เอ็นโคซี่ จอห์นสัน

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน ฮีโร่ตัวจิ๋วกับภารกิจพลิกชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมๆ กับ “โรคร้าย” ที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้…และมีเวลาเหลืออยู่บนโลกใบนี้ได้ไม่เกิน 10 ปี

คุณคิดว่านี่คือ “ความโชคดีหรือความโชคร้าย”

ชะตากรรมของเด็กชายชาวแอฟริกาใต้นามว่าโซลานี่ เอ็นโคซี่ (Xolani Nkosi) เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 นับตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก เพราะนอกจากเด็กชายจะไม่รู้ว่า “ผู้เป็นพ่อ” ของตนเองคือใครแล้ว เด็กชายยังติดเชื้อเอชไอวีแต่กำเนิดอีกด้วย! (ติดเชื้อในกลุ่มจากมารดาสู่บุตร)

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน

หลังออกจากโรงพยาบาล แม้ว่า ดาฟเน่ (Daphne) ผู้เป็นแม่จะพยายามปกปิดอาการป่วยของเธอกับลูกชายไม่ให้คนในหมู่บ้านรู้ เพื่อป้องกันนานาปัญหาที่อาจตามมา แต่เธอทำได้เพียงสองปีเท่านั้น ความลับก็เปิดเผย ด้วยความรังเกียจและหวาดกลัว ชาวบ้านจึงพากันขับไล่สองแม่ลูกออกจากหมู่บ้านอย่างไร้ความปราณี ดาฟเน่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องหอบหิ้วโซลานี่ไปฝากไว้ที่ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์

ที่นี่เองที่โซลานี่ได้พบกับ กาอิล จอห์นสัน (Gail Johnson) ผู้อำนวยการศูนย์ฯ หลังจากได้รับรู้เรื่องราวของโซลานี่ กาอิลเกิดความสงสารสองแม่ลูกขึ้นมาอย่างจับใจ เธอจึงตัดสินใจขอรับเด็กชายโซลานี่เป็นบุตรบุญธรรม พร้อมกับมอบชื่อให้ใหม่ว่า เอ็นโคซี่ จอห์นสัน (Nkosi Johnson)

คุณแม่คนที่สอง หรือที่เอ็นโคซี่เรียกว่า “มอมมี่” ดูแลเด็กชายดุจดังเธอเป็นแม่แท้ๆ ก็ว่าได้ เธอทั้งคลุกคลี กอด หอมแก้ม สัมผัส ให้ความรักความเข้าใจจนแทบไม่มีสักนาทีที่เอ็นโคซี่จะรู้สึกว่า “ตนเองอ่อนด้อยไปกว่าคนอื่นๆ หรือเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศที่ป่วยด้วยโรคเอดส์”

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน

ยิ่งเมื่อกาอิลสอนให้รู้ว่าผู้ป่วยเอดส์ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในสังคมผู้อื่นจึงจะปลอดภัยด้วยแล้ว เอ็นโคซี่ก็ยิ่งมั่นใจว่า เขาไม่แตกต่างจากคนปกติเลยทั้งร่างกายและจิตใจ…จะมีก็แค่เลือดเท่านั้นที่เป็นบวก

แต่แล้วความรู้สึกเหล่านี้ก็พังทลายลง เมื่อโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งปฏิเสธที่จะรับเอ็นโคซี่วัย 7 ขวบเข้าเรียน เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าเด็กชายติดเชื้อเอชไอวี แม้จะเสียใจกับคำตัดสินแบบง่ายๆ ของสังคม แต่จิตวิญญาณชนเผ่าซูลูที่ซ่อนอยู่ในใจก็บอกให้เด็กชาย “สู้” และนั่นคือที่มาของการร้องเรียนถึงความอยุติธรรมของเขา และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของชาวเอดส์ในแอฟริกาใต้ผ่านสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ซึ่งต่อมามีการตีแผ่ออกไปทั่วโลก

การกระทำของเอ็นโคซี่นอกจากจะปลุกสังคมให้ “ตื่น” จากความไม่รู้ และได้ “เข้าใจ” ว่าผู้ป่วยเอดส์ก็มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน และสมควรได้รับการปรนนิบัติอย่างเท่าเทียมกันกับคนปกติแล้ว ยังส่งผลให้รัฐบาลแอฟริกาใต้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมทั้งมีคำสั่งให้โรงเรียนทั่วแอฟริกาใต้จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเอดส์ให้แก่นักเรียน ครู และผู้ปกครองให้มากขึ้น

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน

ในที่สุด แม้ว่าเอ็นโคซี่จะได้เรียนหนังสืออย่างเด็กปกติคนอื่นๆ แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ เอ็นโคซี่ได้กลายเป็นนักรณรงค์ต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของบรรดาผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ในแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั่วโลก! แม้แต่ เนลสัน มันเดลา อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของแอฟริกาใต้ก็ยังกล่าวยกย่องเอ็นโคซี่ให้เป็น “Icon of the Struggle for Life. – ต้นแบบของการยืนหยัดต่อสู้เพื่อชีวิต” เลยทีเดียว

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน ใช้ทุก “ลมหายใจ” ที่มีสู้เพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ จนกระทั่งวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2001 เวลาบนโลกใบนี้ของเด็กชายก็หมดลง และแม้ว่าเอ็นโคซี่จะจากไปแล้ว แต่ภารกิจที่เขาริเริ่มไว้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีมอมมี่กาอิลที่เขารักยิ่งช่วย “สานต่อ” ด้วยความเต็มใจ

 

เอ็นโคซี่ จอห์นสัน ได้รับรางวัลสันติภาพเด็กสากล (International Children’s Peace Prize) เป็นคนแรกของโลก เมื่อ ค.ศ. 2005 และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Nkosi’s Havens ขึ้นในแอฟริกาใต้ เพื่อให้แม่และเด็กผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้พักพิงอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นและปลอดภัย

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ  google, pinterest

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ท่านเจ้าคุณอลงกต ได้รับรางวัลดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2562

หนูน้อยกตัญญูสู้ชีวิต ตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง ต้องคอยดูแลตายายเพียงลำพัง

หนูน้อยอดีตผู้ป่วยมะเร็งขอรับบริจาคของเล่นในวันเกิดเพื่อนำไปให้เด็กป่วย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.