แก้โรคซึมเศร้า
Before & After เคล็ดลับบอกลา แก้โรคซึมเศร้า
ซึมเศร้า จัดเป็นโรคร้ายอันดับสามที่คุกคามคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 สถิติการเจ็บป่วยของโรคนี้จะขยับขึ้นมาเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจแซงไปเป็นอันดับหนึ่งได้ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น เราจึงนำวิธีการรับมือ แก้โรคซึมเศร้า ของท่านหนึ่งมาให้ได้อ่านกันค่ะ
แด่ฉันที่เป็นโรคซึมเศร้า
ชีวจิต ขอหยิบยกประสบการณ์ของเพื่อนร่วมโลกใบใหญ่ผู้เข้มแข็ง คุณไขศรี วิสุทธิพิเนตร หรือ คุณหญิง ผู้ชนะการประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557 ประเภทสารคดียอดเยี่ยม จากหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสะเทือนอารมณ์แฝงแง่คิดเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่ป่วยเป็นโรค ซึมเศร้า
คุณหญิงป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” นานกว่า 7 ปี โดยได้ดูแลตัวเองแบบลองผิดลองถูกบางครั้งล้มเหลวจนท้อแท้สิ้นหวัง แต่ยังกัดฟันสู้จนสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาอันแสนเจ็บปวดนั้นมาได้ กระทั่งกลายเป็นคนใหม่ที่เข้มแข็ง
เธอยินดีถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองทั้งก่อนและหลังการรักษาเพื่อเป็นคู่มือในการสู้โรค ซึมเศร้า ซึ่งจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและช่วยให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเอาชนะโรคซึมเศร้าได้
รู้จักโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดจากการที่บุคคลต้องประสบสถานการณ์อันเลวร้ายต่าง ในชีวิต ทำให้เกิดผลเสียต่ออารมณ์ ความรู้สึก เช่น เกิดความเศร้า โดยอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และยังเกิดผลเสียต่อสุขภาพกายตามมา เช่น มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอกจนไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>
1. ความร่วมมือและจิตใจที่มุ่งมั่น
การจะพิชิตโรคซึมเศร้าได้นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจอาการของโรคและพร้อมที่จะเรียนรู้ความผิดปกติต่าง เพื่อสามารถให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาได้อย่างเต็มที่
BEFORE
หลังจากสูญเสียลูกจากภาวะครรภ์ไม่สมบูรณ์ประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่ ปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างคุณหญิงกับพ่อแม่ที่เรื้อรังมาเนิ่นนานรวมทั้งปัญหาสุขภาพจากอาการหายใจเร็วเกินไป(Hyperventilation Syndrome) ซึ่งเป็นการแสดงออกของร่างกายเมื่อเกิดเรื่องกระทบจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่น
ปัญหาเหล่านี้มีผลต่อจิตใจอย่างมหาศาลทำให้เธอกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่อยากพบเจอใครไม่อยากทำงาน ความผิดปกตินี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก เธอจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และคุณหมอได้วินิจฉัยว่า เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ทันทีที่เข้ารับการบำบัด สมองของเธอเต็มไปด้วยคำถาม ความไม่เข้าใจ ทั้งตัวโรค ตนเองหรือแม้กระทั่งคนรอบข้าง ดังที่เธอกล่าวในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า
“…ไม่เข้าใจในการรักษาโรคจิตเวช ไม่เข้าใจโรคที่ตัวเองเป็นว่ามันคืออะไร เกิดจากอะไร และเริ่มต่อต้านการรักษา ต่อต้านการกินยา”
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เธออยากยอมแพ้โรคซึมเศร้า เพราะยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก (ซึ่งจะลงรายละเอียดในหัวข้อต่อไป) การทำจิตบำบัดก็ไม่ทำให้คุณหญิงรู้สึกว่ากำลังได้รับการรักษา
