คอเลสเตอรอล, อาหารทะเล, ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด, คอเลสเตอรอลสูง

อาหารทะเลกินได้สบายใจเรื่อง คอเลสเตอรอล

 

ทำไมควรกินอาหารทะเล

คอเลสเตอรอล, อาหารทะเล, ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด, คอเลสเตอรอลสูง
กินอาหารทะเลอย่างเหมาะสม ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตกล่าวว่า “อาหารทะเลมีประโยชน์กว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีแล้ว ปลาทะเลยังมีสารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย เช่นไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก

“…ชีวจิตจึงให้รับประทานปลาและอาหารทะเลได้ เพราะร่างกายคนเราต้องการโปรตีนที่จะเปลี่ยนเป็นแอมิโนแอซิดที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้อยู่ 23 ชนิด ซึ่งหากรับประทานแต่พืช เราจะขาดแอมิโนแอซิดที่จำเป็นไป 2 ตัว แต่หากเรารับประทานแต่เนื้อ นม ไข่ ก็จะได้รับแอมิโนแอซิดมากเกินไป จนสะสมเป็นพิษในร่างกาย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ วิทยากรประจำสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยให้ข้อมูลว่าอาหารทะเลอื่นๆ มีประโยชน์ดังนี้

  • กุ้ง คอเลสเตอรอลที่พบในกุ้งจัดเป็นไขมันประเภทไขมันดี ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ กุ้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ซึ่งช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเปลือกกุ้งยังอุดมด้วยแคลเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูกอีกด้วย
  • หอยและปู ในเนื้อหอยและปูจะมีกรดแอมิโนที่สำคัญมากกว่า 10 ชนิด เช่น กรดกลูตามิก ไกลซีน โพรลีน ฮีสติดีน และอาร์จินีน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารอาหารและแร่ธาตุอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียมเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี และวิตามินดี นอกจากนี้ ในหอยนางรมยังมีแร่ธาตุที่ชื่อว่า เทารีน (Taurine) ซึ่งทำงานร่วมกับสังกะสี ช่วยส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ
  • ปลาหมึก เนื้อปลาหมึกมีไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 ในปริมาณสูง ไขมันกลุ่มนี้เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ถึงแม้ว่าปลาหมึกจะมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง แต่ไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 จะช่วยควบคุมไม่ให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจนเกิดอันตรายได้ และคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในปลาหมึกจะช่วยให้ผิวหนังเต่งตึง ดูอ่อนเยาว์

ปริมาณคอเลสเตอรอล vs อาหารทะเล

อย่างไรก็ดี อาจารย์สาทิสแนะนำให้กินปลาหรืออาหารทะเลสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันโรคอื่นๆ ได้

เช่นเดียวกันกับอาจารย์วันทนีย์ที่กล่าวว่า

“คนทั่วไปควรกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนอยู่ที่ประมาณ วันละ 6 – 12 ช้อนโต๊ะเทียบเท่ากับปริมาณคอเลสเตอรอล 300 มิลลิกรัมสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องควบคุมคอเลสเตอรอลอย่างเคร่งครัด ควรจำกัดคอเลสเตอรอลที่วันละประมาณ 200 มิลลิกรัม เท่านั้น”

ทราบอย่างนี้ ฉันจะกลับไปบอกคุณพ่อให้คลายกังวลเรื่องคอเลสเตอรอลในอาหารทะเลได้บ้าง และสามารถจัดเมนูให้ท่านหลากหลายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มการออกกำลังกายก็จะช่วยลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ชะงัดยิ่งขึ้น

 

ปัญหาของผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูง

จากข้อมูลในหนังสือ คู่มือคอเลสเตอรอล สำนักพิมพ์ใกล้หมอ บอกว่า ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เลือดจะมีความข้นหนืดผิดปกติ และคอเลสเตอรอลยังไปเคลือบผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้ผนังเสียความยืดหยุ่นและแข็งตัวเร็วขึ้น เลือดจึงไหลเวียนไปยังอวัยวะต่างๆ ไม่สะดวก นานเข้าหลอดเลือดก็จะตีบและอุดตันในที่สุด

ดังนั้น เมื่อเลือดไหลเวียนไม่สะดวกผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงจึงมีอาการหายใจไม่สะดวกและเหนื่อยง่าย ก่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาในอนาคต

คอเลสเตอรอล, อาหารทะเล, ระดับคอเลสเตอรอลในเลือด, คอเลสเตอรอลสูง

ข้อควรระวังก่อนกิน

ปัจจุบัน อาหารทะเลอาจปนเปื้อนสารพิษ เนื่องจากมลพิษในน้ำทะเล

อาจารย์วันทนีย์ เกรียงสินยศกล่าวว่า ในอวัยวะภายในของสัตว์ทะเลจะเป็นแหล่งสะสมสารพิษได้มากกว่าส่วนอื่นๆ เช่น แกนปลาหมึก ซึ่งควรหลีกเลี่ยง หรือปรุงให้สุกก่อนกินทุกครั้งนอกจากนี้ ควรกินให้หลากหลายและหมุนเวียน เพื่อป้องกันการสะสมของสารพิษตัวเดิม

นอกจากนี้ สัตว์ทะเลยังมีแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับผิว เปลือก และกระดองหากได้รับเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียนและมีไข้ต่ำ จึงควรทำความสะอาดเปลือกและกระดองของสัตว์ทะเลให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง

 

จาก คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 301


บทความน่าสนใจอื่นๆ

กินคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหลอดเลือด

โปรแกรมกินพิชิตคอเลสเตอรอล

4 เทคนิคสุขภาพ กินอยู่สู้ไขมัน ลดคอเลสเตอรอล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.