เมื่อเวลาผ่านไประบบต่างๆ ย่อมเสื่อมลงตามกาลเวลา!

ขึ้นชื่อว่าผู้สูงอายุ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนสัญญาณประจำตัวของพวกท่านก็คือความเสื่อมถอยของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของระบบต่างๆ ที่เมื่อใช้งานมานานก็เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายของเราจะอยู่ในวัยชราที่ทุกอย่างเสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจก็ตาม แต่เราสามารถช่วยท่านชะลอความชราให้ช้าลงได้

การอยู่ในวัยสูงอายุแล้วนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเจ็บปวดออดๆ แอดๆ เสมอไป อายุมากแล้วก็สามารถจะมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพแข็งแรงตามวัยได้ ถ้ามีการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม เราลองไปดูกันดีกว่าค่ะว่า คุณตา คุณยาย หรือไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ และผู้สูงอายุใกล้ตัวของเรา จะมีการเปลี่ยนไปอย่างไรพบ้าง เมื่อสูงวัยขึ้น

การเปลี่ยนแปลงด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด

คนเราพออายุมากหลอดเลือดแดงจะแข็ง ไม่ยืดหยุ่นเหมือนตอนอายุน้อย ผนังหลอดเลือดจะขรุขระ ทางเดินภายในหลอดเลือดแคบลงเพราะผนังภายในหนาตัวขึ้น ทำให้ความดันโลหิตของผู้สูงอายุขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น โอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวมีง่ายและเกิดโรคอื่นๆ ก็ง่ายขึ้น พอเป็นโรคแล้วมักจะหายช้า มีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนบ่อย

การทำงานของหัวใจผู้สูงอายุจะแปรปรวนไป ทั้งที่เกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจและประสิทธิภาพการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ในยามที่ร่างกายอยู่เฉย ๆ จะไม่มีผลเท่าไรนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีการออกกำลังกาย ตื่นเต้นตกใจ จะเสียน้ำและเลือดจากร่างกาย

หัวใจผู้สูงอายุไม่สามารถจะเพิ่มอัตราการเต้นและบีบตัวให้เหมาะสมจึงทำให้เหนื่อยง่าย และช็อกเร็วกกว่าคนอายุน้อยถ้ามีการเสียเลือด (มีแผล) หรือเสียน้ำ (ท้องเสีย เหงื่อออกมาก) ควรรีบดูแลแก้ไข ถ้าปล่อยจนช็อกจะทำให้ไตวายไปด้วยง่ายๆ

การเปลี่ยนแปลงด้านระบบทางเดินหายใจ

มีใครเคยรู้บ้างว่าความจุปอดของผู้สูงอายุใกล้เคียงกับคนหนุ่มสาว แต่ถุงลมมีความ “คราก” มากขึ้น (ถุงลมใหญ่ขึ้น แต่บีบตัวไล่ลมออกและทำให้แฟบได้น้อยกว่าเดิม) ทำให้มีลมค้างในถุงลมมากเพราะไม่ถูกบีบไล่ออกจากปอด ถึงแม้ปริมาณลมหายใจเข้าและออกในช่วงการหายใจปกติจะใกล้เคียงเดิม แต่ถ้าหายใจลึก ๆ เพื่อกักอากาศไว้ (แบบเตรียมตัวดำน้ำ) จะเก็บอากาศไว้ได้น้อยกว่า

การกักอากาศไว้ได้น้อยลงนี้จะทำให้การ “ไอ” ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเพราะเมื่อหายใจเข้ากักอากาศได้ลดลง พอจะขับอากาศออกมากแบบเร็ว ๆ แรง ๆ (การไอ) ก็ไม่แรงอย่างที่เคยเป็น

การเปลี่ยนแปลงของปริมาณอากาศที่หายใจเข้า-ออกลึกนี้ (การกักอากาศ) จะมีผลเมื่อผู้สูงอายุผ่าตัด อาจจะมีอาการปอดแฟบหลังดมยาสลบง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นก่อนที่ผู้สูงอายุจะรับการผ่าตัด ควรได้รับการฝึกหายใจให้เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อมีการผ่าตัดในบริเวณช่องอกหรือท้องที่ใกล้กับปอดจะทำให้เจ็บแผลเวลาหายใจเข้าออก เลยหายใจตื้น ๆ สั้น ๆ ถุงลมบางส่วนไม่ได้มีการขยายตัวอย่างทั่วถึง จึงเกิดปอดแฟบดังกล่าว

ควรฝึกไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขับเสมหะและเชื้อแบคทีเรียออกไปจากหลอดลม ดังนั้นเพื่อเตรียมผู้สูงอายุให้มีสมรรถภาพสูงสุด จึงควรให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายและฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ เป็นประจำ เพื่อช่วยขยายปอด

การเปลี่ยนแปลงด้านระบบทางเดินอาหาร

เหงือกและฟัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องใช้ฟันปลอม และมักมีโรคเหงือก ผู้สูงอายุที่มีโรคเหงือกมักจะสูญเสียฟันไปทั้งที่ฟันไม่ผุ แต่เหงือกร่นทำให้ฟันคลอนและหลุดร่วง ทำให้ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง ๆ ที่สำคัญที่สุดทำให้กินอาหารแข็งหรือเหนียวไม่ถนัด จึงกินผักและเนื้อสัตว์ไม่ค่อยได้ ต้องเลือกอาหารนิ่ม ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ของนิ่มมักจะเป็นแป้งและน้ำตาล ทำให้ขาดสารอาหาร ผอมแห้งแรงน้อย หรือในบางคนกลับน้ำหนักเกิน เพราะรับประทานแต่แป้งและน้ำตาลมากเกินไป

ต่อมรับรสในปาก จะทำงานลดลง รับประทานอะไรก็ไม่ค่อยจะรู้รสชาติของอาหาร ทำให้ไม่เจริญอาหาร คุณตาคุณยายมักจะเปลี่ยนมาชอบอาหารรสหวานเพราะรู้สึกอร่อย เนื่องจากต่อมรับรสอื่น ๆ ไม่ค่อยรู้รสแล้ว บางคนเติมเครื่องปรุงอาหารจนรสจัด เช่น เค็มจัด เพราะต่อมรับรสไม่ดีเช่นกัน

การสร้างกรดในกระเพาะอาหารลดลง ทำให้ย่อยอาหารโปรตีนช้าลง มีอาการท้องอืดท้องเฟ้ออยู่เป็นประจำ

การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง คนมีอายุจึงมีอาการท้องผูกมากขึ้น และถ้ารับประทานอาหารที่มีกากน้อย ได้น้ำน้อย อุจจาระจะน้อย และแข็งทำให้อาการท้องผูกแย่ลง ทำให้ผนังลำไส้อักเสบ อาจติดเชื้อ ทำให้ปวดท้อง

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.