“เกือบชั่วโมงกับการบำบัด ช่วงท้ายๆ ฉันเริ่มไม่สนใจและไม่จำแล้วว่านักจิตบำบัดพูดอะไรมันเบื่อ ไม่อยากฟัง ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่อยากร้องไห้ให้ใครเห็น ร้องไห้แล้วมันเหนื่อย มันล้ามันหดหู่ การทำจิตบำบัดจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เข้าใจและไม่อยากทำอีก”
เพราะความไม่เข้าใจทำให้การรักษาในรอบแรกไม่ประสบความสำเร็จ เธออยากล้มเลิกการรักษาซึ่งทำให้อาการของเธอยิ่งแย่ลง

ความมุ่งมั่น ตั้งใจ หัวใจสำคัญของการบำบัดอาการโรคซึมเศร้า
AFTER
เมื่อต้องจมอยู่กับอาการซึมเศร้าเป็นเวลานาน คุณหญิงจึงอยากเอาชนะโรคร้ายนี้ให้ได้ ซึ่งทำให้เธอเล็งเห็นความผิดพลาดจากการบำบัดรอบแรก นั่นก็คือ ความไม่รู้และความไม่เข้าใจ
เธอจึงใช้เวลาว่างหาข้อมูล ปรับทัศนคติ และคุยกับหมอให้มากขึ้นจนทราบว่า เธอมีอาการของโรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว หรือ Bipolar Disorder Type II จึงทำความเข้าใจกับโรคนี้และเปิดใจรับการรักษามากขึ้น
“ประสบการณ์การรักษาพอจะบอกได้ว่า ผู้ป่วยอย่างเราต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงของตัวเองอยู่เสมอ จดบันทึกไว้เลยยิ่งดี แล้วนำกลับมาคุยกับหมอ หมอจะได้ปรับยาให้เหมาะสมและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด”
คุณหญิงพยายามจดบันทึกอาการต่างๆ สังเกตร่างกายและจิตใจตัวเองอยู่เสมอ ทำให้การพูดคุยกับหมอในการบำบัดรอบสองเต็มไปด้วยความเข้าใจตัวเธอเองก็มีส่วนร่วมในการบำบัดมากขึ้น อย่างที่เธอได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า
“…ไม่ใช่เป็นแค่คนไข้ที่รอหมอสั่งยาให้กินอย่างเดียว…”
“…วันนี้ฉันเริ่มรู้สึกต่างออกไป กระตือรือร้นไปพบหมอน้อยลง หมอค่อยๆ ถูกลดความเป็นคนสำคัญในชีวิตลงไป พอสารภาพออกมา หมอกลับบอกว่า มันเป็นสัญญาณดี ไม่ใช่ไม่ดี แสดงให้เห็นว่าฉันสามารถดำเนินชีวิตปกติได้โดยไม่ต้องมีการทำจิตบำบัด…”
ความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อมเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นับว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ก่อนที่เพื่อนผู้เข้มแข็งคนนี้จะบอกลาโรคซึมเศร้า
<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>
2. ยานั้นสำคัญไฉน
โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากภาวะจิตใจที่ผิดปกติเพียงอย่างเดียว แต่มีอาการป่วยทางกายด้วย ยาจึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาพอสมควร
โรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder Type II)
คือ โรคซึมเศร้าที่ไม่ได้มีแค่อารมณ์ซึมเศร้าอย่างเดียว ในทางกลับกันเวลาไม่เศร้าจะร่าเริง เบิกบาน คึกคักเกินเหตุ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะมีความอ่อนแอแฝงอยู่ในตัวตน แต่ความจริงแล้วคนที่ดูเข้มแข็ง คึกคัก ร่าเริง ไฮเปอร์ ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงโดยเฉพาะแบบอารมณ์สองขั้ว
BEFORE
การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ส่งผลต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เธอมีอาการท้องผูกรุนแรงและผิวแห้ง จนมีความรู้สึกต่อยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าในแง่ร้าย ดังที่เธอเล่าในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า
“…ยายังทำให้มีอาการท้องผูกอย่างหนัก จากเป็นคนถ่ายยากอยู่แล้ว แต่ไม่เคยท้องผูกนานเกินสามวัน กลายเป็นท้องผูกอยู่นานเกือบสองสัปดาห์ทรมานเพราะท้องอืด แล้วยังมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ฉันรำคาญอาการท้องผูกมาก…
