ความเสื่อมของร่างกาย, โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย, ชะลอความเสื่อม

รู้จัก 3 โรคจาก ความเสื่อมของร่างกาย ที่ป้องกันได้

โรคภัยที่มักเกิดกับคนวัยเสื่อม

ความเสื่อมของร่างกาย มักนำพาโรคภัยไข้เจ็บมากมายมาสู่เรา เป็นต้นว่า โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน สมองเสื่อม  ซึ่งบางโรคอาจมีความรุนแรงถึงขนาดต้องกินยาตลอดชีวิต กระนั้นผู้สูงวัยก็ยังต้องระวังภาวะอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ตามมา ดังนี้

หูตึง

ความเสื่อมของหูเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรับรู้ข่าวสารรอบตัว แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สูญเสียการได้ยินโดยสิ้นเชิง แต่ก็ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตโดยรวมเช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่หลังจากอายุ 60 ปี สมรรถภาพในการได้ยินของหูจะลดลงเรื่อยๆ

สาเหตุ สำคัญที่ทำให้หูหนวกถาวร ได้แก่ ความเสื่อมตามอายุ การรับฟังเสียงระดับสูงกว่า 85 เดซิเบลนานเกินไป เสียงที่ดังมากจะทำให้ปลายประสาทหูถูกทำลาย การได้ยินเสียงที่ดังมากทันทีติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ที่ทำงานที่มีเสียงดัง ในคอนเสิร์ต ฯลฯ

การป้องกัน สำหรับคนชราที่หูเสื่อมตามอายุ สามารถป้องกันอาการหูตึงโดยการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน กล่าวคือ กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินธัญพืช ผักและผลไม้ให้มาก งดแป้งขัดขาว จำกัดปริมาณน้ำตาล และออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

นอกจากนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเสียงดังมากกะทันหันหรือดังต่อเนื่องนานๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ที่อุดหูหรืออุปกรณ์ป้องกันอย่างอื่นเพื่อปกป้องหู

บำรุงกระดูก, ความเสื่อมของกระดูก, ความเสื่อมของร่างกาย, กระดูกพรุน, กระดูก, โรคกระดูก
กินผักผลไม้ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

 

กระดูกพรุน

มักเกิดกับคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเปลี่ยนแปลงตามอายุ โดยจะพรุนเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ทุกปี ในช่วงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป กระดูกของคนเราจะถูกทำลายมากกว่าสร้างใหม่ประมาณร้อยละ 1 ต่อปี ผู้หญิงอาจเริ่มตรวจพบกระดูกพรุนตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือหลังจากหมดประจำเดือน 5 – 10 ปี เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำหน้าที่พยุงความหนาแน่นของกระดูก

สาเหตุและอาการ ภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่พบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มักมีสาเหตุมาจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ขาดการออกกำลังกาย หรือภาวะโภชนาการไม่ดี โดยปกติกระดูกพรุนจะไม่มีอาการ ส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นโรคนี้ต่อเมื่อล้มแล้วกระดูกหักเท่านั้น แต่บางครั้งอาจพบอาการปวดหลังได้ ถ้ากระดูกสันหลังอ่อนแอและยุบตัวลง สัญญาณอื่นๆ ที่บ่งบอกอาการ ได้แก่ ฟันโยก ตัวเตี้ยลง และหลังโค้งงอ ไหล่งุ้ม หรืออาจตรวจร่างกายโดยใช้เครื่องสแกนกระดูก ซึ่งบอกความรุนแรงของภาวะกระดูกพรุนได้

การป้องกัน ควรกินผักผลไม้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองให้มากขึ้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีฮอร์โมนพืชที่มีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจน จึงช่วยชดเชยระดับเอสโตรเจนในร่างกาย

ควรกินอาหารที่มีเกลือแร่ให้มากพอ เพื่อให้กระดูกแข็งแรง นอกจากแคลเซียมแล้ว ยังมีเกลือแร่ตัวอื่นที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก เช่น โบรอน ทองแดง แมกนีเซียม  แมงกานีส ซิลิคอน และสังกะสี สำหรับผู้หญิงทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำให้กินแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

กลุ่มคนที่ต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติ ได้แก่ วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมลูก หญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้ชายสูงอายุ ให้กินวันละ 1,200 มิลลิกรัม แหล่งแคลเซียม ได้แก่ โยเกิร์ต ผักใบเขียวต่างๆ เช่น คะน้า ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ถั่ว แครอท อัลมอนด์ และปลาที่กินได้ทั้งก้าง

เพิ่มอาหารที่อุดมด้วยสังกะสี เช่น อาหารทะเล ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืช ผักกินหัว เพราะสังกะสีจะช่วยผลิตโปรตีนในกระดูกและกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียม

กินอาหารที่มีวิตามินเอ ซี เค โดยเฉพาะวิตามินดี ซึ่งควรรับแสงอาทิตย์ยามเช้าทุกวัน หรือถ้าไม่มีโอกาสสัมผัสแสงอาทิตย์ ควรกินวิตามินชนิดเม็ดวันละ 400 มิลลิกรัม

ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เกลือ กาเฟอีน การสูบบุหรี่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโทษต่อกระดูกทั้งสิ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ มีงานวิจัยพบว่า คนที่กินเนื้อจะเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนกินมังสวิรัติ

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.