‘ภาวะซึมเศร้า’ ไม่ใช่ ‘โรคซึมเศร้า’  แต่คือการส่งสัญญาณ SOS ถึงตัวเอง

ซึมเศร้า : อารมณ์ที่สำคัญของมนุษย์

มีข่าวเผยแพร่ว่า ประชากร 1 ใน 4 ของโลกกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้า บริษัทต่างๆ พากันจัดอบรมเพื่อลดความเครียด แก่พนักงานเพื่อบรรเทาอาการจิตตกและไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ส่วนตัวหรือสถานการณ์ตึงเครียดในที่ทำงาน เช่น เมื่อรู้สึกกังวลใจกับความสัมพันธ์ รู้สึกเครียดกับภาระหน้าที่ที่หนักหนา หากคนนั้นไม่รู้สึกซึมเศร้าเลย ก็อาจจะไม่ใช่มนุษย์ที่มีจิตใจแล้ว เพราะในเมื่อพวกเขาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เย็นชา ความซึมเศร้าอาจถูกสร้างจากสภาวะแวดล้อม หรืออาจเป็นนิสัยบางอย่าง ดังนั้น เราจึงไม่ควรคิดว่าความซึมเศร้าเป็นปัญหา แต่เราควรหันมาทำความเข้าใจและเรียนรู้ภาวะซึมเศร้าอย่างลึกซึ้งแทน

นอกจากนี้เราต้องแยกภาวะซึมเศร้าออกจากโรคซึมเศร้าออกจากกันด้วย อารมณ์ที่คุณรู้สึกตึงเครียดเรื่องงานที่บริษัทอาจเป็นแค่ภาวะซึมเศร้า แต่ยังไม่ถีงขั้นเรียกว่าโรคซึมเศร้าได้

คนมากมายพยายามค้นหาอาการโรคซึมเศร้าทางอินเตอร์เน็ต พอพบว่ามีอาการใกล้เคียงหลายข้อก็อาจคิดไปได้ว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่อันที่จริงแล้วการป่วยเป็นโรคนี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และไม่มีแพทย์คนไหนอยากให้ใครกลายเป็นผู้ป่วยโรคนี้จริงๆ คนปกติแค่พอร่างกายเจ็บป่วยก็รู้สึกซึมเศร้าแล้ว ใครที่มีปัญหาทางการเงินหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิตลงก็ล้วนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ากันทั้งนั้น

ภาวะซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว การปลูกฝังว่าภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งที่เราต้องเอาชนะให้ได้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้กระทั่งสัตว์ก็ซึมเศร้าได้ ดังนั้น ภาวะซึมเศร้าจึงนับเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่สำคัญของมนุษย์

 

ภาวะซึมเศร้า : สัญญาณ SOS

ภาวะซึมเศร้ายังเป็นเสมือนสัญญาณ SOS ที่เราส่งถึงตัวเอง เมื่อร่างกายเจ็บป่วย หวาดกลัวที่บริษัท พลังงานชีวิตใกล้หมด พวกเราอาจจะรู้สึกซึมเศร้าได้ นี่จึงเป็นสัญญาณเตือนว่า “ฉันกำลังเหนื่อยล้า” ให้ตัวเองได้รับรู้

ภาวะซึมเศร้าจึงอาจเป็นผลต่อเรื่องมาจากพลังงานของเราที่เหลืออยู่เล็กน้อย ต้องหาบางสิ่งเข้าไปทดแทนช่วยเหลือ เสมือนเสียงที่เตือนว่าตอนนี้เราต้องหาแผนสำรอง ดังนั้น ในภาวะที่เรารู้สึกลำบากหากเราไม่รู้สึกเศร้าเลย เราก็จะไม่เข้าใจความสำคัญของการหยุดพักและการเยียวยา จนอาจเกิดเรื่องเลวร้ายที่สุดเหมือนลูกโป่งพองลมแตก

