เรื่องของ “สวัสดิการผู้สูงอายุประเทศไทย” กับสิทธิที่ควรต้องรู้

ผู้สูงอายุ เป็นประชากรที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีอันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การดูแลสุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ รวมถึงการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามวัยผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการในการได้รับการดูแลจากรัฐ ภาคเอกชน และบุคคลรอบข้างย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุจะได้รับคือ การจัดสวัสดิการทางสังคม สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคประชาชนในชุมชน ทั้งนี้เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทยว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ปี 2560 จำนวนประชากรสูงอายุมีตัวเลขอยู่ที่11.35 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของประชากรไทยทั้งประเทศ 65.5 ล้านคน และคาดการว่า อีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 และอีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะมีประชากรสูงอายุถึง 20 ล้านคน และที่สำคัญคือกลุ่มประชากรวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านในปี 2560 มาเป็น 3.5 ล้านคน

รายงานจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องสุขภาพและอยู่ในภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มีมากถึงร้อยละ 5 โดยเฉพาะที่อยู่ในวัยปลายที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้สูงถึงร้อยละ 19 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

ในปัจจุบันนี้ หน่วยงานของภาครัฐทั้งหลายคงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ทำงานในเชิงรุก ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุเมื่อรัฐได้มีการกำหนดแผนงาน รวมทั้งสร้างมาตรการต่างๆ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อง่ายต่อการแก้ไขไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งมันค่อนข้างลำบากจนสายเกินแก้

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงความหมายของ สวัสดิการสังคมของผู้สูงอายุไทย จากข้อมูลจากหลายๆ แหล่งทำให้เราพอสรุปได้ว่า เป็นการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตนเองได้ทั่วถึง เป็นธรรมและให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ ซึ่งการจัดสวัสดิการสังคมของไทยเริ่มต้นจากระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่เป็นทางการของครอบครัว เครือญาติและชุมชน

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้การจัดสวัสดิการสังคมมีการปรับเปลี่ยนทิศทางไปสู่สวัสดิการแบบบูรณาการและเป็นสังคมสวัสดิการ ปัจจุบันประเทศไทยมีรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ 4 รูปแบบ คือ การประกันสังคม การช่วยเหลือสาธารณะ การบริการสังคม และการช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน

นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุไทยยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เช่น 1) ขาดการบูรณาการและขาดความต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึง การดำเนินงานด้านสวัสดิการผู้สูงอายุแยกส่วนระหว่างงานด้านสุขภาพกับงานด้านสังคม กระจายความรับผิดชอบตามหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ 2) ขาดการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง 3) ความไม่พร้อมของงบประมาณและการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านผู้สูงอายุโดยตรง และ 4) สวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้กับผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้สูงอายุ ไม่สามารถตอบสนองปัญหาได้อย่างแท้จริงและไม่ครอบคลุมผู้สูงอายุได้ทั้งหมด แต่ประเด็นที่สำคัญคือ บุตรหลานหรือคนในครอบครัวขาดความตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุทําให้ความสามารถทางด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจลดลง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา ปัญหาของผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงจัดให้มีโครงการต่างๆ เพื่อจัดเป็นสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ เช่น โครงการเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่ ปีพ.ศ.2536 ในระยะแรกอยู่ในการดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ต่อมาเบี้ยยังชีพได้ขยายกลุ่มเป้าหมายและงบประมาณเพิ่มมากขึ้นตามลําดับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากปัจจุบันระดับค่าครองชีพมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราค่าเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุที่ได้รับไม่เพียงพอกับการยังชีพ ในปีพ.ศ.2549ได้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.