Hugkram Indigo Handmood

Hugkram Indigo Handmood ทอรักถักใจผ้าฝ้ายย้อมคราม

Hugkram Indigo Handmood ทอรักถักใจผ้าฝ้ายย้อมคราม

Hugkram Indigo Handmood ร้านผ้าฝ้ายย้อมครามจากธรรมชาติดีไซน์แปลกตาไม่เหมือนใคร เกิดจากความใส่ใจและทุ่มเทของสองหนุ่มสาวยุคใหม่

คุณโอ๋ - ปิยรัตน์ สารเนตร และ คุณกอล์ฟ - อัษฎา ชุนหะวัฒนกิจ หนุ่มสาวยุคใหม่เจ้าของร้าน Hugkram Indigo Handmood ร้านผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมครามคือผู้ที่ตัดสินใจหันหลังให้งานประจำที่มีความมั่นคง เพื่อมาต่อชีวิตให้กับภูมิปัญญาผ้าย้อมครามจากธรรมชาติเล่าถึงที่มาของร้านให้ฟังว่า

“เดิมทีโอ๋กับกอล์ฟทำงานธนาคารด้วยกัน พื้นเพโอ๋เป็นคนจังหวัดสกลนครพอช่วงปีใหม่จึงซื้อผ้าย้อมครามมาฝากกอล์ฟและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ พอกอล์ฟเห็นเข้าก็รู้สึกสนใจ เพราะผ้าทั้งสวยและหอม จึงเริ่มซักถามที่มาและรายละเอียดต่าง ๆ

“ขณะนั้นเราทั้งคู่มีความคิดอยากทำธุรกิจอยู่แล้ว โอ๋จึงบอกกอล์ฟว่าผ้าครามนี้ราคาถูกมาก เราเอามาขายดีไหม อย่างน้อยก็ได้กำไรกว่าครึ่ง

“แนวคิดในการทำธุรกิจตอนนั้นคือการซื้อมาขายไป โดยคิดถึงกำไรเป็นหลัก ด้วยความที่เรามองจากมุมของนักธุรกิจล้วน ๆ จนลืมคำนึงถึงความรู้สึกของชาวบ้านไป

“ตอนนั้นโอ๋ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยความที่เป็นคนกลาง ทั้งยังเป็นคนในพื้นที่แต่กอล์ฟเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด และไม่เคยไปเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเลยให้ความสำคัญกับการทำกำไรเป็นหลัก

“หลังจากนั้นโอ๋จึงลองพูดคุยสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ จากเพื่อนที่เป็นทายาทกิจการผ้าย้อมคราม แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลมากนักด้วยเหตุนี้กอล์ฟจึงต้องเดินทางไปยังจังหวัดสกลนครด้วยตัวเอง

“เมื่อไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าย้อมครามก็แนะนำให้เราขึ้นไปที่หมู่บ้านเชิงดอยซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทำผ้าย้อมครามการเดินทางเป็นไปอย่างทุลักทุเล ด้วยทางค่อนข้างทุรกันดาร แต่พอไปถึง ชาวบ้านกลับมีท่าทีไม่อยากขายผ้าให้เรา ตอนนั้นเราทั้งคู่รู้สึกสงสัย แต่ก็ยังคงเก็บความสงสัยเอาไว้ ก่อนจะเดินทางไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ

“สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาที่หมู่บ้านเชิงดอย และหลังจากที่เราเริ่มสนิทสนมกับชาวบ้านจึงได้รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดชาวบ้านจึงไม่อยากนำผ้าออกมาให้เราดูในตอนนั้น โดยชาวบ้านเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีหลายคนที่เข้ามาติดต่อโดยหวังผลประโยชน์จากเขา บ้างมาสั่งให้ทอผ้าแต่ไม่มาเอา ในขณะที่บางคนกลับนำเอาลายผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาไปให้ที่อื่นทำเลียนแบบ

“เมื่อได้ทราบเช่นนี้ กอล์ฟจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด และบอกโอ๋ว่า เราจะต้องเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินธุรกิจ จะทำแบบหวังผลกำไรไม่ได้ เพราะหากเราไม่จริงใจเราก็จะไม่มีวันได้ใจชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้กอล์ฟจึงกลับมาลาออกจากงานประจำ”

หลังจากที่คุณกอล์ฟตัดสินใจละทิ้งความมั่นคงจากงานประจำ เส้นทางของธุรกิจผ้าย้อมครามขนาดเล็กนี้ก็เริ่มต้นขึ้นโดยคุณกอล์ฟเล่าว่า

“ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดจะลาออกอยู่หลายครั้ง แต่ยังหาธุรกิจที่เหมาะสมไม่ได้เนื่องจากผมทำงานด้านสินเชื่อมาก่อน ผมจึงค่อนข้างกลัวความเสี่ยง ต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของธุรกิจต่าง ๆ ในหลากหลายด้านจนกระทั่งมาเจอธุรกิจย้อมครามที่เบื้องต้นเราเข้าไปเพื่อหวังผลกำไร แต่เมื่อเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความยากลำบากกว่าจะมาเป็นผ้าสักผืน ความต้องการจะทำกำไรก็หายไปหมด

