เมื่อเวลาผ่านไประบบต่างๆ ย่อมเสื่อมลงตามกาลเวลา!

ขนาดของตับลดลง และเลือดที่ผ่านตับก็น้อยลงด้วย ซึ่งตับมีหน้าที่กรองบางอย่างที่ต้องผ่านทางตับ เมื่ออายุมากจึงทำหน้าที่ไม่ได้ดีเหมือนเดิม ทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นทั้งที่กินยาขนาดเท่าเดิม

ไตทำงานลดลง ทำให้ขับถ่ายของเสียช้าลง ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าเดิม อาจลุกขึ้นมาตอนกลางคืนบ่อย ๆ รบกวนการนอน การที่ไตทำงานน้อยลง ยังทำให้ของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกายมากขึ้น ที่สำคัญการให้ผู้สูงอายุกินยาต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะไตขับถ่ายยาได้ไม่ดี

การเปลี่ยนแปลงด้านระบบประสาท

ความจำ สิ่งที่มาพร้อม ๆ กับความชราคืออาการขี้หลงขี้ลืม ความคิดความอ่านเล่นช้าลงกว่าเดิม ความจริงแล้วการหลงลืมไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของความแก่ที่เกิดกับสมอง ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยความทรงจำยังดีอยู่สามารถตัดสินใจในหน้าที่การงานสำคัญ ๆ ได้ เช่นผู้นำประเทศสำคัญ ๆ หลายประเทศมีอายุ 70 ปีขึ้นไป ยังสามารถเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้

ความจำระยะสั้นจะเสียหายไปบ้าง แต่ความจำระยะยาวยังดีอยู่ การขี้หลงขี้ลืมธรรมดาไม่เป็นไร แต่ถ้าหลงเอาเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วกับเมื่อวานมาปนกัน อย่างนี้จึงจะถือว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตามสมองในผู้สูงอายุน้ำหนักจะลดลง เซลล์สมองบางส่วนจะเหี่ยวลงและตายไป ไม่มีการสร้างขึ้นมาทดแทนได้อีก ซึ่งถ้าเซลล์พวกนี้ลดลงมาก ๆ จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อย่างโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์กินสัน

การเรียนรู้ สติปัญญา ในผู้สูงอายุทั่วไปที่เซลล์สมองไม่ได้สูญเสียมากเกินกว่าปกติ ก็จะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำมาได้ ทั้งกิจวัตรประจำวัน การพูดคุยสื่อสารกับคนอื่น สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ คงจะเคยได้ยินในต่างประเทศที่มีคุณยายอายุ 80 ปี เรียนวิชาที่ตนอยากเรียนจนจบปริญญา (ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเรียนรู้ใหม่ ๆ ไม่ได้เลย) แต่อาจจะเรียนรู้ช้ากว่าเดิม ต้องพูดหรือบอกหลายครั้ง บางรายต้องจดให้เป็นขั้นตอนหรืออาจวาดภาพไว้ให้ดู จะสะดวกขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทที่รบกวนผู้สูงอายุอย่างมากอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้หลับไม่ลึกเหมือนตอนอายุน้อยกว่านี้ จะรู้สึกเหมือนนอนไม่หลับเกือบตลอดคืน เพราะรู้สึกตัวอยู่เรื่อย ๆ ถึงแม้ระหว่างนั้นจะมีการผล็อยหลับไป แต่ก็ยังคิดว่าไม่ได้หลับ ทำให้ไม่สดชื่น

ที่สำคัญต้องระวังเมื่อศีรษะถูกกระแทก เพราะสมองของคนเราน้ำหนักประมาณ 1 กก. กว่า ๆ พออายุมากขึ้น เนื้อสมองเหี่ยวลง ก็จะเกิดช่องว่างในกะโหลกศีรษะซึ่งถูกออกแบบให้พอดีกับขนาดสมอง ระหว่างสมองและกะโหลกมีน้ำเลี้ยงสมองหล่อเลี้ยงอยู่ การที่สมองเหี่ยวลงมีทั้งผลดีและผลเสีย เป็นผลดีในแง่ที่ว่าถ้าผู้สูงอายุมีการบาดเจ็บในสมอง เลือดออกในสมอง เนื่อสมองบวม จะไม่ค่อยปวดศรีษะ เพราะว่ามีพื้นพี่รองรับส่วนที่ขยายตัว แต่ข้อเสียคือทำให้อาการไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าป่วย ไม่ปวดหัว ซึมอย่างเดียว หากเกิดอุบัติเหตุล้มกระแทกนิดหน่อย หัวโนเล็กน้อย เอกซเรย์กะโหลกศีรษะก็ไม่แตก แต่เนื้อสมองที่อยู่ข้างในมีการเคลื่อนไหว ดึงเส้นเลือดตัวที่โยงอยู่กับกะโหลกศีรษะฉีกขาด มีเลือดออก ต้องเอกซเรย์สมองถึงจะเห็น

ดังนั้นถ้าผู้สูงอายุได้รับอุบัติเหตุแม้ไม่มีอาการอะไรมาก ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ

การเปลี่ยนแปลงด้านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง

ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อบางอย่างง่ายขึ้น เพราะการสร้างภูมิต้านทานเสื่อมลง อาจจะไม่พบภูมิต้านทานหลังจากได้รับวัคซีนบางชนิดครบคอร์สก็ได้

การเปลี่ยนแปลงด้านกล้ามเนื้อและมวลกระดูกลดลง

กล้ามเนื้อของผู้สูงอายุลีบเล็กลง อ่อนแอลง ทำให้กำลังวังชาลดน้อยถอยลงไป ถ้าไม่ได้เคลื่อนไหวนาน ๆ กล้ามเนื้อนั้นก็จะฝ่อลง บวกกับระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัวทำงานด้อยลง ทำให้มีโอกาสหกล้มง่าย โดยเฉพาะกลุ่มคุณตาคุณยายที่สูญเสียเนื้อกระดูกในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือนจนถึงระดับที่เป็นกระดูกพรุน ซึ่งถ้าหกล้มจะเกิดกระดูกหักง่าย

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.