โรคเครียด : สาเหตุและอาการ
สาเหตุของโรคเครียดในปัจจุบัน นอกจากจะเกิดจากหน้าที่การงาน สภาพแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บแล้ว โรคเครียดอาจมีสาเหตุมาจากอาหารการกินของเราในทุกๆ วันด้วย เพราะอาหารบางอย่างกินมากไปก็เสี่ยงต่อโรคเครียด อาหารบางอย่างถ้าขาดไปโรคเครียดก็ถามหา
เมื่อเกิดความเครียดขึ้นก็จะส่งผลให้การทำงานของร่างกายและจิตใจเสียสมดุล ทำงานไม่ได้ ทำสิ่งที่เคยชอบก็ไม่ได้ และสุดท้ายก็เจ็บป่วยเรื้อรังทั้งทางร่ายกายและจิตใจเกิดอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดหัว หงุดหงิด หรือซึมเศร้า บางคนก็เบื่ออาหาร ส่วนบางคนก็กินมากไปจนน้ำหนักขึ้น
โรคเครียดส่งผลอย่างไรกับร่างกาย
โรคเครียดกับระบบย่อยอาหาร
ทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อเกร็ง ระบบย่อยถูกรบกวน ร่างกายจะรับมือกับความเครียดด้วยการหลั่งไขมันและน้ำตาลออกมา เพื่อผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลและคอเลสตอรอลในเลือดสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะดึงสารอาหารที่สะสมไว้มาใช้ ทำให้เรารู้สึกหมดแรง อ่อนเพลีย
โรคเครียดกับภูมิต้านทาน
เมื่อเราเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม ทำให้ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง
โรคเครียดกับการทำงานของสมอง
ความเครียดส่งผลต่อสมอง โดยเปลี่ยนแปลงสารเคมีซึ่งทำหน้าที่สื่อสารการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความตื่นตัวและการนอนของร่างกาย
คลายเครียดง่ายๆ ด้วยการกิน
ร่างกายของเราจะสามารถต้านโรคเครียดได้ดีขนาดไหน ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายได้รับการหล่อเลี้ยงจากสารอาหารเพียงพอหรือไม่ คนที่ได้รับสารอาหารที่ช่วยลดความเครียดอย่างเพียงพอและสุขภาพดี เมื่อเจอความเครียดถาโถมก็สามารถรับมือได้ดีกว่าคนอื่นๆ
อาหารจากธรรมชาติ วิธีคลายเครียดที่ง่ายและเห็นผล
เมื่อโรคเครียดมาเยือนร่างกายจะต้องการสาอาหารประเภท “แอนติออกซิแดนท์” หรือสารอาหารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี เม็ดเลือดขาว
วิตามินอี
ช่วยป้องกันความเครียดที่เกิดจากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหัวใจและตัวการทำให้ผิวเหี่ยว แก่ก่อนวัย โดยอาหารที่มีวิตามินอีสูง คือ น้ำมันพืชต่างๆ เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา จมูกข้าวสาลี
วิตามินบี
หากร่างกายขาดวิตามินบี อาจทำให้การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ และเพิ่มความเครียดให้กับเซลล์ เกิดอาการซึมเศร้า หงุดหงิด วิตามินบีพบมากในธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ ไก่ ปลา หมู ผลิตภัณฑ์จากนม
วิตามินซี
เมื่อร่างกายเครียด ต่อมหมวกไตจะใช้วิตามินซีมากขึ้น เราจึงต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้นในช่วงเครียดเพื่อชวดลดอันตรายที่มีผลจากฮอร์โมนความเครียด (ฮอร์โมนอะดรีนาลีน) และช่วยร่างกายรับมือความเครียดได้ดี เพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย โดยอาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว ฝรั่ มะขาม มะขามป้อม มะละกอสุก แคนตาลูป มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ พริกหวาน คะน้า บรอกคี ผักโขม
แมกนีเซียม
ขณะที่ร่างกายเครียด ร่างกายจะสูญเสียแมกนีเซียมไปกับปัสสวะมากกว่าปกติ หากช่วงนั้นร่างกายเจ็บป่วยอยู่พอดีการขาดแมกนีเซียมยิ่งทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า โดยแมกนีเซียมพบมากใน เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็ง
สังกะสี
หากร่างกายเครียด โดยมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วย สังกะสีในเลือดจะต่ำ ทำให้ฟื้นตัวช้า ติดเชื้อ เป็นแผลเรื้อรังง่าย หรือทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน สังกะสิพบมากในเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล
นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารรสหวานจัด ไม่กินอาหารเค็มจัด และไม่กินอาหารไขมันสูง ก็เป็นอีกวิธีคลายเครียดที่จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจรับมือความเครียดที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสืออาหารต้านโรค, Amarin Health