ทักษะ 4.0

ทักษะ 4.0 เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร

ทักษะ 4.0 เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร

เมื่อดิจิทัลปฏิวัติคนและธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเช่นในปัจจุบัน เมื่อปัญญาประดิษฐ์ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในแรงงานที่สำคัญในปัจจุบัน ผู้นำยุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนา ทักษะ 4.0  เพื่อให้สามารถก้าวทัน และก้าวนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทักษะ 4.0

บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI บริษัท Rabbit’s Tale และ KX Building Knowledge xchange for innovation จัดงานสัมมนา

“ทักษะ 4.0 : เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม  ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร”

ณ KX Building เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

ทักษะ 4.0

 “ผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0”

คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) นำเสนอวิสัยทัศน์ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเป็นเรื่องยากและมีความเสี่ยงสูง

สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่จึงจัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการยุค 4.0  โดยมีการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการปูพื้นฐานความเข้าใจด้านการตลาดและการทำธุรกิจ การสร้างเครือข่ายทางการค้า ไปจนถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ E-business ที่จำเป็นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศอย่างยั่งยืน

ทักษะ 4.0ทักษะ 4.0

“การเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ในระยะแรกอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่คุณต้องกล้าลองผิดลองถูก และต้องมองธุรกิจกลุ่มเดียวกันด้วยใจที่เปิดกว้าง อย่าเห็นเป็นศัตรู นี่เป็นจุดแข็งที่จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวต่อไปได้”

คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)

Facebook: สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่

ทำความรู้จักกับหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการใหม่ ได้ ที่นี่

 

“เมื่อปัญญาประดิษฐ์คือแรงงาน ทักษะจำเป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทดแทนได้ยาก”

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ้างอิงผลงานวิจัยว่า “อาชีพกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูกคอมพิวเตอร์ทดแทนได้ในอนาคตอันใกล้”

มีอาชีพ 3 ประเภท ที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ ได้แก่

  1. อาศัยที่อาศัยความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) เช่น พระ หมอดู และนักจิตวิทยา
  2. อาชีพที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ เช่น เชฟ หรือศิลปินที่ต้องการสร้างงานผลงานที่มีเอกลักษณ์
  3. อาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดทางประสาทสัมผัส เช่น การผ่าตัดอวัยวะส่วนที่ละเอียดอ่อน

ทักษะ 4.0

อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาขึ้นจนมีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างฟังก์ชัน Siri ของระบบ IOS ที่สามารถโต้ตอบและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ถือว่ามีความฉลาดทางสังคมระดับหนึ่ง

ดร. สมเกียรติ นำเสนอทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อการปรับตัว ประกอบด้วย

1. ทักษะการมองภาพรวม

ทักษะหนึ่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์คือ ทักษะการมองภาพรวมอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยคอมพิวเตอร์นั้นจะมีการคิดวิเคราะห์แยกเน้นเป็นส่วน ๆ ไม่สามารถมองภาพรวมเพื่อวางแผนกลยุทธ์ได้

2. ร่วมก่อการ

แทนที่เราจะมองว่าคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ หากเราลองปรับเปลี่ยนมุมมอง จะพบว่าเราสามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานของมนุษย์สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มนุษย์เป็นผู้วางกลยุทธ์และให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ เป็นต้น

3. ชาญฉลาดใช้

เราต้องรู้จักนำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซเรย์ เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้มีเวลาพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น หรือนักคณิตศาสตร์ก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยพิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำ

4. ใฝ่หาช่องว่าง

แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะมีความสามารถมากมายจนหลายคนกังวลว่าคอมพิวเตอร์อาจจะเข้ามาแทนที่งานที่เราเคยทำ แต่ก็ยังมีบางอาชีพที่เป็นการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จนไม่มีใครสร้างเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานมนุษย์ จนทำให้อาชีพนั้นยังคงเป็นอาชีพของมนุษย์อยู่ต่อไป

5. แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์

การใช้อารมณ์หรือเรื่องราวเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับชิ้นงานหรือสินค้า ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใฝ่หา เช่น การเสพความละเมียดละไมของกาแฟคั่วบดมือ เป็นต้น

 

“ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้น คำถามที่ว่าคอมพิวเตอร์ทำให้คนตกงานไหม ผมมองว่า ในระยะสั้นจะเป็นการช่วยแก้ปัญหามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตมันสามารถทดแทนงานได้ 50 เปอร์เซ็นต์จริง ๆ เราคงต้องกลับมาหาหนทางแก้กันอีกครั้ง”

