รอยพระพุทธบาท

อานิสงส์แห่งการเลื่อมใสและบูชา รอยพระพุทธบาท

อานิสงส์แห่งการเลื่อมใสและบูชา รอยพระพุทธบาท

สิ่งที่ชาวพุทธมักรำลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาท สังเวชนียสถาน และพระธรรมคำสอน การรำลึกถึงพระพุทธคุณจัดว่ามีอานิสงส์ ซึ่งพระไตรปิฎกกล่าวถึงอานิสงส์ไว้อย่างน่าสนใจ อานิสงส์ที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ อานิสงส์แห่งการเลื่อมใสและบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ พระปทสัญญกเถระ และ พระปทปูชาเถระ

 

รอยพระพุทธบาท

 

หลังจากพระปทสัญญกเถระสำเร็จอรหันตผลได้อุทานเรื่องราวในอดีตชาติของท่านออกมาว่า

ครั้งสมัยพระติสสะพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ (พระอาทิตย์ในที่นี้หมายถึงสัญลักษณ์ของปัญญา หรือเป็นตัวแทนของความสว่างทางปัญญา) พระองค์ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ เมื่อท่านเห็นรอยพระพุทธบาทแล้ว จิตเกิดโสมนัส ยินดี บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เมื่อท่านระลึกถึงความรู้สึกในตอนที่เกิดความเลื่อมใสในพระติสสะพุทธเจ้า ส่งผลให้หลังจากสิ้นบุญก็ไม่เคยตกอบายภูมิอีกเลย จนกระทั่งถึงกัลปที่ 7 เกิดเป็นพระมหาจักรพรรดิราชมีนามว่า “สุเมธ” สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ ได้แก่ ดวงแก้ว จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนพลแก้ว และขุนคลังแก้ว หลังจากนั้นจึงมาเกิดในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้าเป็นปทสัญญกะแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องของอานิสงส์เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท คือ อานิสงส์แห่งการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตชาติของพระปทปูชกเถระ

 

รอยพระพุทธบาท

 

หลังจากท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้อุทานเรื่องราวในอดีตชาติอย่างปีติว่า

ครั้งสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นเผ่าแห่งพระจันทร์ (พระจันทร์ในที่นี่หมายถึง ปัญญา เป็นตัวแทนความสว่างอันเกิดจากปัญญา) ท่านเกิดเป็นกินนรอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้เห็นรอยพระพุทธบาทแห่งพระวิปัสสีพุทธเจ้า แล้วนำน้ำหอมที่ผสมด้วยแก่นจันทน์และไม้กฤษณา รดลงบนรอยพระพุทธบาท ตอนนั้นเป็นกัลปที่ 91 ด้วยการบูชารอยพระพุทธบาทด้วยน้ำหอม ทำให้ท่านไม่เกิดในอบายภูมิอีกเลย แต่เวียนว่ายอยู่เพียงโลกสวรรค์และโลกมนุษย์จนกระทั่งได้หลุดพ้นจากวัฏฏสงสารแล้วในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า

จากอานิสงส์เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาททั้งสองเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่าการกระทำต่อรอยพระพุทธบาทด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า หรือจะบูชารอยพระพุทธบาทด้วยของหอม ต่างส่งผลให้ผู้นั้นเกิดในแดนสวรรค์และโลกมนุษย์ จนกระทั่งได้สำเร็จอรหัตตผล แต่หากเทียบอานิสงส์ทั้งสองเรื่องพบว่า การระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผ่านการเพ่งมองรอยพระพุทธบาท มีผลานิสงส์มากกว่าการบูชารอยพระพุทธบาท การระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งได้แก่ “พุทธานุสติ” คือการรำลึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ จัดเป็นปฏิบัติบูชา ทำให้จิตสงบเป็นกุศล แต่ยังมีความยึดติดในพระพุทธเจ้า จึงส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอยู่ แต่กุศลก็ส่งอานิสงส์ให้มาสิ้นสุดในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า

 

ที่มา : ปทสัญญกเถราปทาน และ ปทปูชกเถราปทาน

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร

 


บทความน่าสนใจ

ตามรอยพระบาทยาตรา “องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ วัดพระพุทธบาท สระบุรี

รัชกาลที่ 5 ทรงสงสัย ความหมายของพระนิพพาน

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระโพธิสัตว์

ปัญจสิขรคนธรรพ์ เทพศิลปินคนโปรดของพระพุทธเจ้า

 สหัมบดีพรหม พระพรหมผู้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดสัตว์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.