ตามรอยพ่อหลวง สำรวจ “เส้นทางสาย มะเขือเทศดอยคำ” สู่การเป็น King of Tomato

ตามรอยพ่อหลวง สำรวจ “เส้นทางสาย มะเขือเทศดอยคำ” สู่การเป็น King of Tomato ขณะที่ พญามังกรอย่าง จีน มีเส้นทางสายไหม (Silk Road) เป็นเส้นทางการค้าขายแต่โบราณที่ผู้คนจากใจกลางแผ่นดินจีนนำสินค้าไปค้าทางตะวันตกจนเลื่องชื่อ ประเทศไทยก็มี เส้นทางสายมะเขือเทศ(Tomato Belt) เป็นตัวแทนความมุ่งมั่นในการสานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร นำพาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรในภาคอีสานอย่างยั่งยืน

มะเขือเทศดอยคำ
ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศดอยคำ
ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศดอยคำ
ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศดอยคำ

จากปฐมบทกับเรื่องราวสู่การเป็น King of Tomato “ดอยคำ” ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมเกษตร สืบสานความอยู่ดี กินดี และ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของชุมชน ได้จัดกิจกรรมตามรอยเรียนรู้ “เส้นทางสายมะเขือเทศดอยคำ” สู่การเป็น King of Tomato ที่สุดของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปคุณภาพสูงจากมะเขือเทศดอยคำตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ ผ่านกิจกรรม “อยู่ดีมีแฮงละเบ๋อ มะเขือเทศจากความฮัก จากใจดอยคำ” ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเพาะปลูกมะเขือเทศของเกษตรกร สัมผัสกับรากเหง้าความเป็นมาจากแนวพระราชดำริของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ก่อเกิดเป็นการเกษตรท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมติดตามเส้นทางการเดินทางของมะเขือเทศดอยคำจากไร่สู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพในมือผู้บริโภค ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ อ.เต่างอย จ.สกลนคร

King of Tomato
คุณยุภาภรณ์ เจริญสุข ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร และ นายชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร

ตามรอยพ่อ ปฐมบทแห่งเส้นทางสายมะเขือเทศ

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด พาย้อนวันวานไปสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสายมะเขือเทศว่า ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เมื่อปี ๒๕๒๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรหมู่บ้านนางอย – โพนปลาโหล กิ่งอำเภอเต่างอย จ.สกลนคร และได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้มีรายได้ ที่สำคัญคือ หลังจากพัฒนาแล้ว ชาวบ้านยังสามารถรักษาสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง

ดอยคำ

จากน้ำพระหฤทัยอันเปี่ยมล้น นำมาซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกมะเขือเทศเป็นพืชหลังนา ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเพื่อสร้างรายได้เสริม กระทั่งในปี ๒๕๒๕ จึงได้มีการตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) ซึ่งถือเป็นโรงงานหลวงแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของโรงงาน  และพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคอีสานตอนบนให้ยั่งยืน โดยนำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) มาเป็นต้นแบบ เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ “อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางสายมะเขือเทศ”

วิธีปลูกมะเขือเทศ
ไร้มะเขือเทศของชาวบ้านที่เต่างอย จังหวัดสกลนคร ก่อนจะส่งวัตถุดิบให้โรงงานหลวงฯ ที่ ๓

จากยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มี “ดอยคำ” เข้ามาให้ความรู้แนะนำส่งเสริม เกษตรกรยังใช้วิธีปลูกมะเขือเทศแบบไม่ขึ้นค้าง ทำให้ผลิตผลได้ไม่มากในการปลูกต่อไร่ และเกิดการเสียหายจากการเน่าเสีย จากธรรมชาติ เพราะผลตกกระทบสู่ดิน ทำให้ช้ำ และเสียหายได้ง่าย จนเมื่อ “ดอยคำ” ได้เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกร ให้มีการปรับการปลูก เพื่อให้ได้ผลิตผลมากขึ้น ในจำนวนพื้นที่ ไร่ เท่าเดิม “โดยการขึ้นค้าง” จากเดิมที่พื้นที่เพาะปลูก ๑ ไร่ มีผลผลิต ๕ ตัน พอใช้การขึ้นค้าง ทำให้ในพื้นที่เพาะปลูกที่ ๑ ไร่เท่าเดิม มีผลผลิต ๑๕ ตัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการใช้วิธีต่อยอดมะเขือเทศ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ทนต่อโรค ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไม่ขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ ๔,๐๐๐- ๕,๐๐๐บาท ได้ผลผลิต ๔-๕ ตันต่อไร่ เมื่อมาปลูกแบบขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่  ๗,๕๐๐บาท แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น ๘-๒๐  ตันต่อไร่

