ความหมายของพระนิพพาน

รัชกาลที่ 5 ทรงสงสัย ความหมายของพระนิพพาน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสงสัยความหมายของพระนิพพานจึงทรงมีพระราชปุจฉา (คำถาม) นี้ถึงพระราชาคณะหลายรูป พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลายรูปถวายวิสัชชนา (ตอบ) พระองค์ถึงความหมายของพระนิพพานไว้น่าสนใจ จึงขอคัดวิสัชชนาของพระราชาคณะบางรูปที่วิสัชชนาได้อย่างลึกซึ้งและทำให้เข้าใจ ความหมายของพระนิพพาน มากขึ้น

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ

นิพพานนั้น คือ ความดับไม่เหลือแห่งอวิชชาแลตัณหา ความไม่รู้และความทะยานอยาก จนขันธ์ทั้งห้าไม่มีไม่เป็นต่อไป ความที่อวิชชาแลตัณหาดับไม่เหลือ ด้วยอริยมรรคสมุจเฉทปหานนี้แลชื่อว่านิพพาน

1

 

หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปีลันทน์ แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม

วานยโต นิกฺขนฺติ นิพฺพานํ อถวา วานสงฺขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺติ นิพฺพานํ นิพฺพาติ เอเตนาติ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติออกจากธรรมร้อยไว้ซึ่งสัตว์ ชื่อว่านิพพานนัยหนึ่งว่า ธรรมชาติออกจากตัณหา อันกล่าวคือวานะชื่อนิพพาน อีกนัยหนึ่ง นิพพานํ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องดับแห่งเพลิง คือราคะ เป็นต้น

11

 

สมเด็จพระวันรัต (ทับ) แห่งวัดโสมนัสวิหาร ครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม

นิพพานะ แปลว่า ดับเหตุเกิดทุกข์ ดับทุกข์เสียหมด จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง ผู้ใดทำให้แจ้งนิพพาน ด้วยความรู้ความเห็นเองแล้วผู้นั้นก็ดับทุกข์สิ้นทุกข์หมด แปลนิพพานนี้ไม่ยากนัดดอก แต่ความทำให้แจ้งด้วยความรู้ความเห็นจริงนี้ยากนักเทียว ผู้ที่หลงงมอยู่ไม่รู้จักทุกข์แล้วไม่ชอบไม่อยากได้นิพพานเลย ถึงจะพูดถึงนิพพานเล่าก็ไม่มีเห็นจริง เหมือนกับคนที่มีจักษุบอดแต่กำเนิด ไม่รู้ไม่เห็นอะไรก็พูดไปตามเขาที่พูดกันฉะนั้น นั้นแล

5

 

สมเด็จพระสังฆราช (สา) แห่งวัดราชประดิษฐ์ ครั้งยังเป็นพระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม

นิพพานศัพท์ ว่าดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผาเสีย ท่านผู้ทำเครื่องร้อนเรื่องเผาให้ดับได้แล้ว เป็น นิพฺพุโต สีติภูโต ผู้ดับแล้วเป็นผู้เย็นแล้ว หนึ่งท่านแยกเป็น 2 นิ 1 วานะ 1 นิ ว่า ออก ว่า ไม่มี วานะ ว่าผู้ร้อยไว้ คือตัณหา อาเทศ ว อักษรเป็น พ อักษร สัมฤทธิรูป เป็น นิพฺพานํ ประกอบความว่า นิพฺพานํ ออกจาก วานะ คือ ตัณหาแล้ว นิพฺพานํ ไม่มี วานะ คือตัณหา นิพฺพานํ เป็นเหตุเป็นเครื่องไม่มี วานะ ตัณหา ดังนี้ เป็นนัยวิธีหนึ่ง ก็แต่นัยว่า นิพฺพานํ ดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผา ได้ยุติกว่านัยที่แยกเป็น 2 คือ นิ 1 วานะ 1

13

 

พระพรหมมุนี (เหมือน) แห่งวัดบรมนิวาส ครั้งยังเป็นพระอริยมุนี

นิพฺพานํ นั้น ก็คำว่า นิพฺพานํ นี้มีมาก เมื่อประสงค์สังขตธรรม วิสังขาร ซึ่งไม่มีสังขตลักษณะ คือความเกิดขึ้นดับไปตั้งอยู่แปรไปแลไม่มี ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นชัดแล้ว นิพฺพานํ แปลว่าธรรมเป็นที่ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ หรือแปลว่าธรรมเป็นที่ไม่มี วานะ ของร้อยรัดคือตัณหา

วิสัชชนาของพระราชาคณะที่ยกมานี้ทำให้เข้าใจความหมายของพระนิพพานมากขึ้น แต่ละรูปใช้ความรู้ที่มีวิสัชชนาถวายอย่างสุดกำลังเพื่อให้พระมหาบพิตรเข้าพระทัยในความหมายของพระนิพพาน อันเป็นจุดดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา หวังว่าชาวซีเคร็ตจะได้ความรู้เรื่องความหมายของนิพพานไม่น้อย

0

ที่มา :

ประชุมพระราชปุจฉา เล่ม 2 กรมศิลปากร

ภาพ :

cheanjung.lnwshop.com/สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

www.siamrath.co.th / หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปีลันทน์

www.dhammajak.net/สมเด็จพระวันรัต (ทับ)

www.dhammajak.net/สมเด็จพระสังฆราช (สา)


บทความน่าสนใจ

ธรรมะของรัชกาลที่ 5 : กิจ 10 ประการที่ทำแล้วไม่เสียใจในภายหลัง

ย้อนรอยธรรมตามพระราชา วัดบวรนิเวศวิหาร

พระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมเรื่อง มรรค  ระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง ไปสู่พระนิพพาน

รถโดยสารคันนี้ สุดสายที่พระนิพพาน… เรื่องดีๆ ของคนขับรถหัวใจเปี่ยมธรรมะ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.