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

 

“ปรับตัวแบบผู้นำในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค”

คุณสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Rabbit’s Tale และ รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีคุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าว The Standard เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ทั้งสามท่านเห็นพ้องกันว่า อิทธิพลของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กล่าวคือ คน ๆ หนึ่งใช้ชีวิตออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อม ๆ กัน

ทักษะ 4.0

สำหรับวงการการศึกษา การเรียนในยุคปัจจุบันและอนาคตไม่ใช่การเลคเชอร์ หรือการนำความรู้มาป้อนให้กับผู้เรียนโดยตรงเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่ต้องเป็น “การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง” (Experiential Learning) เริ่มต้นจาก “การตั้งคำถาม” ให้ผู้เรียนค้นคว้าหาข้อมูลนำมาปะติดปะต่อกันและสะท้อนออกมาเป็นความคิด ความรู้สึก ก่อนที่ครูจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดความคิด สามารถวิเคราะห์เพื่อสร้างองค์ความรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

บทบาทของครูยุคใหม่จึงไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดความคิด” (Facilitator)

 

“ในยุคที่ข้อมูลหาได้เพียงแค่เข้า Google เราต้องใช้การเรียนรู้แบบผสมผสาน อาจารย์มีหน้าที่นำข้อมูลจากที่หาได้จากเว็บไซต์มาสอนให้นักศึกษาใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์จนสกัดเป็นองค์ความรู้ และเกิดการปฏิบัติจริงในที่สุด”

รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

ในอนาคตจะมีสถาบันการศึกษาที่นำหลักการ Internet of Things หรือ IoT มาใช้พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เช่น การติดกล้องหรือเซนเซอร์ในห้องเรียนเพื่อสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การประเมินและปรับปรุงคุณภาพการสอน การทำระบบจัดการภายในห้องเรียน เช่น ระบบเปิด – ปิดไฟฟ้าภายในห้อง ระบบเก้าอี้หรือโต๊ะเลคเชอร์ที่สามารถเช็คจำนวนนักเรียน เป็นต้น

ในฐานะผู้ผลิตสื่อและอาจารย์จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้วิธีศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าหรือนักศึกษาเป็นหลัก

 

ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของสื่อคือ คนไม่เชื่อโฆษณา ไม่เชื่อเจ้าของผลิตภัณฑ์ เวลาออกแบบสื่อ ผมจึงต้องเลือกเครื่องมือที่ถูกต้อง ถ้าคนเชื่อบุคคลภายนอกมากกว่า ก็ใช้กลยุทธ์ KOL (Key Opinion Leader) หรือการดึง Influencer เข้ามาช่วยทำเนื้อหาโฆษณา รวมถึงใส่อารมณ์และเรื่องราวเข้าไปด้วย จะให้ผลดีกว่าแค่โฆษณาเฉย ๆ

คุณสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Rabbit’s Tale

สิ่งที่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ควรปรับตัวเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. ลักษณะคอนเทนต์ ต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟัง สนุก เกิดอารมณ์ร่วม และมีประโยชน์สำหรับผู้บริโภค
  2. รูปแบบคอนเทนต์มีหลากหลายมากขึ้น นักการตลาดควรรู้จัก เข้าใจ และเลือกใช้รูปแบบของคอนเทนต์ให้เหมาะกับสินค้าและผู้บริโภค
  3. เก็บรวบรวม และ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้รู้จักและรู้ใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยควรมีการทดลองทำคอนเทนต์เพื่อดูผลว่าตรงตามกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และสามารถพัฒนาอย่างไรให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

 

 

“เมื่อดิจิทัลปฏิวัติคนและธุรกิจ ทางรอดสุดท้ายคืออะไร”

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีเพื่อแย่งงานของมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกสบายให้มากกว่า

การสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาชิ้นหนึ่ง จึงต้องเน้นความสำคัญไปที่การใช้งานมากกว่าสนใจแต่วิทยาการล้ำหน้า แต่กลับไม่สร้างประโยชน์อันใด

