อายิโน๊ะ

นิทรรศการ “Chronicle / พงศาวดาร” อีกก้าวบนถนนศิลปะของ “ อายิโน๊ะ ”

นิทรรศการ “Chronicle / พงศาวดาร” อีกก้าวบนถนนศิลปะของ “ อายิโน๊ะ ”

ในแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทย ชื่อของ วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ ( อายิโน๊ะ ) โดดเด่นในฐานะศิลปินภาพพิมพ์มือฉมังที่ผ่านการส่งผลงานแสดงในต่างประเทศนับร้อยครั้ง ในหลากหลายประเทศทั่วโลก

ผลงานภาพพิมพ์ของวีรพงษ์กวาดรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ 5 ครั้งต่อเนื่องกัน ตั้งแต่รางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 51 ตามด้วยรางวัลเหรียญเงินอีก 1 ครั้ง และเหรียญทองแดงอีก 3 ครั้ง ก่อนจะเลิกส่งผลงานประกวด พร้อมกับพักจากงานภาพพิมพ์และหันกลับมาทำงานจิตรกรรมอย่างจริงจัง

เมษายน พ.ศ.2559  วีรพงษ์แสดงผลงานจิตรกรรมเดี่ยวครั้งแรกในนิทรรศการ “เกียรติจิตรกร” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ก่อนจะถึงเวลาของการแสดงเดี่ยวครั้งสำคัญอีกครั้งในนิทรรศการ “Chronicle / พงศาวดาร” ที่ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 ปลายเดือนกันยายนนี้

“จากงานชุด “เกียรติจิตรกร” ผมอยากบอกเรื่องความเป็นจิตรกรวาดรูป ชีวิตของเราเป็นอย่างไร ผมจะสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมเราต้องมาวาดรูป ทำไมเราชอบ ที่เขาบอกว่าศิลปะมีคุณค่าคืออะไรกันแน่ เราก็สงสัยมาตลอด ผมก็คิดว่าเราก็ใช้การทำงานนี่แหละเพื่อค้นหามัน ผสมกับความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ โดยรวมผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกียรติ ศักดิ์ศรี ของคนทำงานศิลปะ คนเราจะมีเกียรติได้จากการที่รู้จักคุณค่าในตัวเอง”

“ต่อเนื่องมาถึงชุดปัจจุบัน คือผมอยากรู้ว่าศิลปะคืออะไร มีคุณค่ายังไง เราต้องรู้ให้มันทะลุ นั่นคือประเด็นของผมในการทำงาน ส่วนเรื่องราวหรือรูปแบบมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จริงๆ ก็คือเรื่องที่ตัวเราสนใจ เรื่องที่เราไปเห็นมา เรื่องที่กระทบความรู้สึก เรื่องความทรงจำ จากอดีต จากข้างในตัวเรา เรื่องประวัติศาสตร์ ชีวิตคน สัตว์”

ในผลงานของวีรพงษ์ ผู้ชมจะได้พบกับหลากหลายตัวละครที่ได้รับเชิญให้ออกมาแสดงบทบาทบนผืนผ้าใบ ไม่ว่าจะเป็นขุนศึก ขุนนาง สามัญชน ศิลปิน นักคิด ตัวการ์ตูนเรื่องล่าสุด เครื่องใช้ไฟฟ้า ขวดน้ำอัดลม ต้นไม้ ฯลฯ เรียกว่าเป็นไปได้แทบจะทุกสิ่ง นั่นเพราะศิลปินเลือกที่จะนำเสนอความจริงของความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มากกว่าจะเดินตามแนวทางของประดิษฐ์ความงามตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป

ราวกับจะละทิ้งการวางแผนในการทำงานศิลปะไป แต่ศิลปินมองว่าการปล่อยให้ “ใจ” ทำงาน ในการเลือกหยิบ-วางแต่ละสิ่งที่ประกอบกันเป็นภาพที่ปรากฎ คือการแสดง “ความจริง” ของชีวิตศิลปินได้ดีที่สุด และ “ความจริง” นี่เองเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำงานศิลปะ

“ถ้าดูในงานก็จะเห็นว่ามีอะไรต่างๆ หลากหลาย แต่ผมจะไม่คิดว่าจะสร้างสัญลักษณ์อะไรมาใส่ในงาน คนดูแล้วอาจจะคิดต่อไปอย่างอื่นก็ได้ บางคนดูอาจจะบอกว่าวุ่นวาย ไม่เข้ากัน แต่ผมไม่ได้สนใจว่าองค์ประกอบจะสมบูรณ์หรือเปล่า แค่คิดว่าเรารู้สึกว่าสวย รู้สึกอยากวาด ผมนึกย้อนไปเหมือนตอนเราเด็กๆ เราอยากวาดก็วาดไป ไม่ได้คิดว่าเป็นศิลปะหรือเปล่า พอเรียนศิลปะก็ต้องมีเรื่องของแนวความคิด เรื่องของรูปแบบเข้ามา พอเรียนจบทำงานไปก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่”

