โรคคนวัยทำงาน,ออฟฟิศซินโดรม,อาการเจ็บป่วยวัยทำงาน

10 ถาม-ตอบ ปัญหาคาใจ โรคคนวัยทำงาน

โรคคนวัยทำงาน และอาการต่างๆ จากชีวิตประจำวัน

พูดถึงอาการเจ็บป่วยกับช่วงวัยต่างๆ วัยทำงานเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เจอปัญหาสุขภาพบ่อยใช่เล่น วันนี้ผู้เขียนจึงคัด 10 ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยและ โรคคนวัยทำงานมาฝากค่ะ

ปัญหาโรคกาย ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

Q : ชอบกลั้นปัสสาวะขณะทำงาน  หากยังทำงานไม่เสร็จจะไม่ยอมเข้าห้องน้ำ  ระยะหลังรู้สึกว่าปัสสาวะกะปริบกะปรอย  อาการดังกล่าวบ่งบอกว่าเริ่มป่วยแล้วใช่ไหมคะ

A : การกลั้นปัสสาวะจะทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่กระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง เมื่อกล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ การปัสสาวะกะปริบกะปรอยถือเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่ากล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่แข็งแรงดังเดิม นอกจากนี้การกลั้นปัสสาวะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในปัสสาวะลุกลามไปที่ไตและกรวยไต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและกรวยไตอักเสบ ทางที่ดีจึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

Q : เข้าทำงานช่วงบ่ายและเลิกประมาณสี่ทุ่ม  ทำให้ติดนิสัยกินอาหารตอนกลางคืนแล้วนอนเลย  ช่วงหลังรู้สึกว่าตื่นขึ้นมาแล้วเจ็บคอ  หลังกินอาหารบางมื้อจะจุกลิ้นปี่และแสบร้อนกลางอก  ควรทำอย่างไรดี

A : อาการดังกล่าวคืออาการของโรคกรดไหลย้อน เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร สาเหตุมาจากการกินอาหารรสจัด ของมันของทอด และน้ำอัดลม รวมทั้งพฤติกรรมการกินอาหารแล้วนอนทันที การปรับพฤติกรรมการกินจะช่วยเยียวยาอาการได้ส่วนหนึ่ง โดยงดกินอาหารรสจัด ของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ดไม่กินอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกาย

โรคคนวัยทำงาน, อาการป่วยคนทำงาน, โรคจากอาชีพ, คนวัยทำงาน, วัยทำงาน

Q : หลังกินอาหารเที่ยงมักมีอาการท้องอืด  ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร

A : อาการท้องอืดเกิดจากการที่กระเพาะอาหารถูกสมองแย่งเลือดและออกซิเจนไปใช้ กระบวนการดูดซึมอาหารจึงทำงานบกพร่อง ทำให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เรอ ผายลม รวมไปถึงท้องผูก ดังนั้นควรทำงานที่ใช้สมองหลังกินข้าวแล้วอย่างน้อยสองชั่วโมง หากไม่สามารถทำได้ แนะนำให้ดื่มน้ำสองแก้วก่อนมื้ออาหารหนึ่งชั่วโมง และดื่มน้ำอีกหนึ่งถึงสองแก้วประมาณสองชั่วโมงหลังมื้ออาหาร เพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำย่อยและกระตุ้นเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการย่อยอาหาร

Q : ทุกครั้งที่ประชุมงานจะมีอาการปวดไมเกรนจนอาเจียน  ไม่ทราบว่ามีวิธีการรักษาหรือเยียวยาอย่างไรบ้างคะ

A : อาจารย์สาทิส  อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต กล่าวถึงการเยียวยาโรคไมเกรนวิถีธรรมชาติด้วยการทำดีท็อกซ์(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือกูไม่แน่  สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ หน้า 78-81)

นอกจากการทำดีท็อกซ์แล้ว  ยังสามารถใช้วิธีวารีบำบัดควบคู่ไปด้วย  ดังนี้

1. ห่อน้ำแข็งด้วยผ้าขนหนูผืนเล็ก แล้ววางลงบนศีรษะหน้าผาก และท้ายทอย

2. จุ่มปลายนิ้วมือในน้ำแข็งจนปลายนิ้วเย็น แล้วใช้ปลายนิ้วคลึงศีรษะไปมา โดยเฉพาะบริเวณขมับและต้นคอ

3. แช่เท้าในอ่างที่ผสมน้ำร้อนพอทนได้กับน้ำส้มสายชูความร้อนของน้ำที่มีกรดเป็นส่วนผสมจะทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

