บำรุงเลือดงาม

ทำความเข้าใจเรื่องเลือด ความสำคัญ สาเหตุของโลหิตจาง

ทำความเข้าใจเรื่องเลือด ความสำคัญ สาเหตุของโลหิตจาง

สาเหตุของโลหิตจาง

หลังจากบริจาคโลหิตติดต่อกันมานาน ล่าสุดช่วงต้นปีที่ผ่านมาผู้เขียน ได้เดินทางไปบริจาคโลหิตตามการนัดหมายเหมือนเช่นเคย เมื่อวัดความดันผ่านเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่จึงใช้อุปกรณ์เจาะเลือดแทงตรงปลายนิ้วมือข้างหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บจี๊ดเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและจางหายไปอย่างรวดเร็ว จากนั้น จึงนำหยดเลือดที่ค่อย ๆ ซึมออกมาไปวัดค่าความเข้มข้น

วันนั้นผู้เขียนจำได้แม่นยำว่า เตรียมร่างกายและตั้งใจอย่างเต็มร้อยเพื่อไปบริจาคโลหิต แต่กลับต้องผิดหวัง พร้อมกับรับร้คู วามจริงบางอย่างว่า ระบบสำคัญของร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะผลความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับการบริจาคโลหิต ซึ่งในผู้หญิงคือ 12.5 – 16.5 ก./ดล. และผู้ชายคือ 13 – 18.5 ก./ดล. นั่นหมายความว่าภาวะโลหิตจางเกิดขึ้นกับร่างกายของผู้เขียนโดยไม่ทันรู้ตัว

เรื่องราวข้างต้น เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เขียน ซึ่งอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง และเนื้อหาที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นวิธีการรักษาดูแล ฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยอาหารชีวจิตที่มีประโยชน์ และภูมิปัญญาสมุนไพรของไทย ที่หมอพื้นบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ช่วยกันรักษาไว้ และสามารถใชรักษาอาการโลหิต จางของผู้เขียนให้ดีขึ้น จนกลับไปบริจาคโลหิตได้อีกครั้งตามที่ตั้งใจ

มาทำความเข้าใจเรื่องเลือด ความสำคัญสาเหตุของโลหิตจาง และวิธีการบำรุงให้เลือดงาม ต้องทำอย่างไรไปพร้อม ๆ กันนะคะ

เลือด คือ ของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดในร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ
ประกอบด้วยน้ำเหลือง (Plasma) มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองใส ช่วยให้เม็ดโลหิตทั้งหลายลอยตัว และไหลเวียนทั่วร่างกาย
เม็ดเลือด แบ่งออกเป็นเม็ดเลือดแดง หรือ Red Blood Cell เป็นเซลล์ที่มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เม็ดเลือดขาว หรือ White Blood Cell เป็นเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งคอยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค และสารแปลกปลอมต่าง ๆ
เกล็ดเลือด เป็นกลุ่มของเซลล์ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดไม่หยุดไหล เมื่อเกิดบาดแผล

เลือดไม่งาม มาตามหาสาเหตุด้วยกัน

โลหิตจาง หรือในทางการแพทย์แผนไทยคือ เลือดไม่งาม เป็นภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงหรือปริมาณเฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเลือดน้อยกว่าปกติเนื่องจากการสูญเสียโลหิต การทำลายเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก หรือการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เช่น จากการขาดธาตุเหล็ก

กระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้นที่ไขกระดูกทั่วร่างกาย และเมื่อโตเต็มที่จะออกสู่กระแสโลหิต ไหลเวียนไปตามร่างกาย โดยโครงสร้างเม็ดเลือดแดงจะประกอบด้วยฮีม (heme) และโกลบิน (globin) ซึ่งต้องอาศัยสารอาหาร เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต

โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วันและถูกทำลายที่ม้าม ซึ่งการสร้างและการทำลายเม็ดเลือดแดงต้องอยู่ในภาวะที่สมดุล จึงจะไม่เกิดภาวะโลหิตจาง แต่หากเสียสมดุลก็จะเกิดภาวะโลหิตจางได้

สาเหตุการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
มี 3 ประการ คือ

  1. ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ คือ ได้รับธาตุเหล็กน้อย เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยหรือไม่รับประทานธาตุเหล็กเสริม หลังการบริจาคโลหิต มีความผิดปกติในกระบวนการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ผู้ที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร หรือรับประทานแคลเซียม
  2. ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กมากกว่าปกติ เกิดจากการเสียโลหิตเฉียบพลันจำนวนมาก เช่น ผ่าตัดใหญ่ คลอดบุตร แท้งบุตร ได้รับอุบัติเหตุ ประจำเดือนมามากผิดปกติ และการบริจาคโลหิตต่อเนื่องหลายครั้ง โดยไม่ได้รับธาตุเหล็กทดแทนอย่างเพียงพอ หรือมีการเสียโลหิตจำนวนน้อยเป็นเวลานาน เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ หรือโรคริดสีดวงทวาร
  3. มีความผิดปกติในกระบวนการสร้างเม็ดเลือด ได้แก่ ผู้ป่วยทางโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น

โดยปกติทั่วไป ร่างกายจะสูญเสียธาตุเหล็ก จากการหลุดลอกของผนังลำไส้ และเซลล์อื่น ๆ ประมาณ 1 – 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน การมีประจำเดือน ประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อวัน การบริจาคโลหิตประมาณ 150 – 200 มิลลิกรัม

ซึ่งการสูญเสียธาตุเหล็กดังกล่าว สามารถชดเชยได้จากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมและมีธาตุเหล็กเพียงพอ ผู้บริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และสามารถบริจาคโลหิตได้ต่อเนื่องทุก 3 – 6 เดือน

โลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก ภัยเงียบที่ต้องระวัง

เอกสารจากหน่วยดูแลผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ภาวะโลหิตจางเป็นภัยเงียบ ซึ่งจะมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนเกิดขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้บางครั้งผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนเองยังเป็นปกติอยู่ แต่คุณภาพชีวิตจะแย่ลงโดยไม่รู้ตัว

สำหรับผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เลือดไม่งามหรือโลหิตจาง พบว่า มักจะมีอาการปวดศีรษะโดย
ไม่รู้สาเหตุ บางครั้งก็รู้สึกวูบและหน้ามืดอยู่บ่อย ๆ ไม่ค่อยมีสมาธิในการทำงาน รวมถึงเวลาออกกำลังกายหรือทำงานหนัก หัวใจยังเต้นเร็วผิดปกติด้วย นอกจากอาการเหล่านี้แล้วก็ยังมี
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนอื่น ๆ ดังนี้

  • ซีด
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เซื่องซึม
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • ผมร่วง เล็บบางม้วนงอเป็นรูปช้อน
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • ขาดสมาธิในการเรียน การทำงาน
  • ประสิทธิภาพในการรับรู้ลดลง ความคิดช้า ความจำไม่ดี
  • ปากเจ็บและมีแผลบริเวณมุมปาก
  • นอนไม่หลับ
  • ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่อง

ลองสำรวจตัวคุณเองดูนะคะว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่ และถ้าหากใครมีอาการข้างต้นก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะสายเกินไป และสำหรับผู้เขียนเมื่อทราบเป็นที่
แน่นอนแล้วว่ามีอาการเลือดไม่งาม จึงมีวิธีการรักษาและดูแลตนเอง

ซึ่งจะขอนำประสบการณ์การรักษามาเขียนเล่าสู่กันฟัง โดยการรักษาหลัก ๆ ของผู้เขียนคือ การให้ความใส่ใจ และความสำคัญกับการรับประทานอาหารมากขึ้น และเสริมด้วยการรับประทานสมุนไพรบำรุงเลือดงาม ตำรับของ หมอแก้วมา อินทะคำ หมอพื้นบ้าน จังหวัดเชียงราย ตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จากสำนักงาน
สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และ หมอวีณา มะยอง รองประธาน สภาหมอเมืองล้านนา อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย

เรื่อง กนกกาญจน์ เอี่ยมสะอาด ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 527 – 22 สมุนไพรไทย ยาอายุวัฒนะใกล้ตัว

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 16 กันยายน 2563
บทความน่าสนใจอื่นๆ

“โลหิตจาง” สัญญาณเตือนภัยของร่างกาย ที่ทุกคนควรต้องรู้!

หมอสูติแนะ รับมือโรค โลหิตจางในผู้หญิง ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

อาหาร วิตามิน และสมุนไพร แก้โรคโลหิตจาง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.