไม่เป็นเนื่องจากไม่มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรมาก่อน ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งยังมีคนเข้าออกทีมอยู่เรื่อย ๆ

“การบริหารที่ล้มเหลวทำให้เงินทุนที่ได้จากการระดมทุนครั้งแรกหมดก่อนที่จะระดมทุนครั้งถัดไป ตอนนั้นกั๊กกลับมาทบทวนว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรซึ่งพบว่าไม่ได้มาจากตัวผลิตภัณฑ์ แต่เกิดจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ กั๊กจึงตัดสินใจขอยืมเงินคุณพ่อและเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ บริหารให้ดีขึ้นโดยใช้หลัก Plan – Do – Check – Act ซึ่งหมายถึงการวางแผนลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบวัดผล และแก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมทั้งบอกทีมงานให้ร่วมสู้ไปด้วยกัน จนกระทั่งเราสามารถผ่านช่วงเวลาวิกฤติมาได้”

ไม่ว่าจะประสบความล้มเหลวมากมายเพียงใด แต่เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพรายนี้กลับไม่เคยยอมแพ้

“กั๊กทำใจเอาไว้เสมอว่า ระหว่างทางที่เราก้าวไปข้างหน้าต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะล้มเหลวสักกี่ครั้งก็ต้องลุกขึ้นสู้ต่อ ต้องเรียนรู้จากอุปสรรคที่เกิดขึ้นและไม่ทำผิดพลาดซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองหากว่าวันนี้บริษัทของเราไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็จะไม่กลับไปตั้งต้นที่ศูนย์เหมือนในตอนแรก กั๊กในวันนี้แตกต่างจากกั๊กคนเดิมเมื่อสามปีก่อน เพราะอย่างน้อยเราได้ประสบการณ์จากการทำงานและได้รู้จักคนในวงการสตาร์ตอัพอีกมากมาย”

กว่าจะมาเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณกั๊กก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความมุ่งมั่นอดทนและรู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต คือเคล็ดลับที่นำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้ 


บทความที่น่าสนใจ

ความสุขจากคำขอบคุณ บทความที่คนกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงานควรอ่าน

เพราะมีลูกเป็นแรงบันดาลใจผมจึงไม่ท้อ โก้ – นฤเบศร์ จินปิ่นเพ็ชร

James Kearsley ชายหนุ่มผู้ เอาชนะโรคร้าย กลายมาเป็นนักเพาะกายสร้าง แรงบันดาลใจ

เอาชนะความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย สู่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ อับดี โอมาร์

Dhamma Daily : อยากให้พ่อแม่ ปล่อยวาง และมีความสุขในชีวิตบั้นปลายควรทำอย่างไรดีคะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.