ปวดหัวไมเกรน อาการปวดหัวที่ชวนให้ปวดใจ เป็นทีไรก็อยากโดดงานทุกที
ปวดหัวไมเกรน โรคปวดหัวที่มักพบในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่เราพบเจอทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด สภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เสียงดัง แสงสว่าง อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เป็นต้น จึงทำให้คนวัยทำงานเป็นโรคไมเกรนได้ง่าย เมื่ออาการกำเริบ ก็จะมีอาการที่หนักขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถทำงานต่อได้ ควรต้องหยุดพัก ซึ่งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจถึงความรุนแรง และเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าคนเป็นไมเกรนนั้นมีอาการไม่หนักมาก ไม่จำเป็นต้องลางาน หรือ หยุดพักอยู่บ้านก็ได้
วันนี้ Goodlife จึงขอไขความกระจ่าง นำข้อมูลเกี่ยวกับโรคไมเกรน มาสรุปให้ทุกคนอ่านแบบเข้าใจง่ายกันค่ะ
โรคไมเกรนคืออะไร?
โรคไมเกรน ไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไปอย่างที่คนเข้าใจกัน แต่เป็นโรคทางสมอง ที่จะมีอาการเมื่อร่างกายของเราเผชิญกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ภาวะความเครียดสูง การนอนหลับพักผ่อนที่ผิดเวลา การเดินทางที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความร้อน ความหนาว เป็นต้น
หากเปรียบเทียบโรคไมเกรนให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น สามารถเปรียบเทียบโรคไมเกรน คือ โรคภูมิแพ้ โดยที่โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจและจมูก จะมีอาการคัดจมูกและจาม และ โรคไมเกรน คือภูมิแพ้ทางสมอง ที่จะมีอาการปวดศีรษะนั่นเอง
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไมเกรนบ้าง?
เราสามารถพบผู้ป่วยโรคไมเกรนมากถึง 1 ใน 7 ของประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยโรคไมเกรน ส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20 – 40 ปี มากที่สุด และมักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุที่ทำให้เกิดไมเกรน
มีหลายสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน โดยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ปัจจัยทางพันธุกรรม คิดเป็นร้อยละ 10 – 20
- ปัจจัยด้านพฤติกรรม และ สิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า คิดเป็นร้อยละ 80 – 90
ซึ่งแบ่งได้เป็นทั้งหมด 2 ประเภท คือ
- ตัวกระตุ้นภายใน: ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ฮอร์โมน หรือการมีรอบเดือน เป็นต้น
- ตัวกระตุ้นภายนอก: กลิ่น เสียง แสง อากาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง หรือประสาทสัมผัสทั้งหมด
- สำหรับผู้ป่วยโรคไมเกรนเพศหญิงจะมีผลกระทบจากโรคมาก สืบเนื่องจากปัจจัยการแกว่งของฮอร์โมน ซึ่งในบางกรณีอาการของโรคมีปัจจัยสอดคล้องกับการมีรอบเดือนได้เช่นกัน
อาการของโรคไมเกรน
โรคไมเกรนยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิดง่าย ซึ่งหากยิ่งซ้ำเติมด้วยตัวกระตุ้นก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก
ระยะของโรคไมเกรน สามารถจำแนกได้ด้วย ระดับความปวดศรีษะของโรคไมเกรน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะนำ (Prodrome) คือ ระยะก่อนเริ่มมีอาการปวดศีรษะประมาณ 1 – 2 วันล่วงหน้า โดยผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสมองที่ควบคุมร่างกาย เช่น ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมและความอยากอาหารมากกว่าปกติ
- ระยะอาการเตือน (Aura) คือ ระยะการเตือนก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ ประมาณ 5 – 60 นาที แต่จะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกคน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มองเห็นแสงกระพริบ ๆ แสงซิกแซก มองเห็นเป็นเส้นคลื่น หรืออาการที่เกิดจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า การพูดลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้น และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้หากมีหลายอาการ
- ระยะปวดศีรษะ (Headache) คือ ระยะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีอาการปวดแบบตุบ ๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น มักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยบางรายอาจไวต่อแสงหรือเสียงดัง ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนานถึง 4 – 72 ชั่วโมง
- ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Resolution) หรือ ระยะพัก คือ ระยะที่อาการปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ ค่อย ๆ ลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกินระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากหายปวดศีรษะ
- โรคไมเกรน สามารถจำแนกผู้ป่วยตามระยะการดำเนินโรคออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบครั้งคราว คือมีจำนวนความถี่ของอาการปวด ไม่เกิน 15 วันต่อเดือน
- ผู้ป่วยโรคไมเกรนแบบเรื้องรัง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดไมเกรนบ่อยครั้ง และปวดไมเกรนมากกว่า 15 วันต่อเดือน (หรือวันเว้นวันในหนึ่งเดือนนั่นเอง)
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนเรื้อรัง มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้สูงถึง 40%
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไมเกรน
- ไมเกรนไม่ใช่แค่โรคปวดหัว
- เวลาเกิดอาการไมเกรนจะมีอาการปวดที่รุนแรงกว่าการปวดหัวปกติ