กรณีที่คนฆ่าตัวตายก็เช่นกัน ยามปกติคนกลุ่มนี้แทบไม่เคยบ่นว่าลำบากใจหรือรู้สึกซึมเศร้าเลย กลายเป็นว่าคนที่ยอมรับว่าตัวเองซึมเศร้ามีโอกาสได้รับการช่วยเหลือมากกว่า แม้แต่ที่โรงพยาบาลก็เช่นกัน การรักษาผู้ป่วยที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าง่ายกว่าผู้ป่วยที่บอกว่า ‘ไม่แน่ใจว่ารู้สึกซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะไม่รู้สึกอะไรเลย’ ภาวะซึมเศร้าจึงเปรียบเสมือน ‘เซ้นส์ทางใจ’ ที่ติดร่างกายมาตั้งแต่เกิด

 

ภาวะซึมเศร้า ทำให้เราเข้าใจความสุข

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจนำเสนอว่า ความซึมเศร้าอาจเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ของมนุษย์ โดยพอล แอนดรูวส์ (Paul W. Andrews) และเจ แอนเดอร์สัน ทอมสัน (J. Anderson Thomson) ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “รากวิวัฒนาการของความซึมเศร้า (Depression’s Evolutionary Roots)” ลงใน Scientific American นิตยสารวิทยาศาสตร์รายเดือนของสหรัฐอเมริกา มีเนื้อหาว่า “ความซึมเศร้าอาจช่วยมนุษย์ในแง่วิวัฒนาการ ให้เมินเฉยต่อการกระตุ้นจากภายนอกหันมาจดจ่อกับปัญหาภายใน ทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาและความคิดในเชิงวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้น สรุปง่ายๆ คือ เพราะความซึมเศร้ามีส่วนช่วยเหลือมนุษย์ ดังนั้นแม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายหมื่นปีก็ยังดำรงอยู่ ไม่ได้ถูกกำจัดออกไปจากสมองมนุษย์”

ความจริงแล้วไม่มีใครอยากตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า อารมณ์ต่างๆ เช่น ความซึมเศร้า ความลำบากใจ ความโกรธแค้น เราเรียกรวมๆ ว่า อารมณ์ในแง่ลบ เป็นอารมณ์ที่ไม่มีใครต้องการ แต่การเป็นมนุษย์บนโลกนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ได้โดยปราศจากอารมณ์ในแง่ลบ หรือมีชีวิตอยู่ได้โดยไร้เรื่องทุกข์ใจ  โดยประโยชน์ของอารมณ์ในแง่ลบยังช่วยทำให้อารมณ์ในแง่บวก เช่น ความดีใจ ความสนุกสนาน มีค่าและชัดเจนมากขึ้น เช่น หากเราเคยไปร้านอาหารที่ไม่อร่อย พอได้กินอาหารอร่อย ก็จะยิ่งรู้สึกอร่อยยิ่งขึ้น ถ้าเคยดูภาพยนตร์ที่ไม่สนุก พอได้ดูเรื่องสนุกๆ ก็จะรู้สึกสนุกสนานมากกว่าเดิม 2 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น หากไม่เคยมีความทุกข์ เมื่อพบกับความสุขเราอาจจะมองไม่เห็นค่าของมัน

 

เราจึงไม่จำเป็นต้องกังวลใจเรื่องภาวะซึมเศร้า และต้องย้ำด้วยว่า “ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่โรคซึมเศร้า” แต่ความซึมเศร้าเป็นหนึ่งในอารมณ์ที่สำคัญ เป็นอารมณ์ที่หล่อเลี้ยงให้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเอง เป็นสัญญาณเตือนจากภายในให้เราได้ขบคิดว่า ‘อ๋อ ตอนนี้เรากำลังลำบากใจอยู่นะ’ โดยสิ่งที่เราควรทำคือ อาจต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หรืออาจต้องขอความช่วยเหลือคนอื่นเพื่อให้เราอยู่ร่วมกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีความสุข

 

ข้อมูลจากหนังสือเราไม่จำเป็นต้องได้รับความรักจากทุกคน

เขียนโดย อีซึงมิน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.