ชานมไข่มุก ตัวการก่อนิ่วในถุงน้ำดี! เรื่องจริงหรืออุปทาน

เปิดไปเจอข่าวล่าสุดของ “ชานมไข่มุก” เครื่องดื่มสุดโปรดของหลายๆ คน เกี่ยวกับกรณีที่คุณหมอท่านหนึ่งได้โพสภาพ และเรื่องราวลงในเฟสบุคส่วนตัวว่า ได้ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีของคนไข้รายหนึ่งแล้วพบว่ามีก้อนนิ่วกลมๆ เม็ดๆ สีดำ คล้ายเม็ดชานมไข่มุก อัดแน่นเต็มถุงน้ำดี เมื่อลองๆ นับดูพบว่ามีมากกว่า 800 ก้อน ทั้งก้อนเล็กก้อนน้อยจำนวนมาก และบอกอีกว่าขืนปล่อยเอาไว้ไม่ทำการผ่าออกอาจเกิดการอักเสบ และแตกจนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ฟังดูน่ากลัว คอชานมไข่มุกบางคนอาจถึงขั้นอกสั่นขวัญแขวนกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ตามรายละเอียดของข่าวดังกล่าว ระบุไว้ว่านพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล ได้เผยแพร่ภาพการผ่าตัดผ่าเอาถุงน้ำดีออกเจอก้อนนิ่วเหมือนไข่มุกสีดำที่เป็นอาหารยอดฮิตใส่ในชานม กาแฟนมประเภทต่างๆ เป็นผู้ป่วย มาโรงพยาบาลสิชลด้วยอาการเป็นไข้ ปวดท้องชายโครงขวา ตาเหลือง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดหัว แน่นท้อง อืดท้อง คนไข้บอกรู้สึกอืดท้องมานาน แต่คิดว่าเป็นโรคกะเพาะอาหารอักเสบ ไปหาหมอก็บอกแบบนี้ หมอให้ตรวจคนไข้ก็บอกขอยาไปกินก่อน ห่วงงานที่บ้าน

Cr. Dr.Arak Wongworachat

กลับมารอบนี้อาการหนักกว่าเดิม เมื่อทำการตรวจและอัลตราซาวด์ในท้อง พบว่าถุงน้ำดีเกิดการอักเสบมีหนอง ใกล้จะแตกเต็มที ขืนปล่อยเอาไว้จนหนองแตกเต็มท้องก้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงมาก เพราะคนไข้ก็อายุมากแล้ว แต่โชคยังดีที่คนไข้รายนี้รอดชีวิตมาได้

คุณหมอได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเอาไว้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด นิ่วขึ้นได้ ไว้ดังนี้ 

1.ความอ้วน คนอ้วนจะเกิดนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล เนื่องจากการบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง

2.การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทานหรือตั้งครรภ์ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง

3.การได้ยาลดไขมันบางชนิดทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง

4.ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ

5.การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายละลายไขมันมากไป

การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี ควบคุมน้ำหนัก และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากเกินไป หากต้องการลดน้ำหนัก ควรลดอย่างถูกวิธีและค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการออกมาระบุออกมาแล้วว่า  ที่คุณหมอเค้าผ่าเจอมันคือนิ่วถุงน้ำดี แต่หมอเขาบอกว่ามันหน้าตาเหมือนไข่มุกในชานมไข่มุกเท่านั้น ไม่ได้บอกว่า ที่ผ่ามานั่น ก้อนนิ่วมาจากไข่มุก อ่ะ อ่านแล้วก็หมดกังวล

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้ เราได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นการเติมความรู้ให้คุณผู้อ่านเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของอันตรายจากการกินชานมไข่มุก เอาไว้ในเฟสบุคของตัวเอง ว่า เม็ดไข่มุกที่เราคุ้นเคยกันนั้นทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งสามารถย่อยได้ตั้งแต่ในปากของเราแล้ว

การกินไข่มุกที่ใส่ในชานมยี่ห้อต่างๆ นั้น ไม่ต้องกลัวเรื่องการจะไปก่อตัวเป็นนิ่ว เพียงแต่ว่าบางครั้งการผลิตอาจทำให้เม็ดไข่มุกมีความเหนียวหนึบเกินไป อาจทำให้ย่อยยาก และเสี่ยงต่อการลงมาอุดหลอดลม โดยเฉพาะเด็กๆ นั่นเองค่ะ