“…ฉันเข้าใจเหมือนอีกหลายคนที่ชอบพูดว่า หมอให้ยากล่อมประสาททำให้เบลอ ง่วง จะได้ไม่ต้องคิดอะไรมาก มันก็ไม่เศร้าและไม่คิดอะไรมากจริงๆ (เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอน) แล้วก็ยังเชื่อเหมือนอีกหลายคนว่า ยาทำลายสมอง ทำให้ความจำแย่ลง คิดอะไรไม่ออก เป็นสาเหตุให้ทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบเคยทำไม่ได้…”
เมื่อไม่เข้าใจโรคและการรักษาดีพอ ประกอบกับนิสัยที่ไม่ชอบกินยาอยู่แล้ว แถมมีอาการท้องผูกอย่างหนักร่วมด้วย คุณหญิงจึงต่อต้านการกินยาและตัดสินใจหยุดยาเอง และการหยุดยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้เอง ทำให้เธอต้องพบกับผลเสียที่ร้ายแรง
“หลังจากหยุดยาฉันร้องไห้หนักมากกว่าเดิม ร้องแบบเหมือนจะขาดใจตาย มีอาการเกรี้ยวกราด หงุดหงิดง่าย โมโหแรงมากถึงขั้นร้องกรี๊ดๆ ทะเลาะกับแม่ถี่ขึ้น จากเดิมที่ทะเลาะกันบ่อยอยู่แล้ว บางครั้งก็ทำลายข้าวของ จำได้ว่า เคยนั่งเอาค้อนทุบเครื่องบันทึกเทป ทุบๆๆ จนมันแตกเป็นเสี่ยงและรู้สึกสะใจ”
การหยุดยาส่งผลให้เธอแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวซึ่งกลายเป็นช่องทางให้อารมณ์คุกรุ่นที่เก็บไว้ระเบิดออกมา ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เหมือนกับการสะดุดล้มครั้งใหญ่ที่เกือบทำให้เธอท้อแท้ ล้มเลิกการรักษา

ยาช่วยปรับสมดุลอารมณ์ ความรู้สึก ให้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
AFTER
เมื่อคุณหญิงปรับทัศนคติเรื่องยาแล้วหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับโรคและกระบวนการรักษามากขึ้นจึงค้นพบว่า ยามีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เธอเล่าไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า
“…หมออธิบายไว้ว่า ยารักษาอาการซึมเศร้าไม่ได้ทำลายสมอง กลับช่วยปกป้องสมองด้วยซ้ำ…และอธิบายเพิ่มว่า โรคซึมเศร้ายังเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitter) อีก 3 ชนิด ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของคนเราทั้งนั้น นั่นคือเซโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และหากเกิดความแปรปรวนไม่สมดุลจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ”
จากการพูดคุยกับคุณหมอนี้เอง ทำให้คุณหญิงเข้าใจว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ และยารักษาโรคซึมเศร้า สามารถปรับระดับสารสื่อประสาท ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดให้กลับสู่สมดุลได้ จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
ในการบำบัดรอบสอง เธอจึงเปิดเผยถึงอาการข้างเคียงต่างๆ กับหมออย่างตรงไปตรงมาแล้วให้คุณหมอปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมแทนการลดยาหรือหยุดยาเอง
“สุดท้ายหมอเลยเปลี่ยนยาอีกตัวหนึ่งให้แทนซึ่งค่อนข้างถูกโรคกับฉัน อาการข้างเคียงอย่างปากคอแห้ง ผิวแห้ง หรือท้องผูกหายไป นอนหลับดีขึ้น”
เมื่อไม่ต่อต้านการรักษา แล้วหันมาพูดคุยกับคุณหมอสม่ำเสมอ และไม่มองข้ามอาการข้างเคียงต่างๆ จึงช่วยให้เธอเข้าใจขั้นตอนการรักษาและช่วยให้การรักษาด้วยยาครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>
3. สิ้นรักและศรัทธาในมนุษย์
สำหรับใครหลายคนความรักเป็นสิ่งสวยงาม ซึ่งคุณหญิงโหยหามาตลอด เพราะพื้นฐานครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อกับแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ มิหนำซ้ำแม่ยังรักและใส่ใจน้องชายมากกว่าเธอ
เมื่อไม่ได้รับความรักจากครอบครัว เธอจึงแสวงหาความรักจากผู้อื่นเพื่อเติมเต็มช่องว่างภายในใจมาโดยตลอด
BEFORE
คุณหญิงบอกว่า เธอเป็นคนขี้เหงามาก ช่วงวัยรุ่นเริ่มดิ้นรนอยากมีแฟน พอมีแฟนก็จะติดแฟนมาก แต่ไม่เคยคบใครนานเกินหนึ่งปี เพราะมักจะเบื่อและขอเลิกกับเขาไปเอง ส่วนใหญ่จะขอเลิกเมื่อถึงจุดที่รู้ว่าเขารักเธอแน่ ๆ แล้ว
