เป็นมะเร็ง มะเร็งผู้หญิง โรคมะเร็ง มะเร็งเต้านม

ประสบการณ์สาวออฟฟิศ ตรวจหาความเสี่ยง เพราะคุณแม่ เป็นมะเร็ง

ตรวจหาความเสี่ยง เพราะคุณแม่ เป็นมะเร็ง

เชื่อว่าตอนนี้ โรคมะเร็งเต้านม เกิดขึ้นในผู้หญิงที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ และด้วยเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม พฤติกรรม และการใช้ชีวิต สาว ๆ จึงไม่ควรประมาท ควรตรวจเช็กเต้านมสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกปี เพื่อที่ว่า หาก เป็นมะเร็ง ขึ้นมา จะได้รับมือได้ง่ายขึ้นค่ะ มาอ่านประสบการณ์การตรวจความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของสาวออฟฟิศท่านหนึ่งที่มาแชร์ให้เราได้รับทราบกันดีกว่า

เริ่มจากคุณแม่เสียด้วยมะเร็งเต้านม

คุณนิสา (ขอสงวนนามสกุล)  อายุ 25 ปี  เป็นสาวออฟฟิศทั่ว ๆ ไป ที่แม้อายุยังน้อย  แต่เธอไม่เคยประมาทภัยร้ายที่เรียกว่า “มะเร็งเต้านม” ด้วยความที่คุณแม่ของเธอเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้  รวมถึงในครอบครัวยังมีประวัติเป็นโรคมะเร็งอีกหลายคน  เธอจึงเลือกที่จะตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียดทุกปี

“ปกติเป็นคนไม่ใส่ใจสุขภาพค่ะ  จนกระทั่งคุณแม่เสียด้วยโรคมะเร็งเต้านม  คนรอบข้างจึงแนะนำให้หาเวลาไปตรวจสุขภาพบ้าง  จึงลองไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาดู”

คุณนิสาเล่าให้ฟังว่า  ก่อนที่เธอจะเข้ารับการตรวจสุขภาพตามปกติ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณหมอและพยาบาลที่แนะนำการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ เพราะคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม  ทางโรงพยาบาลจึงแนะนำให้เธอตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker)

“นอกจากจะตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว  คุณหมอได้แนะนำให้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งประเภทซีเอ 15-3 (CA 15-3)  เพราะด้วยความที่ไม่ได้ตรวจสุขภาพมานานและไม่เคยตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองมาก่อน  การตรวจในลักษณะนี้จะช่วยคัดกรองความเสี่ยงหรือระยะของโรคมะเร็งได้ในระดับหนึ่งค่ะ”

ความก้าวหน้ารักษามะเร็งเต้านม โรคผู้หญิง

เมื่อผลออกมาว่ามีความเสี่ยง

ในวันฟังผล  เธอพบว่าค่าของสาร CA 15-3 นั้นอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ  โดยค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 25  ในขณะที่ผลออกมาอยู่ที่ 28  เธอจึงได้รับคำแนะนำให้อัลตราซาวนด์เต้านมเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติม

“เมื่อกลับถึงบ้านจึงลองคลำเต้านมด้วยตนเอง  พบว่ามีก้อนประมาณ 1 เซนติเมตรที่เต้านมข้างซ้ายค่ะ  ตอนนั้นตกใจมาก  แต่ก็ยังทำใจดีสู้เสือรอผลตรวจอัลตราซาวนด์”

ผลตรวจอัลตราซาวนด์ออกมาพบว่า  ก้อนที่เธอคลำเจอข้างซ้ายนั้นเป็นถุงน้ำ (Cyst) ที่สามารถเกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนในร่างกายซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ  ก้อนเนื้อเล็ก ๆ สามก้อนที่ตรวจพบในเต้านมข้างขวา ซึ่งในเบื้องต้นไม่ใช่เซลล์มะเร็ง  แต่ต้องติดตามผลโดยการนัดอัลตราซาวนด์ซ้ำทุก 6 เดือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

“หลังจากนั้น 6 เดือนมาอัลตราซาวนด์ซ้ำ  พบว่าขนาดของก้อนเนื้อที่เต้านมข้างขวาไม่เปลี่ยนแปลง  คุณหมอจึงแนะนำให้มาอัลตราซาวนด์ทุก 6 เดือน  ติดต่อกัน 2 ปี  หากมีขนาดใหญ่ขึ้น  ต่อให้ไม่ใช่มะเร็งก็ควรผ่าตัดออก  แต่หากขนาดไม่เปลี่ยนแปลงภายใน 2 ปี  ก็เว้นระยะมาตรวจเพียงปีละครั้งก็ได้”

เพราะอายุยังน้อย  ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมจึงยังไม่มาก แต่เธอก็หันมาระมัดระวังตัวมากขึ้น  เลือกกินอาหารสุขภาพมากขึ้น และคอยติดตามข่าวสารของโรคมะเร็งอยู่เสมอ เพราะหากวันข้างหน้าเธอต้องรับมือกับโรคดังกล่าว  ก็มั่นใจว่าพร้อมเต็มที่

(ที่มา : คอลัมน์ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 394)


บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ค้น 4 ความจริง มะเร็งเต้านม กับ “มูลนิธิถันยรักษ์ฯ”

ปัจจัยอะไรบ้าง เสี่ยงต่อการเป็น “มะเร็งเต้านม”

ยาคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม เกี่ยวข้องกันจริงหรือ

5 วิธีบู๊สต์พลัง ป้องกันมะเร็งเต้านม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.