พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แห่งภัทรกัป คือ พระสมณโคดมพุทธเจ้า หรือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า มีความหมายว่า นักบวชแห่งศากยวงศ์
ก่อนที่ทำความรู้จักกับ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ต้องทำความรู้จักกับความเป็นพระพุทธเจ้า คุณสมบัติ พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นทั้งในอดีตและอนาคต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับ พระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันคือ “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาจากตำนานของเถรวาท
ผู้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เมื่อบารมีเต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีลักษณะพิเศษตรงกันคือ เป็นมนุษย์เพศชายเกิดในวรรณะกษัตริย์หรือพราหมณ์ พระวรกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักขณะ ก่อนออกผนวชจะอภิเษกสมรสมีพระโอรสพระองค์หนึ่ง หลังจากนั้นทรงพบเทวทูตทำให้ตัดสินใจออกผนวช วันออกผนวชจะตรงกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ
ตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธ ถือกันว่าพระโคตมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์ชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปีก่อนคริสตกาลตามตำราไทยอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล
ความหมายของพระพุทธเจ้า
ในพระพุทธศาสนา พุทธะ (บาลี: พุทฺธ แปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”) หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้
ธชัคคสูตร กล่าวว่าพระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ 9 ประการ เรียกว่า พุทธคุณ 9 ได้แก่
- อรหํ หมายถึง ผู้ปราศจากกิเลส
- สมฺมาสมฺพุทฺโธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์
- วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หมายถึง ผู้มีความรู้และความประพฤติถึงพร้อม
- สุคโต หมายถึง ผู้เสด็จไปด้วยดี
- โลกวิทู หมายถึง ผุ้รู้แจ้งโลก
- อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ หมายถึง ผู้ฝึกคนได้ดี ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
- สตฺถา เทวมนุสฺสานํ หมายถึง ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
- พุทฺโธ หมายถึง ผู้ตื่น
- ภควา หมายถึง ผู้มีภคธรรม
ประเภทของพระพุทธเจ้า
ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 2 ประเภท คือ
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศพระศาสนา
- พระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ได้ประกาศพระศาสนา
ต่อมาในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาของอังคุตตรนิกาย พระพุทธโฆสะได้กล่าวถึงพุทธะทั้งหมด 4 ประเภท อีกประเภท 2 ประเภทที่เพิ่มเข้ามาคือ
- จตุสัจจพุทธเจ้า คือพระอรหันตสาวก
- สุตพุทธเจ้า คือผู้เป็นพหูสูต ได้ศึกษาพระพุทธพจน์มามาก
นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ามีอยู่ 3 ประเภทตามกำลังบุญบารมีที่ได้สร้างสั่งสมมาคือ
- พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ปัญญา” อย่างแก่กล้าแต่มีพระศรัทธาน้อย จึงใช้เวลาสั่งสมบารมีน้อยกว่าพระพุทธเจ้าอีกสองประเภท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 20 อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระโคตมพุทธเจ้า
- พระสัทธาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ศรัทธา” อย่างแก่กล้ายิ่งนัก แต่มีพระปัญญาปานกลาง จึงใช้เวลาสั่งสมพระบารมีอย่างปานกลาง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 40 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระกัสสปพุทธเจ้า
- พระวิริยาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ความเพียร” อย่างแก่กล้าทรงมีพระวิริยะยิ่งนัก แต่ทรงมีพระปัญญาน้อยกว่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมียาวนานมากกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นเป็นเวลา 80 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระศรีอริยเมตไตรย
หนทางพระพุทธเจ้า หนทางของมหาบุรุษ
หนทาง พระพุทธเจ้า หนทางของ มหาบุรุษ ขึ้นชื่อว่า“ชีวิต”การเดินทางสู่จุดหมายปลายทางย่อมไม่มีวันราบเรียบเป็นเส้นตรง และยิ่งเป็นการเดินทางสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ด้วยแล้ว หนทางของ มหาบุรุษ นามว่า“เจ้าชายสิทธัตถะ”ก็เช่นเดียวกัน ก่อนที่พระองค์จะทรงสั่งสมพระบารมีจนตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า นามว่า“สมณโคดม”นั้น หนทางของพระองค์ต้องปูลาดด้วยความพากเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด ในอดีตชาติก่อนหน้าพระพุทธเจ้าของเรานั้นมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นแล้วหลายพระองค์ หนึ่งในนั้นมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งนามว่า“พระทีปังกร” หลังจากที่พระทีปังกรครองผ้าไตรบำเพ็ญเพียรจนบรรลุสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนธรรมแก่ชาวโลก ด้วยความเมตตาโลกมนุษย์ที่เคยวิบัติอัตคัดกลับคืนเป็นปกติสุขได้ ก็ด้วยพระบารมีของพระองค์ ก้าวย่างที่สำคัญก้าวหนึ่งของ“พระสมณโคดม”หรือพระพุทธเจ้าของเราเกิดขึ้นในพุทธสมัยของพระทีปังกรนี้เอง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเราเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบสดาบส ผู้นี้ได้มีโอกาสแสดงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ต่อพระทีปังกรพุทธเจ้า “ขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย ทรงพระดำเนินเหยียบไปบนกายข้าพระองค์ ที่จักทอดเป็นสะพานนี้อย่าได้ทรงย่างพระบาทหลีกหนีลงลุยเลนเหลวนี้เลย” นี่คือคำอธิษฐานของสุเมธดาบสเพื่อให้พระทีปังกร พุทธเจ้าทรงพระดำเนินเหยียบย่างบนร่างของท่าน เมื่อเห็นว่าหนทางเสด็จพระดำเนินของพระทีปังกรนั้นถูกคั่นขวางด้วยเลนตม สุเมธดาบสทอดกายเป็นสะพานอย่างมั่นคงเพื่อให้พระทีปังกรและพระสาวกเหยียบย่างข้ามไป โดยมิให้พระบาทของพระพุทธองค์ต้องแปดเปื้อนโคลนตม เหตุการณ์ครั้งนั้นพระทีปังกรได้มีพุทธทำนายไว้ว่าในอนาคตสุเมธดาบสจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า“สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครู”ซึ่งก็คือพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้นั่นเอง พระพุทธเจ้าของเราต้องเดินทางไกลหลายอสงไขย กว่าจะถึงซึ่งจุดหมายแห่งชีวิต?คือการตรัสรู้สู่นิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด แม้พระองค์จะยุติการเดินทางไปสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แต่หลักธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงค้นพบยังคงดำรงอยู่ เป็นหมุดหมายให้แก่ศาสนิกชนชาวพุทธที่ยังคงต้องเดินเวียนวนไปบนเส้นทางของชีวิตอย่างไม่เสื่อมคลาย เรื่อง อิสระพร บวรเกิด Photo by Mattia Faloretti on Unsplash บทความน่าสนใจ เรื่องเล่าวันพระพุทธเจ้าลอยถาดลงในแม่น้ำก่อนตรัสรู้ บทความเตือนสติ จากท่าน ว.วชิรเมธี พระพุทธเจ้าผู้ทลาย ชนชั้นวรรณะ 3 […]