บางคนถึงขั้นคาดหวังการแต่งงานมีครอบครัว ถ้าความสัมพันธ์เดินมาถึงจุดนี้ เธอจะรีบหยุดทันที เพราะคิดว่า เลิกรักตอนที่เขายังรักเธออยู่ดีกว่าการเป็นคนไม่ถูกรักในวันข้างหน้า ซึ่งเธอบอกว่าเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวมาก
เมื่อเธอตั้งครรภ์กับคนที่เธอคิดว่าจะใช้ชีวิตด้วย กลับต้องผิดหวังเพราะผู้ชายคนนั้นเปลี่ยนไปและไม่สนใจเธอ คุณหญิงจึงทุ่มเทความรักทั้งหมดให้กับลูก เพราะมั่นใจว่าสามารถเลี้ยงลูกได้เอง แต่เธอกลับต้องผิดหวังและเสียใจอย่างรุนแรง เมื่อลูกซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตกลับจากไปตอนเธอตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน บวกกับคนที่เธอไว้ใจมาโกงเงินไป ทำให้เธอยิ่งรู้สึกเสื่อมศรัทธาในมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเธอกล่าวไว้ในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า
“การเสื่อมศรัทธามันลึกยิ่งกว่าความเศร้า มันรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปท่ามกลางผู้คนก็ไร้ซึ่งความวางใจเราจะโดนทำร้ายอีกเมื่อไรไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าอยู่เลย ตายเสียดีกว่า”ส่งผลให้อาการซึมเศร้าของเธอยิ่งทวีความรุนแรงจนคิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง

การรู้จักปล่อยวาง มองโลกตามความเป็นจริง จะทำให้ใจเป็นสุข ห่างไกลโรคซึมเศร้า
AFTER
หลังผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายและอาการซึมเศร้ามาได้ มุมมองเรื่องความรักและความสัมพันธ์ของคุณหญิง ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เธอบอกว่า ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวดีขึ้นมาก เพราะการมองโลกตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลช่วยให้เธอทำใจยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
เมื่อได้อ่านจดหมายที่พ่อเขียนไว้ก่อนเสียชีวิต จึงทำให้เธอเข้าใจและรักพ่อมากขึ้น ส่วนเรื่องที่แม่ลำเอียงรักน้องมากกว่าเธอ ก็เข้าใจแม่มากขึ้นว่า ท่านคงมีปัญหาบางอย่างในใจและยอมรับได้โดยไม่รู้สึกเสียใจเหมือนก่อน เธอใช้เหตุผลในเรื่องของความรักมากกว่าอารมณ์ สามารถอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุขและไม่กลัวความเหงาเหมือนก่อน หากมีใครเข้ามาในชีวิตจะใช้เหตุผลพิจารณามากขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่ามีกำแพงที่สูงขึ้นและมีระยะห่างกับคนที่เข้ามา แต่ไม่ถึงขั้นปิดกั้นตัวเองโดยมองโลกตามความเป็นจริง ไม่คาดหวังไม่ยึดติด ซึ่งทำให้ใจเธอมีสุข ไม่เป็นทุกข์ เพราะรู้จักปล่อยวาง
<< อ่านต่อหน้าที่ 5 >>
4. ลูกที่ลืมไม่ได้
จากที่กล่าวไปก่อนหน้าว่าคุณหญิงต้องสูญเสียลูกไปเพราะครรภ์ไม่สมบูรณ์ เป็นเหตุให้แพทย์ต้องยุติการตั้งครรภ์ “ลูก” จึงกลายเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ทำให้เธอจมจ่อมอยู่กับความเศร้า ต่อให้วันเวลาผ่านไปนานเท่าใดเธอก็ยังไม่สามารถตัดความคิดถึงและความรู้สึกผิดที่มีต่อลูกออกไปได้เสียที
BEFORE
“…ภาพที่ยังติดตามาถึงตอนนี้คือหน้าของลูก เราขอดูตอนลูกออกมาเมื่อคืน อยากเห็นหน้า จำหน้าไว้ตลอดชีวิต คิดถึงลูกมาก อยากให้เขายังอยู่ในท้องเรา อยากเห็นเขาออกมา ได้เลี้ยง ได้อุ้ม ได้กอด…
“…เรามึนๆ เกาะลูกกรงสักพักรู้สึกมีอะไรปรู๊ดออกมาเลย กดเรียกพยาบาล เขามาดูและบอกว่าเด็กออกมาแล้ว เป็นผู้ชาย หนักเกือบสามร้อยกรัม เราขอดูลูก อยากจำหน้าไว้ตลอดไป รู้ว่าจะไม่มีวันลืมหน้าลูกไปตลอดชีวิต ลูกตัวยาวประมาณห้าหกนิ้ว แขนขาเป็นปกติทุกอย่างจนเรารู้สึกผิดมาก เพราะเขาไม่ได้ผิดปกติอะไรเลย แต่เราต่างหากเป็นคนผิด…”
