เทศกาลเจ
ประวัติเทศกาล กินเจ ความศรัทธาที่ถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมการกิน
กินเจ กินทำไม กินเพื่ออะไร เข้าสู่เดือนตุลา คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะเข้าใจดีกว่าในเดือนนี้จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่าเทศกาล กินเจ อยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แพร่หลาย แม้แต่คนไทยพุทธหรือบุคคลทั่วไปเริ่มสนใจการกินเจนี้มากขึ้นทุกปี วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำข้อมูลของเทศกาลกินเจมาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่เพิ่งสนใจหรืออยากจะร่วมกินเจ ได้เข้าใจถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของเทศกาลนี้ให้มากขึ้น ความเป็นมาของการกินเจ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง การกินเจ คือ พิธีกรรมที่พุทธบริษัทไทยเชื้อสายจีนถือปฏิบัติมาแล้วนับสิบ นับร้อยปี เทศกาลกินเจ ตรงกับ วันที่ 1 เดือน 9 ถึงวันที่ 9 เดือน 9 ตามจันทรคติ ของปฏิทินจีน พุทธบริษัทจีนจะไม่กินเนื้อสัตว์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทำให้ได้ช่วยชีวิตสัตว์ไว้ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีการฆ่าสัตว์น้อยลง ผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจะพากันสละกิจโลกียวัตร และ พากันนุ่งห่มเสื้อผ้าสีขาวเข้าวัด เข้าโรงเจ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนบำเพ็ญศีลสมาทาน ทำบุญทำทาน ถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน เจ มาจากคำในภาษาจีนมีความหมายทางพระพุทธศาสนาว่า “อุโบสถ” และคำว่ากินเจ ตามความหมายที่แท้จริงก็คือการกินอาหารก่อนเที่ยงวัน หรือชาวพุทธศาสนาถือ “อุโบสถศีล” ที่เรียกว่า การรักษาศีล 8 ของคฤหัสถ์ นั่นเอง การกินเจนั้น หลายคนคิดว่าเป็นเพียงแค่การละเว้นเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การละเว้นเนื้อสัตว์ ยังมีข้อปฏิบัติอีกหลายอย่างที่จะต้องปฏิบัติในในช่วงเทศกาลกินเจ การกินเจ คือ การบริโภคแต่อาหารจำพวกพืชผัก และ ผลไม้เป็นหลัก ไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นหอม หรือ เผ็ดร้อนอันจะนำมาซึ่งกามกิเลส เช่น หัวหอม กระเทียม ละเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งการเบียดเบียนเดือดร้อนให้เกิดแก่สัตว์โลก คือการไม่เอา ชีวิต เลือด เนื้อของสัตว์โลกให้มาเป็นของเรา โดยทั่วไป ผู้ที่จะเข้าสู่เทศกาลนี้ จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมพอสมควร นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ผู้ที่ถือเคร่ง จะไม่ข้องแวะทางโลกียวิสัย คิด และ ทำแต่สิ่งที่ดี ระมัดระวังสำรวมในการพูดจา รักษาศีล 5 รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ ทำบุญ ทำทาน นุ่งขาว ห่มขาว ดังนั้น การกินเจ ถือเป็นการชำระล้างทั้งทางร่างกาย และ จิตใจ […]