4. นั่งแช่น้ำในอ่างน้ำร้อนสลับกับน้ำเย็น โดยนั่งหลังตรงเพื่อยืดกระดูกสันหลัง

Q : ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน  ตื่นเช้าขึ้นมาวันหนึ่งรู้สึกว่าบ้านหมุน  ทำอย่างไรดี  จะเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากันไหม

A : การทำงานหนักแล้วมีอาการวิงเวียนไม่ได้เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่มักเกิดจากความเครียดสะสม เมื่อมีความเครียด ระบบต่างๆในร่างกายจะทำงานผิดปกติ เช่น สารอะดรีนาลินหลั่งออกมามาก ตับปล่อยน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดและหัวใจเต้นเร็ว ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุให้เกิดอาการวิงเวียน มึนศีรษะได้

โรคใจ  ภัยจากเครียด

Q : ชอบเผลอตัวถอนผมเวลาทำงานจนหัวล้าน  เป็นโรคจิตไหม

A : การดึงผมขณะมีความเครียดถือเป็นการระบายออกอย่างหนึ่งส่วนใหญ่มักเป็นพฤติกรรมที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่ถือว่าเป็นโรคจิต แต่หากมีพฤติกรรมบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่น ดึงจนผมบางเป็นหย่อมๆ อาจต้องหาทางจัดการกับความเครียดด้วยวิธีอื่นและปรึกษาจิตแพทย์

Q : ทำงานเครียดจนนอนไม่หลับ  ถ้านอนหลับก็ฝันเป็นเรื่องงาน

A : การฝันถึงเรื่องงานเป็นสัญญาณเตือนว่า เราหมกมุ่นกับเรื่องงานมากเกินไป ต้องแก้ไขด้วยการรู้จักแบ่งเวลาและความคิดให้ชัดเจนว่า เวลาใดควรให้ความสำคัญกับเรื่องใด ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน และควรหาเวลาว่างหรือหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด

Q : ขี้หงุดหงิด  สมาธิสั้น  และหลงลืมง่าย  ทำให้ลืมว่าต้องทำงานอะไรบ้าง

A : สมองของเราจะกำจัดเรื่องที่เข้ามาในสมองเป็นปกติอยู่แล้วดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจว่าการหลงลืมเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรใส่อารมณ์จนรู้สึกไม่พอใจ เพราะจะยิ่งทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทางแก้ก็คือบอกตัวเองว่าควรจดจำเรื่องที่สำคัญและกำจัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกจากสมองไปบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สมองและป้องกันความเครียด

Q : เปลี่ยนที่ทำงานบ่อยมาก  จนรู้สึกว่าตัวเองมีความอดทนต่ำ

A : ก่อนอื่นควรเลิกตำหนิตัวเองก่อน เพราะการมองตนเองในแง่ลบทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถทำสิ่งใดสำเร็จ จากนั้นให้ลองเขียนสิ่งที่เราไม่สามารถอดทนได้ลงในกระดาษ แล้วดูว่าเป็นปัจจัยภายในหรือภายนอก หากเป็นปัจจัยภายนอกเราคงไม่สามารถไปควบคุมได้ แต่หากเป็นปัจจัยภายใน เช่น ความคิดหรือทัศนคติเราก็ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นแง่บวกมากขึ้นและยอมรับความจริงวิธีนี้จะทำให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ชอบได้นานขึ้น

โรคคนวัยทำงาน,ไมเกรน, ปวดหัว, ออฟฟิศซินโดรม
หาเวลาทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้

Q : ทำงานในตำแหน่งประสานงานจึงต้องติดต่อกับเพื่อนร่วมงานทุกฝ่าย  แต่เพื่อนร่วมงานมักจับกลุ่มแบ่งพวก  ไม่ถูกกัน  ทำให้ยากต่อการติดต่องานและวางตัว

A : ต้องทำความเข้าใจว่าที่ทำงานคือสถานที่รวมตัวของคนหมู่มาก จึงไม่แปลกที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความชอบเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องปฏิเสธการรวมกลุ่ม แต่ควรมองหากลุ่มคนที่ไม่ใช้เราเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งไม่ดีและพูดคุยด้วยแล้วสบายใจ

นอกจากนี้ยังไม่ควรตัดสัมพันธ์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะทำให้ยากต่อการทำงานและเกิดความขุ่นข้องหมองใจทั้งสองฝ่าย

ขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 313


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คู่มือเช็ก + แก้ไมเกรน โรคฮิตคนทำงาน

ท่าบริหารง่ายๆ แก้ปวดเอว และไหล่ในที่ทำงาน

5 วิธีรักษา อาการปวด ของคนทำงาน

ลดสิว วัยทำงานด้วย 4 ท่าโยคะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.