คือเนื้อหาในบันทึกประจำวันของคุณหญิง ช่วงที่กำลังจะเสียลูกไป ซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดและคำกล่าวโทษตัวเอง เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เธอยังคงเพรียกถึงสมบัติแท้จริงเพียงอย่างเดียวที่มีในชีวิตนั่นก็คือ “ลูก” ปมฝังใจเรื่องลูกจึงทำให้คุณหญิงออกจะขยาดการเริ่มต้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เธอต้องข้ามผ่านไปให้ได้
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า
ศาสตราจารย์ นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าไว้ดังนี้
- อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้น
- ยาทุกชนิดทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ จึงควรใช้ยาตามขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น
- ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่กล้ากินยาซึ่งมีปริมาณมากตามที่แพทย์สั่งหรือกินบ้างหยุดบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ความจริงแล้วยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ทำให้เกิดการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบายนั่นเป็นเพราะยังไม่หาย การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาด ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและทำได้ยากมากขึ้น

การเขียนระบายความรู้สึกในใจช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้
AFTER
การบ้านชิ้นแรกที่คุณหญิงได้รับเมื่อเข้ารับการบำบัดรอบสองคือ “จดหมายลาลูก” โดยใช้วิธีเขียนเพื่อระบายสิ่งที่ติดค้างในใจของเธอต่อลูกออกมา
“ฉันรู้สึกใจหายกับการบอกลาคนที่อยู่ในใจฉันมาตลอดห้าปี” นี่คือความรู้สึกของคุณหญิงก่อนจะรวบรวมความกล้าจรดปลายปากกาถึงลูกที่ล่วงลับ
“…ต้องขอบคุณลูกมากที่ทำให้แม่ได้เผชิญกับช่วงเวลาที่อ่อนแอที่สุดและช่วงเวลาแห่งความสูญเสีย เพื่อให้แม่มีโอกาสเป็นคนเข้มแข็งมากขึ้น…
“สุดท้ายอยากบอกว่า ขอให้ลูกไปอยู่ในภพภูมิที่ดี เราไม่จำเป็นต้องกลับมาเจอ หรือไม่อยากขอให้ต้องกลับมาเป็นลูกแม่อีกเพื่อให้โอกาสกับแม่ แต่ขอให้ลูกได้เจอกับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม”
ถ้อยคำอำลาในจดหมายบ่งบอกว่าคุณหญิงสามารถยอมรับความเจ็บปวดที่ผ่านมาในอดีตได้แล้ว ไม่มีจิตที่อยากเหนี่ยวรั้งลูกที่จากไปแล้วเอาไว้กับตัวอีกต่อไป จิตใจของเธอเต็มไปด้วยความปรารถนาดีและปล่อยวางความผิดพลาด
เมื่อเธอยอมปล่อยมือจากอดีต ขาทั้งสองจึงสามารถก้าวมายืนในปัจจุบันและเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าได้อย่างเข้มแข็งขึ้น
<< อ่านต่อหน้าที่ 6 >>
เพื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้น เรามี คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลและผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
Dos
- หลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกหดหู่ เช่นน่าสงสารจัง ทำตัวน่าเบื่อจัง เป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือคิดไปเองหรือเปล่า เป็นต้น
- ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบและรู้สึกดี เช่น เดินเล่นที่สวนสาธารณะ ไปเที่ยวทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน
- หากผู้ป่วยพูดถึงเรื่องอยากตาย อย่าบอกว่า อย่าคิดมาก ให้เลิกคิด หรืออย่าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแต่ควรให้ผู้ป่วยพูดระบายออกมาจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น
- ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามาก หากยังทำอะไรไม่ได้ ควรให้พักผ่อนดีกว่าบังคับให้ทำอะไรโดยที่ยังไม่พร้อม
Don’ts
- คิดว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ รู้สึกสิ้นหวังต้องรับความกดดันเพียงผู้เดียว
