เชื้อนิวโมคอคคัส

ฟรี! กทม. บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

กทม. บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV)
ในเด็กอายุ
ต่ำกว่า 2 ปี  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง

กรุงเทพมหานคร โดย สำนักอนามัย จัดกิจกรรมแถลงข่าวโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิญชวน พ่อแม่ ผู้ปกครอง นำบุตรหลานมารับบริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคปอดบวม โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส

เชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีน

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 เวลา 14.00 น. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยเปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากมีการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส Streptococcus pneumoniae ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ สำหรับอาการสำคัญและความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หรือหากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้

เชื้อนิวโมคอคคัส PCV

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ จำนวน 5,870 คน คิดเป็นอัตราป่วย 106.19 รายต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยอายุระหว่างแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 17.69 รายต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้หลายประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งปัจจุบันนี้มีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็ก ที่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศรอบข้าง ได้แก่ บังกลาเทศ เมียนมา เนปาล และ ภูฏาน เรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน (EPI Program) ของประเทศ จึงยังไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ มีเพียงวัคซีนทางเลือกที่เสียค่าใช้จ่ายในการฉีดสูง

เจน เชื้อนิวโมคอคคัส เด็ก

ทางกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ตระหนักและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและเพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จึงได้จัดทำโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน PCV) ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะให้บริการฉีดวัคซีนดังกล่าวครั้งแรกในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ให้แก่เด็กที่มีอายุ 2 – 4 เดือน ที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และจะให้บริการต่อเนื่องในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well baby) ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัยโทร 02 203 2887-9 ในวันและเวลาราชการ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวจะช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ลดภาระรักษาพยาบาล ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.