ไพวัน โคตรทุม
นายไพวัน โคตรทุม เกษตรกร

ไพวัน โคตรทุม เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศมากว่า ๓๐ ปี  กล่าวว่า หลังเสร็จจากการทำนา จะมาปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง โดยจะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนม.ค.-มี.ค.โดยจะเลือกใช้มะเขือเทศพันธุ์เพอร์เฟคโกลด์ ๑๑๑ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมะเขือเทศสีแดงสวย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญรสชาติหวานอร่อย

“ผมปลูกมะเขือเทศมาตั้งแต่วัยรุ่น จนตอนนี้จะ ๕๐ ปีแล้ว” ไพวัน บอกเล่าอย่างเป็นกันเอง “ผมเริ่มหันมาปลูกมะเขือเทศจากการชักชวนของเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ทุกวันนี้ผมแบ่งที่นาที่มี ๑๖ ไร่ ออกมา ๑ ไร่เพื่อปลูกมะเขือเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากดอยคำในการให้คำแนะนำในการเพาะปลูก และช่วยรับซื้อผลผลิต ซึ่งราคาในแต่ละปีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี ตั้งแต่เริ่มปลูกมามะเขือเทศก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเสร็จจากหน้านาก็ยังมีอาชีพ”

มะเขือเทศ
นำผลผลิตมะเขือเทศไปที่โรงงานหลวงฯ ที่ ๓

ท่องไปกับคาราวานมะเขือเทศ

หลังจากสร้างต้นน้ำที่แข็งแรง มาถึงขั้นตอนสำคัญของโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ ในการทำหน้าที่เป็นข้อต่อในส่วน “กลางน้ำ” รับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และได้ขยายตลาดการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย นับตั้งแต่เริ่มต้น โรงงานหลวงฯ แห่งนี้ได้รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐,๐๐๐ ถึง ๑๕,๐๐๐ ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเงินคืนให้แก่เกษตรกร กว่า ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี พร้อมกับช่วยสร้างอาชีพและก่อเกิดรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งหมด ๑,๐๑๒ ครัวเรือน

ทั้งนี้ กระบวนการหลักๆในการรับซื้อผลิตผลจากเกษตรกร เริ่มตั้งแต่กระบวนการตรวจน้ำหนัก โดยเกษตรกรจะบรรทุกมะเขือเทศมาเป็นคันรถ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการชั่งน้ำหนัก พร้อมคัดเลือกเพื่อตรวจตำหนิ ตรวจสารพิษ ตรวจความหวาน และ ตรวจกายภาพ จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการคัด/ตกแต่ง โดยเมื่อรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตในขั้นต่อไป ผลผลิตของเกษตรกรเหล่านี้จะต้องผ่านการล้าง และ คัดเลือกผลที่มีตำหนิ หรือ ไม่ได้คุณภาพออก โดยการคัดทิ้งหรือตกแต่งตามสภาพของผลิตผลที่รับซื้อมา ในขั้นตอนนี้ ผู้ปฏิบัติงานจะปฏิบัติภายใต้สุขลักษณะและสุขาภิบาลที่ดีของโรงงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร เพื่อลดสิ่งแปลกปลอมที่มากับผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิต  และการบรรจุภัณฑ์ต่อไป

ทริปดอยคำ

จวบจนวันนี้ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย)  เป็นโรงงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” โดยมีสายการผลิตสำคัญ ได้แก่ สายการผลิตมะเขือเทศเข้มข้น ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง และข้าวกล้องบรรจุถุง อย่างไรก็ตาม น้ำมะเขือเทศดอยคำ ถือเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจ และทำให้ดอยคำเป็นอันดับ ๑ ในตลาดน้ำมะเขือเทศ

