ป้องกันกระดูกหักในผู้สูงวัย

10 วิธีป้องกันกระดูกหักในผู้สูงวัย

10 วิธีป้องกันกระดูกหักในผู้สูงวัย

ผู้สูงอายุเกือบทุกคนมักประสบปัญหาการลื่นล้มอยู่บ่อยๆ ที่เกิดง่ายและบ่อยมักจะเป็นการ หกล้มในห้องน้ำ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง การทรงตัวบกพร่อง ปัญหาเรื่องสายตา สมองเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ และโรคผู้สูงอายุอื่นๆ ผลจากการหกล้มอาจทำให้กระดูกหัก ซึ่งสำหรับคนวัยนี้รักษาให้หายได้ยากกว่าคนวัยอื่น

เราลองมาดูกันว่ามีแนวโน้มใดบ้างที่จะลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุเหล่านั้นได้

จัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการลื่นล้ม ควรเก็บกวาดพื้นบ้านให้สะอาด ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ อย่าให้มีคราบไคลหรือฟองสบู่ที่ทำให้ลื่นล้มได้ พื้นทางเดินควรจะมีแรงเสียดทานพอสมควร และอย่าให้ลื่นเกินไป แสงไฟในบ้านต้องเพียงพอและควรติดราวสำหรับยึดจับตามความจำเป็น

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพราะการออกแรงใช้งานเกินกำลังอาจทำให้กระดูกหักหรือยุบลงได้

ผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำ

หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนบนเก้าอี้ผ้าใบ ซึ่งจะทำให้กระดูกสันหลังค่อม ควรนอนบนเตียงที่ค่อนข้างแข็ง ขณะนั่งควรนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง และควรใช้หมอนหนุนพิงเพื่อรองรับแผ่นหลัง เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดทีทำให้เกิดอาการง่วงซึม เช่น ยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ ยาลดความดันเลือด ยานอนหลับ เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้การทรงตัวของผู้สูงอายุมีปัญหา หรืออาจพลาดหกล้มได้ง่าย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาผู้ช่วยดูแลเมื่อลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนใหม่ๆ

กีฬาบางชนิดอาจไม่เหมาะสม เช่น การตีกอล์ฟ เล่นโบว์ลิ่ง วิ่ง สำหรับกีฬาที่แนะนำ คือ ว่ายน้ำ ไทเก๊ก เดินหรือรำกระบอง หากมีโรคประจำตัว หรือต้องการเล่นกีฬาที่ไม่เคยเล่น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อขอคำแนะนำตามความเหมาะสม

ภาวะปวดหัวเข่าในผู้สูงวัย

ตรวจเช็คสายตาทุก 1-2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาทางสายตาในผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาสายตายาว จอประสาทตาเสื่อมต้อหิน ต้อกระจก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการหกล้มขึ้นได้

ควรบริหารกล้ามเนื้อ แขน ขา และลำตัวเป็นประจำ โดยการยึดเอ็นกล้ามเนื้อและเพิ่มกำลังของมัดกล้ามเนื้อ การบริหารต้องทำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายมีการทรงตัวที่ดี กล้ามเนื้อไม่ลีบเล็กหรือเสื่อมเร็วเกินไป

ควรเลือกยานพาหนะที่ปลอดภัยในการเดินทาง ผู้สูงอายุไม่ควรนั่งรถเมล์หรือนั่งซ้อนจักรยานยนต์ไปไหนมาไหนเพียงคนเดียว แต่ควรมีผู้ติดตามหรือดูแลอย่างใกล้ชิด และอย่าเดินในที่ไม่คุ้นเคยนอกบ้าน

ผู้สูงวัยกระดูกข้อมือหัก

ถ้ารู้สึกว่าเดินได้ไม่มั่นคง ควรใช้เครื่องช่วยเดิน ได้แก่ ไม้เท้า ต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นคงขณะเดิน รวมถึงการใช้เครื่องพยุงต่างๆ เช่น เครื่องพยุงตัว เครื่องพยุงหลัง ทำให้แผ่นหลังกระชับมากขึ้น และยังสามารถป้องกันการหักยุบหรือแตกหักของกระดูกได้ แต่การใช้เครื่องผยุงเหล่านี้เป็นเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อหลังและท้องอ่อนแรง จึงควรใช้ตามความจำเป็น พร้อมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อแข็งแรง

ควรมีโทรศัพท์หรือคนดูแลอยู่ด้วยเสมอ เพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ที่สำคัญ อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส เพียงเท่านี้คุณก็มีสุขภาพกายใจที่แข็งงแรง และจะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้แล้วค่ะ

ที่มา: นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 192

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

6 สัญญาณบอกอาการเข่าเสื่อม

เพราะ “ข้อสะโพก” เป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ “เสื่อม”

CHOOSING A WALKING STICK เลือกไม้เท้าสำหรับผู้สูงอายุ

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.