“ตอนนี้พออยากทำงานผมก็ทำเลย ไม่ได้สนใจว่าต้องให้เป็นไปตามทฤษฎีศิลปะ แต่ทฤษฎีมันก็ออกมาเองตามธรรมชาติเพราะเราถูกฝึกมา มันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่เราเลือกที่จะไม่ไปสนใจตรงนั้น ปล่อยไปเลย ไปมองว่าความจริงของมนุษย์คืออะไร ศิลปะคืออะไรมากกว่า”

ที่มาของชื่อนิทรรศการ “Chronicle / พงศาวดาร” วีรพงษ์ บอกว่า คล้ายกับการบันทึกชีวิตของคนๆ หนึ่งที่เกิดมาในประเทศไทย ใช้ชีวิตสร้างงานศิลปะขึ้นมา ก่อนที่จะตายจากไปในวันหนึ่ง ทิ้งผลงานศิลปะเป็นบันทึกช่วงเวลาในชีวิตไว้

อีกส่วนมาจากความสนใจส่วนตัวในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ผู้คนและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ผสมผสานกับสิ่งต่างๆ ที่ศิลปินได้รับรู้ในปัจจุบัน สิ่งต่างๆ ที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในอนาคต

“ผมชอบจินตนาการถึงเรื่องราวในอดีต คนสมัยนั้นจะคิดยังไง เวลาเรามองประวัติศาสตร์ก็จะเป็นอย่างหนึ่ง แต่คนโบราณมีวิธีมองประวัติศาสตร์อย่างไร เรื่องพวกนี้ก็เชื่อมโยงกับการทำงานศิลปะ คนในอดีตไม่รู้จักคำว่าศิลปะ ไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียงของตัวเอง แต่ทำไมเราเห็นฝีมือช่างสุโขทัย อยุธยา เรารู้สึกว่ามีความยิ่งใหญ่ แล้วคนรุ่นปัจจุบันจะทำงานศิลปะที่มีคุณค่าได้เท่าวัดพระแก้ว สุโขทัย อยุธยา ลพบุรี ได้ไม๊บางทีเราไปดูจิตรกรรมฝาผนัง ลายปูนปั้น รู้สึกว่าเวลาเคลื่อนช้าลง เราอยากให้งานเรามีความรู้สึกอย่างนั้นบ้าง”

เรื่องของความงามเป็นมุมมองของผู้ชม แต่ที่สัมผัสได้คือ “ความจริง” ในการนำเสนอ และ “ความจริงใจ” ในการทำงานศิลปะ

“งานชุดนี้ผมทำได้อย่างอิสระมาก ใส่สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ใส่ความเป็นจริงของเราให้มากที่สุด ไม่ตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี ผมแสดงให้เห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่บนโลกนี้ ของแบบนี้มาอยู่ในงานศิลปะได้ ไม่ต้องปรุงแต่ง ผมมองว่าศิลปะอยู่ในทุกที่ อยู่ในตัวทุกคน อยู่ที่เราจะมองเห็นหรือไม่”

จากศิลปินภาพพิมพ์ฝีมือฉกาจฉกรรจ์ หันกลับมาทำงานจิตรกรรมที่คุ้นเคย ทั้งหมดเป็นเหมือนแต่ละก้าวของการเดินทางค้นหาความหมายของคำว่า “ศิลปะ” บนเส้นทางยังทอดอีกยาวไกล

“งานภาพพิมพ์ที่ผมเคยได้รางวัล หลายคนบอกว่าถ้าทำต่อไป เอาไปส่งประกวดอีกหน่อยก็ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้วนะ แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น ผมคิดว่าเป้าหมายในการทำงานศิลปะคือการรู้จักมันจริงๆ ตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในขั้นตอนของการทำงานเพื่อหาคำตอบว่าศิลปะคืออะไร”

นิทรรศการ “Chronicle / พงศาวดาร” โดย วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ) จะมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 21 กันยายน 2560 เวลา 18.00 น. และจัดแสดงจนถึง 31 ตุลาคม 2560 ที่ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 สอบถามโทร. 0 2662 0299, 0 2258 5580 ต่อ 401 ดูเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/sacbangkok

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.