ลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งเต้านม โรคผู้หญิง

5 วิธีบู๊สต์พลัง ป้องกันมะเร็งเต้านม

5 วิธีบู๊สต์พลัง ป้องกันมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม ยังคงเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอันดับ 1 ในผู้หญิงไทยและทั่วโลก มะเร็งเต้านม พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง 1% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด จากการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆในประเทศไทยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี พ.ศ.2559 พบว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดเป็นอันดับ 1

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

-อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

-มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างหนึ่งมีความเสี่ยง 3-4 เท่าในการเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง

-มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

-มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

มะเร็งเต้านม

-การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA ย่อมาจาก BReast CAncer gene) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และการมีประวัติมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย

-การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

-ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีในปริมาณสูง

(ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.บำรุงราษฎร์)

นอกจากนี้ การกินอาหารและการออกกําลังกายของสาวๆ ก่อประโยชน์ทั้งความแข็งแรงแก่ร่างกายและยังช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ปกติกลายสภาพเป็นเซลล์ร้ายอันเป็นต้นเหตุของมะเร็งเต้านมอีกด้วย วันนี้ชีวจิตจึงชวนคุณสาวๆ มาดูแลสุขภาพเต้านมให้มีสุขภาพแข็งแรงด้วย 5 วิธี ดังนี้

1.รักษาน้ำหนักตัว: แม้ความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับมะเร็งเต้านมจะยังไม่เป็นที่แน่ชั แต่ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่มีน้ําหนักเกิน โดยจากการศึกษาล่าสุดพบว่าผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป มักเข้าข่ายเป็นโรคมะเร็งอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงที่มีค่าดัชนี มวลกายต่ำกว่า 25

สาเหตุมาจากเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีน้ําหนักตัวมากจะมีฮอร์โมนเอสโทรเจนปริมาณสูง ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะกระตุ้นเซลล์มะเร็งเต้านมให้เจริญเติบโตและพัฒนามากขึ้น

สำรวจความผิดปกติของเต้านม

2.หมั่นออกกําลังกาย: เพราะผู้หญิงที่นั่งนานๆ หรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมีโอกาสที่มะเร็งเต้านมจะลุกลามประมาณ75 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีงานวิจัยระบุว่าการออกกําลังกายสามารถช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันป้องกันโรคอ้วน รักษาหนักตัวให้คงที่ทําให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนสมดุลและเสริมมวลกระดูก ทั้งนี้งานวิจัยยังได้แนะนําว่าวิธีออกกําลังกายที่ง่ายที่สุดคือการเดิน นั่นเอง โดยทําวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4-5วัน

3.กินอาหารให้สมดุล: ควรกินผักและผลไม้ที่มีสารแอนติออกซิแดนต์อย่าง เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี คะน้า แตงโม ธัญพืช   และอาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น เมล็ดฟักทอง วอลนัต ถั่วเหลืองปลา เพราะสารอาหารเหล่านี้ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยไม่ให้กลับมาเป็นซ้ําได้

4.งดดื่มแอลกอฮอล์: ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 1-2 แก้ว มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป ถึงแม้รักษาหายดีแล้วก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งอีกได้เช่นกัน

5.กินวิตามินดีให้เพียงพอ: มีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ได้รับวิตามินดีหรือมีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีอยู่ในเกณฑ์ปกติสําหรับผู้ป่วยโรคนี้ที่รักษาตัวเองจนอาการเป็นปกติแล้วหากร่างกายมีระดับวิตามินดีต่ำก็มีโอกาสกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำได้

พบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยมีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงมากมาย ทั้งอายุ พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต การป้องกันที่ดีคือหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายและเต้านมสม่ำเสมอ หากพบสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

UPDATE กฎเหล็กป้องกันมะเร็งเต้านม

6 วิธีรับมือวัยทอง ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริงของ “มะเร็งเต้านม”

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.