“ทักษะอีกอย่างที่คนได้เปรียบคอมพิวเตอร์คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คนเรามีอารมณ์ที่ลึกซึ้งและเข้าใจได้ยากมากเลยนะ คอมพิวเตอร์อาจจะอ่านผลเอ็กซเรย์ได้เร็ว แต่ไม่อาจบอกข่าวร้ายหรือให้กำลังใจคนไข้ได้เท่าแพทย์ที่เป็นคนจริง ๆ อาจมีสักวันที่ทำได้ แต่คงต้องใช้เวลานาน ตรงนี้แหละที่ทำให้เราหาทางรอดในยุค Digital Disruption ได้”

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทักษะ 4.0

ปัจจัย 6 ประการที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล 4.0 และควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1. ข้อมูล (intelligence)

ในปัจจุบัน ข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญ มีราคาสูง จึงทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้อกับข้อมูล เช่น Data Scientist กลายเป็นหนึ่งในอาชีพแห่งอนาคต

ผู้คนมีการใช้ชีวิตแบบออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันในเวลาเดียวกัน จนเกิดการนำข้อมูลมาผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ  เช่น การเกิดขึ้นของร้านชำ Amazon Go ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการซ์้อสินค้าแบบจับต้องได้ มองเห็นสินค้าจริง ไม่มีเวลารอให้สินค้ามาส่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความรวดเร็วในการจ่ายเงิน ไม่อยากต่อแถวรอจ่ายเงินในเวลาเร่งรีบ จึงเกิดเป็นร้านชำออฟไลน์ที่สามารถเดินเลือกหยิบสินค้า และชำระเงินแบบออนไลน์ได้ทันที

2. ข้ามโลก (Integration)

การเกิดขึ้นบริการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ จะช่วยเชื่อมโลกและเชื่อมคนเข้าด้วยกัน

3. ขี้เหงา (Isolation)

สังคมออนไลน์ทำให้คนใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เกิดความเหงามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากร้านอาหารบางร้านที่มีบริการโต๊ะอาหาร หม้อต้ม และที่นั่งสำหรับลูกค้าคนเดียวเพิ่มมากขึ้น และการเกิดขึ้นของ Application หาคู่ที่เพิ่มจำนวนและเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. ขาดเหตุผล (Irationality)

ผู้บริโภคตัดสินใจด้วยอารมณ์และความรู้สึกเป้นสำคัญ การทำให้ผู้บริโภครู้สึกและมีอารมณ์ร่วม เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สินค้านั้นได้รับความสนใจ

5. ของจริง (integrity)

สินค้า บริการ และข่าวสารที่จะคงอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันได้ ต้องเป็น “ของจริง” กล่าวคือ ต้องดีจริง มีคุณภาพจริง เป็นความจริง ไม่หลอกลวง หากมีการหลอกลวงผู้บริโภค ก็ไม่สามารถปกปิดเอาไว้ได้นาน ความจริงจะถูกขุดคุ้ยออกมาเปิดเผยได้ง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต

6. ขัดเกลาใจ (Inner Mind)

เมื่อโลกนี้เต็มไปเทคโนโลยี คนรู้ว่าโลกเปลี่ยน แต่อาจจะยังตามเทคโนโลยีไม่ทัน คนจึงสนใจที่จะหันกลับมาดูแลใจของตนเองมากยิ่งขึ้น ดังที่จะเห็นตัวอย่างได้จากยอดขายหนังสือธรรมะที่ยังคงขายดี เป็นที่นิยมอยู่เสมอ

“ศาสตร์แห่งการตลาด คือศาสตร์แห่งการสร้างสุข”

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทักษะ 4.0

แนวคิดของงานนี้เป็นการต่อยอดความคิดจากหนังสือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่”

โดย เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)

รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งจะเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีการทำงานของเราไปอย่างพลิกฝ่ามือ ด้วยขนาด ขอบเขต และความซับซ้อน ที่แตกต่างไปจากการปฏิวัติครั้งใดๆ ที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหลอมรวมโลกกายภาพ ชีวภาพ และดิจิทัล เข้าด้วยกัน พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อทุกสาขาวิชา ทุกระบบเศรษฐกิจ ทุกอุตสาหกรรม และทุกรัฐบาล กระทั่งท้าทายแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความหมายของการเป็นมนุษย์เช่นไรบ้าง และทุกภาคส่วนควรตั้งรับเช่นไรให้การปฏิวัติครั้งใหม่นี้ยังประโยชน์แก่ตนเอง รวมถึงมนุษยชาติ แทนที่จะเป็นภัยคุกคาม

 

ชมถ่ายทอดสดงานสัมมนา ได้ที่ Amarin HOW-TO

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.