เปิดตัว ข้าวโปรตีนต่ำ KDCARE ครั้งแรกในไทย

เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ 4 บริษัทชั้นนำ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด บริษัท วันรัต (หน่ำเซียน) จำกัด บริษัท โตโย ไซแอนท์ จำกัด และบริษัท นิชชิน ออยลิโอ จำกัด ร่วมมือเปิดตัวผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีพลังงานสูงแต่ให้โปรตีนต่ำ ภายใต้แบรนด์ KD CARE ที่เหมาะสำหรับผู้งอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ 4 ผู้บริหาร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไทย นิวทริชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายอาหารสุขภาพ KDCARE แถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ข้าวที่ให้โปรตีนต่ำ เป็นอาหารสายสุขภาพ ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องควบคุมโปรตีน เช่น ผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถบริโภคโปรตีนที่คุณภาพจากอาหารอื่นๆ ได้หลากหลายมากขึ้น

Mr. Naofumi Takahashi Manager Global Business Group บริษัท นิชชิน ออยลิโอ จำกัด ผู้นำด้านอาหารเพื่อผู้สูงวัยอันดับต้น ของประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงที่มาและประโยชน์ของข้าวโปรตีนต่ำว่า บริษัทฯ ได้เริ่มกิจการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ตั้งแต่ปี 2531 เนื่องจากสภาพสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ป่วยความดัน เบาหวาน เพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง และให้โปรตีนต่ำขึ้นมา หลังจากนั้นในปี 2537 จึงจัดจำหน่ายอาหารข้าวโปรตีนต่ำ มาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว

Mr. Takahashi กล่าวต่อไปว่า ข้าวโปรตีนต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ต้องควบคุมการรับประทานโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในข้าวปริมาณ 100 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ 4 กรัมต่อมื้อ ซึ่งทางบริษัทฯ มองว่า ถ้าเราลดจำนวนโปรตีนในข้าวลงได้ จะทำให้ผู้ป่วยมีโภชนาการที่ดีขึ้น

Mr. Hideo Saito ประธาน บริษัท โตโย ไซแอนท์ จำกัด กล่าวว่า โตโย ไซแอนท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เริ่มต้นตั้งแต่เกิด ความสวยงาม ยารักษาโรค รวมถึงอาหารเพื่อผู้ป่วย และผู้สูงอายุ มากว่า 33 ปี ได้รับรู้ถึงปัญหาที่มีผู้ป่วยโรคไตประสบปัญหาในการใช้ชีวิต ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ประมาณ 330,000 คน สำหรับผู้ป่วยไตเทียมก็มีจำนวนมากเหมือนกัน ประมาณ 300,000 คน คิดเป็นมูลค่าการตลาดที่ใหญ่มากกว่า 69,000 ล้านเยน

 

ในประเทศไทยมีการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้นด้วย จึงได้ร่วมมือกับบริษัททั้ง 3 บริษัท ในประเทศไทย ร่วมมือคิดผลิตภัณฑ์ข้าวโปรตีนต่ำขึ้นมา สำหรับผู้ป่วยโรคไต นอกเหนือจากการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างเดียว ซึ่งได้ใช้เวลา 3 ปี ในการศึกษาวิจัยในการใช้ข้าวไทยผลิตข้าวโปรตีนต่ำ เพื่อให้ถูกปากคนไทยมากสุด

นายวิญญู พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เน้นผลิตภัณฑ์สินค้าจากข้าว และมองหาอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ นอกจากข้าวแล้วยังมี สาหร่ายซีลีโกะ แล้วยังมีสินค้า Organic อีกด้วย

สำหรับข้าวโปรตีนต่ำนี้ บริษัท นครหลวงค้าข้าว และผู้ร่วมทุนทั้ง 3 บริษัท มีความสนใจร่วมกัน จึงได้ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น เพื่อจะนำมาพัฒนาโดยการใช้ข้าวไทยแทน ซึ่งข้าวไทยมีลักษณะเมล็ดยาว และผอมกว่าข้าวญี่ปุ่น และมีหลากหลายพันธุ์ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี

“ตัวข้าวโปรตีนต่ำที่เราร่วมทุนจะใช้ข้าวไทยในกลุ่มข้าวหอมไทยมาผ่านกระบวนการเพื่อลดโปรตีนในข้าวลง ซึ่งข้าวไทยมีโปรตีน 5-7% เมื่อผ่านกระบวนการแล้ว ข้าวไทยจะเหลือน้อยกว่า 0.5% และจะมีความเหนียวมากขึ้น เหมาะสำหรับการบริโภคทั่วไปได้” นายวิญญู กล่าว

 

นายรวิพล กฤษฎาพงษ์ ประธาน บริษัท วันรัต (หน่ำเซียน) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายวัตถุดิบและเคมีภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ เป็นคู่ค้ากับโตโย ไซแอนท์ มากว่า 30 ปี เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว Mr. Saito เห็นว่าในประเทศไทยยังไม่มีผลิตภัณฑ์ข้าวโปรตีนต่ำ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีมานาน และเป็นที่นิยม ซึ่งที่ไทยมีข้าวหลากหลายพันธุ์อยู่แล้ว จึงได้นำเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นมาทดลองในห้องแล็บเกือบ 2 ปี ถึงวิธีการหุงและทำอาหาร ซึ่งบริษัท ไทย นิวทริชั่นฯ เป็นรายแรกในไทยที่ผลิตข้าวโปรตีนต่ำ

ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 5,000 แพค/เดือน และภายในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาการผลิตให้เป็น 100,000 แพค/เดือน

นายวิญญู กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทย นิวทริชั่นฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นอาหารเฉพาะทาง Specialty Food ที่ประเทศไทยยังไม่ได้นำมาบริโภคอย่างมากมาย เรามีผลิตภัณฑ์สารอาหารที่ช่วยกลืนสำหรับผู้สูงอายุ และผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่จะพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่นต่อไปคือ แป้ง เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และผู้ที่รักษาสุขภาพ อาจจะเป็นซอสถั่วเหลือง ที่มีโซเดียม และโปแตสเซียมต่ำ

 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม Website : www.thainutritiontech.com

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.