10 เทคนิคที่ คนใช้รถไฟฟ้า ควรรู้ เพื่อการใช้ชีวิตในเมืองแบบ Smart สุดๆ
Goodlifeupdate มีเทคนิคดีๆ สำหรับ คนใช้รถไฟฟ้า ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตบนรถไฟฟ้าของเรามีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิธีการยืนทรงตัวอย่างไร ให้มั่นคง แข็งแรง จะเบรกจะเลี้ยวยังไงก็ไม่ล้ม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่คนเยอะแน่นเต็มขบวนรถไฟ ยิ่งทำให้เราทรงตัวได้ยากขึ้น หรือวิธีการใช้รถสาธารณะอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
-
ทิศทางในการยืน
ยืนหันข้างให้กับทิศทางที่รถวิ่ง หรือ เรียกง่ายๆ คือ ยืนหันหน้าหรือหันหลังให้กับแถวที่คนนั่ง เพื่อที่เวลารถเบรก หรือเลี้ยว เราจะได้โยกซ้ายขวาเพื่อทรงตัวได้ ไม่ล้มคะมำไปข้างหน้าเวลาที่รถเบรกหรือหงายไปข้างหลังเวลาที่รถออกตัว
-
ท่ายืนที่ช่วยทรงตัวได้ดี
วิธีการยืนที่สามารถทรงตัวได้ดี เราควรยืนกางขาออกจากกันเล็กน้อย ในระดับที่ไม่เกะกะคนอื่น เท้าข้างหนึ่งชี้ไปข้างหน้า เท้าอีกข้างชี้ไปด้านข้างทำมุม 45 องศา เพื่อให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเบรก จะเลี้ยวก็ไม่โอนเอน
-
ย่อเข่าเล็กน้อยทุกครั้งที่รถโยก
ถ้ารถค่อนข้างแน่น มีพื้นที่ในการยืนน้อย เกาะหรือจับราวได้ไม่ถนัด ลองยืนกางขาเล็กน้อยเท่ากันความกว้างของช่วงไหล่เรา หันปลายเท้าให้ชี้ออกจากกันเล็กน้อย แล้วย่อเข่าเล็กน้อยทุกครั้งที่รู้สึกโยกเยกโอนเอน เพื่อช่วยซัพพอร์ตแรง และช่วยในการทรงตัวได้ดีขึ้น
-
อย่าพิงเสาในช่วงเวลาคับขัน
การยืนพิงเสาสามารถทำได้ในช่วงเวลาที่ผู้โดยสารน้อย แต่ถ้าคนเยอะ เบียดแน่น ควรแบ่งปันเสาและราวจับให้กับผู้โดยสารคนอื่นๆ
-
อย่าพิงประตูรถไฟ
พยายามหลีกเลี่ยงการยืนพิงประตูรถไฟ เนื่องจากเป็นจุดที่ต้องมีการเปิดปิดอยู่ตลอด อาจเกิดอันตรายได้ พยายามหาที่จับเอาไว้ให้มั่น และมีสติทุกครั้งที่ยืนบริเวณใกล้ประตู
-
เดินทางไกล เดินเข้าข้างในดีที่สุด
หากเราจะต้องเดินทางไกลอีกหลายสถานีกว่าจะถึงจุดหมาย เมื่อก้าวเข้าไปในรถไฟฟ้าแล้ว แนะนำให้เดินลึกเข้าไปตรงกลางตู้โดยสาร เนื่องจากเป็นจุดที่ไม่แออัดเท่ากับบริเวณใกล้ประตู และไม่เกะกะเวลาที่ผู้โดยสารท่านอื่นเดินขึ้นลง
-
เสียบหูฟังไม่แน่น อาจได้แบ่งปันเพลงให้เพื่อนร่วมทางฟัง
ระมัดระวังการฟังเพลงบนรถไฟฟ้า บางครั้งเราคิดว่าเราเสียบหูฟังมิดชิดเรียบร้อยแล้ว แต่หลายครั้งที่เจอคนเสียบหูฟังไม่สนิท แล้วเสียงเพลงดังออกมาดังลั่นจนผู้โดยสารคนอื่นได้ยินกันหมด ทุกครั้งที่ฟังเพลง อย่าลืมตรวจสอบหูฟังให้เรียบร้อยก่อนใช้นะคะ
-
ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันโรค
เมื่อจับบัตรรถไฟฟ้า จับราวลันได ราวจับต่างๆ ที่ต้องสัมผัสร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น โรคตาแดง ไข้หวัดต่างๆ และป้องกันการเกิดสิว และผื่นแพ้ อาจพกแอลกอฮอล์เจลติดตัว เพื่อเอาไว้ล้างมือในยามฉุกเฉิน
9. พกผ้าปิดจมูกติดตัวอยู่เสมอ
ในช่วงเวลาคับขัน ที่มีคนอื่นร่วมเดินทางไปบนรถไฟขบวนเดียวกับเราเยอะๆ บางครั้งเราอาจต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนที่กำลังเจ็บป่วยไม่สบาย ไอค่อกแค่กได้ เพื่อความปลอดภัยและสบายใจ เราควรพกผ้าปิดจมูก หรือหน้ากากอนามัยติดตัวอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้สามารถหยิบขึ้นมาสวมใส่ได้ตลอด ป้องกันตัวเราจากฝุ่นละองง และโรคติดต่อต่างๆ
10. ใส่ใจคนรอบข้างอยู่เสมอ
หากเรายืนอยู่ใกล้กับประตู หรืออยู่ใกล้กับที่นั่งพิเศษ ควรคอยมองสอดส่อง ว่ามีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้หญิงตั้งครรภ์ พระสงฆ์ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่หรือเปล่า จะได้หลีกทางหรือพามานั่งที่นั่งพิเศษได้อย่างรวดเร็ว
ขอขอบคุณภาพสวยๆ จาก Pinterest
บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
- 5 Application เพื่อสุขภาพ ที่สาวเฮลตี้ควรมีติดมือถือไว้
- [email protected] Podcast: ทำอย่างไรจึงจะเป็น คนใจดี ที่มีความสุขกับการทำงาน
- Low Impact Exercise เทรนด์ใหม่ของการ ออกกำลังกายในคอนโด ไม่ต้องกระโดด ไม่ส่งเสียงดัง
- คนคิดบวกไม่ใช่พวกโลกสวย แต่คือคนมองทุกอย่างในแบบที่มันเป็นต่างหาก!
