8 อาหารที่ไม่ควรกินพร้อมกับยา เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่าผลดี

อาหารที่ไม่ควรกินพร้อมกับยา เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้มากกว่าผลดี

เชื่อว่าเวลาจะรับประทานยา หลายคนอาจเคยฉุกคิดหรือเกิดความสงสัยกันแน่ๆ ว่า อาหารที่ไม่ควรกินพร้อมกับยา หรือเครื่องดื่มที่ไม่ควรทานคู่กับยา นั้นมีอะไรบ้าง วันนี้ Goodlifeupdate จึงอยากขอพาทุกคนมาไขข้อข้องใจเหล่านี้กันค่ะ

อาหารและยาต่างเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ไม่แพ้กัน บ่อยครั้งจึงมีผู้ป่วยถามเภสัชกรว่า “ถ้ากินยาตัวนี้กับอาหารชนิดนี้แล้วจะแสลงไหม” หรือ “กินยาตัวนี้ แล้วต้องกินอาหารเสริมอะไรไหม”

จริงๆ แล้วจะเรียกอาหารคงไม่ถูกต้อง แต่ต้องเรียกว่า “สารอาหารบางประเภท” ต่างหาก ที่มีผลต่อยาบางชนิด ซึ่งจะมีอะไรบ้าง และมีผลอย่างไรนั้น เราตามมาดูกันค่ะ

นม

นมเป็นอาหารที่ประกอบด้วยวิตามินแร่ธาตุที่มีประโยชน์ แต่ในบางสภาวะ เช่น ตอนท้องเสียแล้วได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้อาจเกิดภาวะยาตีกันได้ เช่น ยากลุ่มควิโนโลน (quinolone) ที่ชื่อว่า นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) หากกินพร้อมนมจะทำให้ยาเกิดการจับตัวเป็นตะกอน ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้

ดังนั้น ทางที่ดีควรงดเว้นการกินยาพร้อมการดื่มนม หรือเว้นระยะห่างระหว่างการกินยากับดื่มนมประมาณ 2 ชั่วโมง

น้ำแร่

ในยุคที่มี ‘น้ำแร่’ ในท้องตลาดหลายยี่ห้อ หลายคนอาจเลือกดื่มน้ำแร่กับยา เพราะเข้าใจว่ามีประโยชน์ทั้งคู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว น้ำแร่ไม่ต่างจากนม เพราะมีแร่ธาตุที่มีผลต่อการดูดซึมของยา ออกฤทธิ์คล้ายกับการกินนมพร้อมยา จึงไม่ควรดื่มน้ำแร่พร้อมกับยา

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

เช่น สุรา เบียร์ เมื่อกินพร้อมยาฆ่าเชื้อ เมโทรนิดาโซล (metronidazole) ยาต้านเชื้อรา กริซีโอฟูลวิน (griseofulvin) หรือยารักษาเบาหวาน ไกลบูไรด์ (glyburide) อาจทำให้เกิดอาการคล้ายคนเมาค้าง disulfiram like side effect มีอาการตัวแดง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจถึงขั้นแน่นหน้าอกได้ รวมถึงการใช้ยานอนหลับร่วมกับสุรา อาจทำให้เกิดอันตรายจากการเสริมฤทธิ์กดประสาทจนหยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้

อาหารที่ไม่ควรกินพร้อมกับยา กินยา ยา

น้ำผลไม้บางชนิด

เช่น เกรปฟรุต เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับส้มโอ แม้จะมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่มีงานวิจัยพบว่า การดื่มน้ำเกรปฟรุตมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาหลายชนิด เช่น ยาลดความดัน ฟิโลดิปีน (felodipine) แอมโลดิปีน (amlodipine) ยาลดไขมันในเลือด ซิมวาสแตติน (simvasatatin) ยาคลายเครียด ไดอะซีแพม (diazepam) เนื่องจากการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยา จนระดับยาในเลือดสูงขึ้นและอาจเกิดอันตรายได้

แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่นิยมดื่มน้ำเกรปฟรุตเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เครื่องดื่มจำพวกน้ำเสาวรสหรือส้มซ่าก็มีความใกล้เคียงกับน้ำเกรปฟรุตอยู่เหมือนกัน จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยากลุ่มนี้

ผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง

เช่น บรอกโคลี ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ควรจำกัดการบริโภคให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด วาร์ฟาริน (warfarin) จำเป็นต้องให้คำแนะนำกับผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงการกินเจ

ผลไม้ประเภทกล้วย ส้ม ที่มีโพแทสเซียมสูง 

เนื่องจากโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีผลต่อการใช้ยาขับปัสสาวะ หากระดับโพแทสเซียมในเลือดผิดปกติจนทำให้เกิดพิษจากยาที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ไดออกซิน (digoxin)

อาหารที่ไม่ควรกินพร้อมกับยา กินยา ยา

อาหารหมักจำพวกยีสต์หมัก เบียร์หมัก ไวน์ อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก ถั่วปากอ้า ช็อกโกแลตที่มีส่วนประกอบของสารไทรามีน

แม้จะมีคุณสมบัติช่วยควบคุมความดันโลหิต แต่ถ้ากินอาหารที่มีสารไทรามีนสูงร่วมกับการกินยาต้านโรคซึมเศร้าบางชนิดในกลุ่ม MAOIs เช่น เซเลจิรีน (selegiline) อาจทำให้สารไทรามีนสะสมมากกว่าปกติ จนเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ความดันโลหิตสูงขึ้นจนเป็นอันตรายได้

ขนมหรือลูกอมที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศ (liquorice)

เป็นสารแต่งกลิ่นในขนมที่นำเข้าจากต่างประเทศ หากกินในปริมาณมากและต่อเนื่องนานๆ จะทำให้เกิดการคั่งสะสมของเกลือและน้ำ ทำให้ตัวบวม ถ้ากินร่วมกับยาลดความดันโลหิตก็จะออกฤทธิ์ขัดแย้งกัน ส่งผลให้ยาลดความดันออกฤทธิ์ไม่เต็มที่

นอกเหนือจากสารอาหารที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาโดยตรงแล้ว ยังมีสารอาหารบางประเภทที่มีผลต่อโรคประจำตัว เช่น การกินอาหารเค็ม ซึ่งมีผลต่อโรคความดันโลหิตสูง การกินอาหารหวานมีผลต่อโรคเบาหวาน การกินอาหารมันมีผลต่อระดับไขมันในเลือด หรือการกินอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ปีก ที่มีผลต่อโรคเกาต์ ดังนั้น จำเป็นต้องควบคุมอาหารเหล่านี้ร่วมด้วย เพื่อทำให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : หนังสือ “Drug Guru ฉลาดรู้เรื่องยา” – Amarin Health

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.