ปัจจุบัน ดอยคำมีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสูตร และผลิตจากมะเขือเทศที่ส่งเสริมและรับซื้อ ๕ รายการ ประกอบด้วย น้ำมะเขือเทศ ๙๙% ต้นตำรับน้ำมะเขือเทศ รสชาติเข้มข้น หนึ่งเดียวในประเทศไทย มากด้วยคุณประโยชน์เต็มร้อยจากธรรมชาติ การันตีด้วยรางวัล Superior Taste Award ปี ๒๐๑๖ จากสถาบันเพื่อรับรองรสชาติอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติ (iTQi) ประเทศเบลเยียม ถัดมาคือ  น้ำมะเขือเทศผสมน้ำผลไม้รวม ๙๘% ม็อกเทล คิดค้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภคที่ดื่มน้ำมะเขือเทศ ๑๐๐% ไม่ได้ จึงปรับสูตรใหม่ด้วยการผสมน้ำผลไม้รวม ได้แก่ เสาวรส สตรอว์เบอร์รี และส้ม เพื่อให้ดื่มง่าย แต่ยังคงเต็มไปด้วยคุณประโยชน์จากน้ำมะเขือเทศ ขณะที่น้ำมะเขือเทศ ๙๙% สูตรโซเดียมต่ำ เป็นทางเลือกใหม่ของผู้รักสุขภาพที่ต้องการจำกัดปริมาณโซเดียม แต่ยังคงได้รับคุณประโยชน์จากน้ำมะเขือเทศ ตามด้วยน้ำมะเขือเทศผสมน้ำผักรวม ๙๙% สูตรจัดจ้าน โดดเด่นด้วยรสชาติที่จัดจ้าน จาก ขิง พริก พริกไทย และเซเลอรี (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง) นอกจากนี้ยังมีมะเขือเทศทาขนมปัง เอกลักษณ์ของการผสานรสชาติเผ็ดหวานลงตัวแบบไม่เติมน้ำตาล  และ ซอสมะเขือเทศ

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย)

ก้าวต่อไปของดอยคำในเส้นทางมะเขือเทศ

อีกหนึ่งวิสัยทัศน์สำคัญที่ดอยคำตั้งเป้าส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกตามแนวทางเกษตรประณีต ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมที่ก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดบนพื้นที่ที่น้อยสุด

“เรามุ่งหวังกระตุ้นให้เหล่าเกษตรกรคืนพื้นที่ที่เหลือจากการเพาะปลูกกลับคืนสู่ธรรมชาติ แนวทางนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดความกินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเกษตรกรในระยะสั้นและยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการคืนพื้นป่ากลับสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและรักษาสมดุลธรรมชาติต่อไป”

เชฟจากดอยคำรังสรรค์เมนูอร่อยๆ จากมะเขือเทศและนำเอารสชาติเอกลักษณ์อาหารอีสานพื้นบ้านมาใส่ไอเดียเพิ่มมูลค่าที่อร่อยและลงตัว

นอกจากนี้ ดอยคำยังสานต่อโครงการยุวเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและเด็กนักเรียนโดยรอบโรงงานหลวงฯ ที่มีความสนใจด้านเกษตรกรรมได้เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกมะเขือเทศของดอยคำไปยังคนในชุมชน นำไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับเหล่าเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิดต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดอยคำ
นางสาวอารยา วิดีสา และนายจักรพงศ์ กงแก่นทา ยุวเกษตร

นายจักรพงศ์ กงแก่นทา ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ในฐานะตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2560 เผยว่า ถึงจะเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่เขาไม่เคยมีความคิดว่าจะทำอาชีพเกษตรกรเลย เพราะเห็นพ่อกับแม่และหลายๆ คนที่ทำเกษตรมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ลำบาก จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรกรทำให้ความคิดเปลี่ยนไปและหมายมั่นว่าวันหนึ่งจะกลับมาเป็นเกษตรกร โดยนำความรู้ที่มีมาพัฒนาต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน

ขณะที่นางสาวอารยา​ วิ​ดี​สา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะ​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​อุตสาหกรรม​เกษตรมหาวิทยาลัย​เกษตร​ศาสตร์ ​วิทยาเขต​เฉลิมพระเกียรติ​ จ.สกลนคร อีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า นอกจากจะภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่ความรู้ไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ที่บ้าน หลังเสร็จหน้านาก็ปลูกมะเขือเทศ ทำให้เธอมีความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะนำความรู้ที่มีมาต่อยอดการทำเกษตร

“แม่หนูก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน หมู่บ้านเราวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้หลังเสร็จจากหน้านา ก็จะปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง หนูรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ปลูก และ กินผลมะเขือเทศที่ปลูกเอง หนูตั้งใจว่า เรียนจบจะกลับมาเป็นเกษตรกร นำความรู้ที่มีมาต่อยอดเพิ่มผลผลิต”

มะเขือเทศดอยคำ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.