- เก็บตัวอยู่คนเดียว เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ
- ตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หากกำลังมีอาการป่วย ควรพักผ่อนร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
- ไม่กินอาหาร อดนอน และไม่ออกกำลังกาย
- นาฬิกาชีวิตที่ผิดพลาด
สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ต้องประสบพบเจอกันทุกคนคือ ความผิดปกติในการนอนหลับ

การบำบัดรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับโรคได้อย่างมีความสุข ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
BEFORE
คุณหญิงบอกว่า เธอเป็นคนไม่มีวินัย ชอบทำอะไรตามใจตนเองมาโดยตลอด มีเวลานอนที่ไม่ปกติ นึกอยากนอนตอนไหนก็นอน ไม่อยากนอนก็ไม่นอน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ
เธอบอกว่า ตอนอายุยังน้อย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนนัก แต่พออายุมากขึ้น บวกกับผลกระทบจากโรคและการรักษา ส่งผลให้สมองทำงานช้าลงความจำแย่มาก เกิดความเครียดง่ายขึ้นกว่าเดิม และน้ำหนักขึ้น
เมื่อเธอได้ปรึกษาคุณหมอและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการนอนหลับ จึงพบคำอธิบายว่า ตามธรรมชาติร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินที่ทำงานได้ดีในความมืดมิดยามกลางคืน ซึ่งช่วยให้หลับสนิทและตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นในตอนเช้า แต่หากเรายังทำงานอยู่ภายใต้แสงสว่างในยามค่ำคืน ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินผิดปกติ ส่งผลให้โรคซึมเศร้ากำเริบมากขึ้น
คุณหญิงจึงต้องสร้างวินัยในการนอนให้เป็นปกติ ซึ่งมีส่วนช่วยให้อาการโรคซึมเศร้าดีขึ้น
เมื่อคุณหญิงค่อยๆ ปรับนาฬิกาชีวิตหรือจังหวะชีวภาพ (Biological Rhythms) ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้มีวินัยมากขึ้น กิจวัตรประจำวันของเธอก็เปลี่ยนไป คือ เข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่มและตื่นตีห้าเป็นประจำ เพื่อให้ทันเวลาเข้างานซึ่งเธอบอกว่ายังไม่เคยไปทำงานสายเลยสักครั้ง
การเข้านอนเร็วและตื่นเช้าจนเป็นกิจวัตร ช่วยให้เธอรู้สึกสดชื่นเพราะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สมองปลอดโปร่งทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว มีอารมณ์เบิกบาน สดใส นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวพรรณดูสวยสดใสขึ้นอีกด้วย
ทุกวันนี้คุณหญิงสามารถอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้าได้อย่างมีความสุข ทั้งยังเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งการกระทำของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น ต้องขอบคุณการบำบัดและความเข้าใจโรคที่มีส่วนช่วยให้เธอได้ชีวิตปกติกลับคืนมา
และหวังว่า เรื่องพิเศษ ในปักษ์นี้จะเป็นแรงใจหนุนนำให้เพื่อนที่ร่วม (โรค) เผชิญหน้ากับอาการซึมเศร้าเอาชนะไปด้วยกัน
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 392
บทความน่าสนใจอื่นๆ





ชนะเครียด หยุด โรคซึมเศร้า เราทำได้
อาหารต้านโรคซึมเศร้า ปรับอารมณ์ด้านลบสู่ด้านบวก
ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่
เห็ดเมา สารเสพติดจอมวายร้าย หรือ พระเอกช่วยรีเซ็ตสมองผู้ป่วยซึมเศร้า
