ผู้สูงวัย

อยู่อย่างไร ในวัยสูงอายุ

อยู่อย่างไร ในวัยสูงอายุ

“ความตั้งใจของผมก็คือ การทำให้สุขภาพแข็งแรง ส่วนอายุยืนนั้นเป็นผลพลอยได้” นี่คือคำกล่าวของท่านอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ในโอกาสที่ท่านเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลผู้สูงอายุต้นแบบสุขภาพดีเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งคำกล่าวข้างต้นนั้นสื่อได้ถึงหัวใจสำคัญของการมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

และไม่ว่าใครหากเคยได้พบและพูดคุย หรือทราบถึงกิจวัตรประจำวันของท่านอาจารย์สาธิต ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ย่อมอยากรู้ว่าผู้ที่มีวัยสูงอายุมากขนาดนี้มีวิธีใช้ชีวิตอย่างไรให้ทรงคุณค่าและเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม เราเลยไปรวบรวมคำตอบที่ท่านอาจารย์เคยบอกเอาไว้มาให้คุณผู้อ่านทราบกันค่ะ

เคล็ด(ไม่) ลับ หลัก 5 เล็ก

สำหรับแฟนชีวจิตคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเมื่อพูดถึงหลักปัญจกิจเพื่อการสร้างสมดุลในชีวิต หรือหลัก 5 เล็ก คือ การกินให้ถูก นอนให้ถูก ทำงานให้ถูก พักผ่อนให้ถูก และออกกำลังกายให้ถูก โดยจะปรับใช้อย่างไรในวัยสูงอายุนั้นไปดูกันค่ะ

“กินให้ถูก” ต้องแน่ใจว่าอาหารที่รับประทานทุกวัน ช่วยเสริมสร้าง Immune System หรือภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น รับประทานแป้งที่ไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ และอาหารที่รับประทานต้องแน่ใจว่าไม่มีท็อกซินหรือพิษ

“นอนให้ถูก” ต้องแน่ใจว่าทุกคืนได้นอนหลับสนิท หลับลึก และเต็มอิ่ม ซึ่งมีผลให้โกร๊ธฮอร์โมนหลั่ง ตื่นเช้าขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นปลอดโปร่งโดยอัติโนมิติ

วัยสูงอายุ

“ทำงานให้ถูก” หาแง่ดีของการทำงาน และทำงานอย่างมีความสุข

“พักผ่อนให้ถูก” ควรผ่อนคลายตัวเองด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ เมื่อมีโอกาส

“ออกกำลังกายให้ถูก” ต้องแน่ใจว่าการออกกำลังกายแต่ละครั้งต้องได้พีค คือ เหงื่อโซมกาย หัวใจเต้นแรง จับชีพจรได้ไม่ต่ำกว่า 120-140 ครั้งต่อ 1 นาที

สุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน

เมื่อทราบวิธีดูแลสุขภาพกายแล้ว เทคนิคการดูแลสุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งอาจารย์สาทิสเคยบอกเอาไว้ว่า “การคิดและบอกตัวเองว่าเราแก่แล้ว ควรหยุดทำงาน อยู่เฉยๆ ดีที่สุด ถ้าคิดเช่นนี้จะยิ่งเร่งให้แก่และตายเร็ว อย่ายอมรับหรือยอมจำนนต่อความเสื่อมของร่างกาย ในเมื่อเราสามารถปฏิบัติตัวเพื่อยืดระยะเวลาไม่ให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเสื่อมได้”

ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมการแพทย์ก็เคยบอกเอาไว้ว่า นิยามของคำว่าอายุมีสองแบบ แบบแรกคือ อายุตามปฏิทิน แบบที่สองคือ อายุของร่างกาย เราไม่สามารถฝืนกฏของอายุตามปฏิทินที่เป็นตัวเลขได้ แต่เราสามารถลดอายุของร่างกายตัวเองได้ เพียงใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติดังต่อไปนี้

นอนให้สุขภาพแข็งแรง

  • กินอาหารแทนยา คือหันมากินอาหารธรรมชาติ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารจากอาหารเหล่านี้ แทนที่การกินอาหารเสริมหลากรูปแบบ
  • กินเกินก่อโรค รับประทานอาหารให้น้อยลง อดอาหารเพื่อสุขภาพบ้าง
  • กิจกรรมอาสาบำบัด ลองหากิจกรรมอาสาทำ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้พบปะผู้คน ซึ่งช่วยฝึกสมอง ป้องกันความเสื่อม และสร้างคุณค่าให้ตัวเอง
  • พูดคุยสานสัมพันธ์ หรือทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กับคนทุกวัยในครอบครัว เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
  • เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก ในวัยนี้หากมีโอกาส ให้ไปงานศพเพื่อพบปะกับเพื่อนเก่าๆ พูดคุยกันย้อนถึงความสุขในชีวิตอดีต เพื่อประโลมหล่อเลี้ยงจิตใจบ้าง
  • ตั้งปณิธานลดอายุ สร้างเป้าหมายในการใช้ชีวิตด้วยการลดอายุของร่างกาย เช่นปีนี้อายุตามปฏิทินคือ 70 ปี ผ่านไป 5 ปี อายุของร่างกายต้องลดลงเหลือ 65 ปีให้ได้

ผ่อนคลายตัวเอง

เมื่อการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความจริงในชีวิตที่ทุกคนต้องพานพบ การกังวลกับสิ่งเหล่านี้ไปย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร มาสนุกกับการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าดีกว่าค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

SENIOR CARE ดูแลผู้สูงวัยเมื่ออากาศหนาว

10 วิธีป้องกันกระดูกหักในผู้สูงวัย

Exercise Tips for Senior แข็งแรงล้ำอายุ

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.