“หลังจากนั้นผมก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับผ้าย้อมครามอย่างจริงจังเป็นระยะเวลากว่า สองเดือน ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจด้วยการกลับไปที่หมู่บ้านวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพี่โอ๋

“ผมจำได้ว่าภาพที่เห็นคือศาลาที่ชาวบ้านเคยนั่งรวมกลุ่มทอผ้ากลายเป็นศาลาร้างเหลือเพียงอุปกรณ์ทอผ้าหัก ๆ ที่มีหยากไย่เกาะ ผมคิดว่ากลุ่มทอผ้าของชาวบ้านไม่ควรมีสภาพแบบนี้ เพราะเขามีฝีมือมาก อีกอย่างถ้าหมดชาวบ้านรุ่นนี้ ใครจะมาสืบทอดภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจอย่างนี้ต่อไป เพราะเด็ก ๆ ก็ไม่ทอผ้าแล้ว ผมจึงอยากทำให้พวกเขากลับมาทอผ้าอีกครั้ง ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเห็นว่ารุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขาทำแล้วมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองโดยไม่ต้องเข้ามาดิ้นรนในเมืองใหญ่

“เราจึงให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทอผ้าอีกครั้ง โดยเราจะรับซื้อผ้าทั้งหมดไว้ ตอนนั้นชาวบ้านคึกคักกันมาก ใช้เวลาทอผ้าจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้ได้ผ้าที่คุณภาพไม่ดีนัก ตอนนั้นเรากว้านซื้อผ้าจนเงินหมดแต่ผลตอบรับจากลูกค้ากลับไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากสินค้าของเราเหมือนกับผ้าย้อมครามเจ้าอื่นในตลาด

“เราจึงกลับมาระดมความคิดกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นเอกลักษณ์ และได้ข้อสรุปว่าเราจะออกแบบลายผ้าเฉพาะของร้านขึ้นมา ก่อนจะนำไปให้ชาวบ้านทอ พร้อมกับบอกชาวบ้านว่า เราอยากได้ผ้าทอที่เป็นการทำมือทุกขั้นตอนตั้งแต่การเข็นมือฝ้ายไปจนถึงการย้อมที่ใช้สีจากธรรมชาติ

“เบื้องต้นเราตั้งใจจะทำเพียงผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่ แต่ลูกค้าและคนรอบข้างก็แนะนำให้เอาผ้าทอมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เราจึงกลับไปที่หมู่บ้านวาใหญ่ และเข้าไปติดต่อหาช่างตัดเย็บที่ศูนย์พัฒนาอาชีพสตรีของอำเภออากาศอำนวย และได้เจอกับพี่คนหนึ่งที่เข้าใจและสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน Hugkram ได้”

แม้ว่าร้าน Hugkram จะเปิดได้เพียงไม่นานนัก แต่ผลตอบรับจากลูกค้าในปัจจุบันกลับเป็นที่น่าพึงพอใจด้วยเอกลักษณ์ของร้านและความใส่ใจที่ถ่ายทอดผ่านผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น

“จุดเด่นของร้านเราคือ หนึ่งกระบวนการที่เป็นธรรมชาติทุกขั้นตอนรวมไปถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสี ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ สองคือ ดีไซน์เสื้อผ้าที่แตกต่าง เพราะเราทั้งคู่ไม่มีความรู้ด้านการออกแบบมาก่อน Hugkram จึงเริ่มออกแบบจากความชอบส่วนตัวก่อน ซึ่งเราคิดว่าจะทำยังไงให้ผ้าทอมือที่คนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่าไม่ทันสมัย ให้เขามีมุมมองใหม่ ๆ กับผ้าไทยที่เราควรภาคภูมิใจ ให้ดูใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกอย่างก็เกิดจากการหยิบนู่นจับนี่มาผสมกัน จึงได้เสื้อผ้าที่ออกจะดูแปลกตา และแตกต่างจากเสื้อผ้าในท้องตลาด”

อีกหนึ่งความน่าสนใจของแบรนด์ Hugkram Indigo Handmood คือแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของผู้ก่อตั้งอย่างคุณโอ๋และคุณกอล์ฟ

“เราพยายามเติบโตอย่างค่อยเป็น-ค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด เพราะมิเช่นนั้นชาวบ้านจะตามเราไม่ทัน เพราะพวกเขาดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างแท้จริง อาชีพหลักของ

ชาวบ้านคือการทำนา แม้พวกเขาจะรู้ว่ารายได้ที่มาจากการทอผ้านั้นมากกว่า แต่ก็ยังไม่ละทิ้งวิถีชีวิตการทำนา แต่จะทอผ้าเมื่อเว้นว่างจากงานนาเท่านั้น เรียกได้ว่าธุรกิจของเราเติบโตอย่างพอเพียง เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับวิถีพอเพียงของชาวบ้านนั่นเอง”

หากเราทำสิ่งใดด้วยความรักและความเอาใจใส่ สิ่งนั้นย่อมให้ผลงดงามเสมอ


ขอขอบคุณสถานที่

ร้าน SOMETHIN’ ELSE bar & restaurant

https://www.facebook.com/somethinelsebar

Posted in Uncategorized
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.