นอกจากนี้ เคยมีรายงานจากประเทศเยอรมันที่บอกว่า เม็ดไข่มุกนี้อาจจะก่อมะเร็ง และกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ทำนองว่าเป็นเรื่องที่ฟันธงแล้ว ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย นักวิจัยของมหาวิทยาลัย University Hospital Aachen โดยเอาเม็ดไข่มุกไม่ระบุยี่ห้อจากตัวแทนจำหน่ายชาวไต้หวัน และพบว่ามีสารเคมี เช่น สไตรีน (styrene) และ อะซิโตฟีโนน (acetophenone) และสารอื่นๆที่จับอยู่กับธาตุโบรมีน ทางนักวิจัยเลยบอกว่ามันน่าจะเป็นสารประกอบกลุ่ม โพลีคลอรีนเนตเต็ตไบฟีนีล (พีซีบี PCBs polychlorinated biphenyls)

ซึ่งสารพีซีบีนี้ เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า สามารถทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ และสารพีซีบีนั้นสัมพันธ์กับมะเร็งตับและมะเร็งผิวหนังของคนงานที่สัมผัสกับสารเหล่านี้ และเมื่อเป็นข่าวขึ้นมา คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ของทางรัฐบาลประเทศไต้หวัน ก็ได้ทำการพิสูจน์หาข้อเท็จจริง ได้เก็บตัวอย่างเม็ดไข่มุก 22 ตัวอย่างจาก 7 ผู้ผลิต ซึ่งผลที่ได้นั้น ไม่พบว่ามีสารสไตรีน ขณะที่พบสารกลุ่มโบรมีนเนตเต็ทไบฟีนิลและอะซิโตฟีโนน แต่มีปริมาณน้อยมาก จนไม่ต้องกังวลต่อสุขภาพ

ด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกานั้น (U.S. FDA) ก็ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า สารหอมระเหย กลุ่มอะซิโตฟีโนนและสารสไตรีนนั้น ไม่นับว่าเป็นสารกลุ่มพีซีบี เพราะมันไม่ได้มีส่วนประกอบเป็นคลอรีนหรือไบฟีนิล ความจริงแล้ว ทั้งสารกลุ่มอะซิโตฟีโนนและสไตรีนนั้น ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายให้เติมลงไปในอาหารได้ด้วยซ้ำ เพื่อแต่งกลิ่นให้กับอาหาร

รายงานของทางเยอรมันไม่ได้ระบุเลยว่า สารที่มีโบรมีนอยู่ (ที่พบในไข่มุก) นั้นเป็นสารอะไรกันแน่ และพบปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องซีเรียสมากเพราะการที่บอกว่ามันอันตรายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าปริมาณสารเคมีที่พบนั้นมีมากพอที่จะเป็นพิษหรือไม่

เอาเข้าจริงๆ แล้ว รายงานจากทางเยอรมันเอง ก็ยังไม่ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิจัยที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในวงการว่ามีความถูกต้องแม่นยำเพียงพอ

อ่านบทความนี้แล้ว ก็หมดกังวลเรื่องการงดบริโภคชานมไข่มุก ของหวานสุดโปรดกันไปได้บ้างแล้วใช่มั้ยคะ เอาเป็นว่าสรุปง่ายๆ ก็คือ “ชานมไข่มุก” กินได้ค่ะ แต่ควรระวังสักนิด เพราะดื่มมากๆ ที่ได้ติดตัวมาแน่ๆ ก็เรื่องของแคลอรี่สูงเกิน แถมเด็กเล็กก็ไม่ควรให้กินด้วย เพราะถ้าสำลัก เม็ดไข่มุกอาจพลาดเข้าไปติดหลอดลมเอาได้เท่านั้นเอง

(ข้อมูลจาก http://www.berkeleywellness.com/…/ar…/tapioca-pearl-problems)

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

สารอาหารสำคัญ ช่วย รักษาแผล หายไวใน 4 ขั้นตอน

วิธีการ ป้องกันโรคหัวใจ ด้วย 3 ซูเปอร์ฟู้ด

อาหารผู้ มีบุตรยาก อะไรที่ควรเพิ่ม – ควรงด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.