- เมื่อมีอาการไมเกรน และ พบสิ่งกระตุ้น/สิ่งเร้า จะทำให้การปวดหัวทวีความรุนแรง และอาการปวดแย่ลง
- อาการไมเกรน มีอาการอื่นร่วมด้วยอาทิ อาการทางประสาท (แขนขาชา ตาพร่ามัว ฯลฯ) คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ ฯลฯ
- แม้ไมเกรนเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาอาการไมเกรนให้เป็นน้อยได้
เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ควรพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคไมเกรนอย่างจริงจัง
- ผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนเรื้อรังที่มีอาการโรคไมเกรนมากกว่า 15 วันต่อสัปดาห์หรือวันเว้นวัน และในกรณีของผู้ป่วยโรคไมเกรนที่เมื่อเกิดอาการในแต่ละครั้งมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาโรคไมเกรนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ในกรณีผู้ป่วยโรคไมเกรนที่มีการใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวกับร่างกาย หากรับประทานติดต่อกันเป็นประจำ หรือ ติดต่อกันมากกว่า 3 วัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลโดยตรงถึงอาการปวดโรคไมเกรน ที่อาจจะทำให้มีอาการดื้อยาได้
- ซึ่งผู้ป่วยดังที่กล่าวมา จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคไมเกรน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษา ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาแบบป้องกัน หรือ การรักษาแบบไม่ใช้ยา ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นส่วนสำคัญ
การรักษาและการจัดการกับโรคไมเกรน
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- งด/เว้นอาหารบางชนิด เช่น กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่มีส่วนประกอบของชีส เนยแข็งบ่มนาน อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ผงชูรส น้ำตาลเทียม ช็อคโกแลต ผลไม้รสเปรี้ยวจัด อาหารมันจัด เป็นต้น
- กินข้าวให้ตรงเวลา
- พักผ่อนให้เพียงพอ ขั้นต่ำ 7 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน และควรนอนก่อน 5 ทุ่ม เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ร่างกายจะฟื้นฟูตนเองและมีการหลั่งของสารเอสโตรเจน
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
- การออกกำลังกาย เนื่องจากช่วยทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนเอนโดรฟิน ที่ช่วยบรรเทาอาการฯ
- การนั่งสมาธิ หรือการทำ Emotional Detox
- Music Therapy
- Cognitive Behavioral Therapy
- การทำกายภาพบำบัด
- โยคะ
- กลิ่นบำบัด
- การรักษาแบบใช้ยา
- การใช้ยาแก้ปวด หรือ ยาระงับอาการปวด ซึ่งจะใช้เฉพาะตอนที่มีอาการปวดเพื่อบรรเทาอาการในช่วงไมเกรนกำเริบ
- การใช้ยาป้องกัน คือ เพื่อลดความถี่ของการเกิดโรคฯ โดยต้องใช้ต่อเนื่องและควรอยู่ภายในการควบคุมดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ อย่างเช่น แพทย์ และ เภสัชกร
- นวัตกรรมของการรักษาโรคไมเกรน ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
- ยากลุ่มชีวโมเลกุล เป็นนวัตกรรมยากลุ่มใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับป้องกันโรคไมเกรน
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมอง
การรักษาแบบใช้ยาวิธีต่างๆ จะต้องได้รับคำแนะนำและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความเหมาะสมต่อการรักษา การตอบสนอง และผลข้างเคียงจากยาที่แตกต่างกัน
- การสังเกตพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินโรค ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่แพทย์จะสามารถให้คำแนะนำและการรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้นได้ ดังนั้น แนะนำให้จดบันทึกจำนวนวันปวดศรีษะ (Migraine Diary) ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- การบันทึกอาการปวดศรีษะ ความถี่ของการปวด ระดับความรุนแรง
- ชนิดยา และ ความถี่ของการใช้ยา
- อาการร่วมของการปวดในแต่ละครั้ง
ปัจจุบัน มีแอพพลิเคชั่นสำหรับการบันทึกอาการไมเกรนและประมวลผลอาการไมเกรน ชื่อแอพพลิเคชั่น smile migraine ซึ่งผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวชและทีมงานได้พัฒนาขึ้นมา ทำให้สามารถติดตามอาการได้ด้วยตัวเองและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
คำแนะนำในการดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการไมเกรน
- ผู้ป่วยโรคไมเกรนควรจะอธิบายและทำความเข้าใจกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น ญาติ เพื่อน หัวหน้า เพื่อนร่วมงานฯ ให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคไมเกรน อาการและข้อควรระวังเมื่อเกิดโรค
- ควรจะเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เช่น การพกยาแก้ปวดติดตัว หรือหากเป็นบริษัท/ที่ทำงาน ควรจะมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ดูแลเบื้องต้น เช่น เจลเย็น, น้ำแข็งประคบศรีษะ เพื่อบรรเทาอาการ
- หาสถานที่ที่ปลอดสิ่งเร้า เพื่อหยุดพักให้อาการดีขึ้น
- หากมียาแก้ปวดควรจะรีบทานยาแก้ปวดทันทีที่มีอาการ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ขอขอบคุณภาพจาก Pinterest
บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- 7 สัญญาณ สุขภาพผิว ที่บ่งบอกว่าผิวของเราต้องการการดูแลด่วน
- 6 ขั้นตอนง่ายๆ แต่งหน้าใสๆ เหมือนหน้าสวยมาตั้งแต่เกิด หนาวแค่ไหนผิวก็ดูละมุน
- 3 เทคนิค สลัดความขี้เกียจ ปลุกตัวเองให้สดใส ต้อนรับอากาศหนาว
- 6 วิธีใช้บอกรักแฟน สร้างโมเมนต์สุดสวีท แทนการพูดว่ารักตรงๆ