เห็ดเมา สารเสพติดจอมวายร้าย หรือ พระเอกช่วยรีเซ็ตสมองผู้ป่วยซึมเศร้า จับปาร์ตี้เห็ดเมา การกินเห็ดเมาทำให้ประสาทหลอนรุนแรง กินเห็ดเมาแล้วอาเจียนเป็นเลือด สารพัดข่าวทำให้เห็ดเมา ตกเป็นผู้ร้าย แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าใช้อย่างถูกวิธี สารออกฤทธิ์หลอนประสาทที่พบใน เห็ดเมา สามารถปรับสภาพและจัดระเบียบสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่ไม่มีทางรักษาให้มีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นความหวังต่อการรักษาโรคทางจิตเวชนี้ในอนาคต คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่า ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มทดลองขนาดเล็กที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 19 คน โดยได้ให้ยาซิโลซายบิน (Psilocybin) ซึ่งสกัดจากเห็ดเมา 1 ครั้งแก่ผู้ป่วยทุกคน และมีการสแกนตรวจดูลักษณะการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา 1 วันด้วย ผลปรากฏว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองครึ่งหนึ่ง ไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังสร่างเมาจากยาแล้ว และสมองบางส่วนมีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยสามารถคงภาวะที่มีอาการดีขึ้นนี้ไว้ได้นานราว 5 สัปดาห์ ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่า ยาซิโลซายบินซึ่งสกัดจากเห็ดเมาเป็นเสมือน “สารหล่อลื่นทางจิตประสาท” ที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้สามารถชี้ได้ว่า คนไข้ที่รับยาดังกล่าวจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่สมอง 2 ส่วน คือที่ส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับการจัดการความรู้สึกกลัวและกังวล กับส่วนเครือข่ายประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อสมองพักผ่อน (Default-Mode Network – DMN […]
Before & After เคล็ดลับบอกลาโรค ซึมเศร้า
ซึมเศร้า จัดเป็นโรคร้ายอันดับสามที่คุกคามคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 สถิติการเจ็บป่วยของโรคนี้จะขยับขึ้นมาเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจแซงไปเป็นอันดับหนึ่งได้ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น
ชนะเครียดหยุด โรคซึมเศร้า เราทำได้
ชนะเครียดหยุด โรคซึมเศร้า เราทำได้ ปัจจุบันข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ระบุชัดว่า ปัจจัยหลักของ โรคซึมเศร้า เกิดจาก การเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอกจากรับการรักษาด้วยยา จากจิตแพทย์แล้ว การปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย และพักผ่อน จะช่วยให้มีผล การรักษาดีขึ้นด้วย ชีวจิต มีโอกาสได้พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำเสนอแนวทางในการ ฟื้นฟูสุขภาพกาย – ใจ ดังนี้ ซึมเศร้า – นอนไม่หลับ บำบัดได้ด้วยเทคนิคซีบีที คุณหมอทานตะวันอธิบายว่า เทคนิคซีบีที สามารถนำไปใช้ใน การบำบัดอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในผู้ป่วยซึมเศร้า เช่นกัน “ตามปกติเมื่อร่างกายของเราเข้าสู่สภาวะผ่อนคลายจะนอนหลับ ได้ตามธรรมชาติ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ เมื่อสอบถามและ ซักประวัติแล้วพบว่า มีหลายคนที่ตั้งใจเข้านอนและอยากนอน ให้หลับมากเกินไป ยิ่งบังคับตัวเองให้หลับก็ยิ่งเครียด ร่างกาย ก็ไม่ผ่อนคลาย แบบนี้ย่อมทำให้นอนไม่หลับแน่นอน” คุณหมอทานตะวันแนะนำว่า ควรรู้เท่าทันความคิดลบของ ตนเองให้ได้ว่า สาเหตุที่นอนไม่หลับเพราะเกิดความกลัวและความเครียด […]
เปลี่ยน ‘ จิตตก ‘ เป็น ‘จิตฟู’ ลดอาการ โรคซึมเศร้า ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี
ในยุคที่สังคมนิยมแสวงสุข แต่ผู้คนกลับเศร้าง่าย โรคซึมเศร้ากำลังคร่าชีวิตคนไทยทีละนิด ( โรคซึมเศร้า ข้อคิดจากท่าน ว.วชิรเมธี )
วิธีเอาชนะโรคซึมเศร้า เมื่อความหนาวมาเยือน
วิธีเอาชนะโรคซึมเศร้า ประสบการณ์จากผู้ป่วยท่านหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาการซึมเศร้าของเธอ มักจะแสดงชัดเจนเมื่อเข้าฤดูหนาว