นอนกรน

นอนกรน อาการเริ่มต้นของโรคหยุดหายใจขณะหลับ ป้องกัน-รักษาได้ด้วยการปรับนิสัยการนอน

นอนกรน อาการเริ่มต้นของโรคหยุดหายใจขณะหลับ ป้องกัน-รักษาได้ด้วยการปรับนิสัยการนอน

นอนกรน เป็นอาการที่พบได้บ่อย และพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการนอนกรน ไม่ได้เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับคนที่นอนข้างๆ แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับโรคหยุดหายใจขณะหลับได้

 

นอนกรนเกิดจากอะไร?

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนอนกรน เกิดจากการที่ช่องคอแคบลงมากกว่าปกติในขณะหลับ ทำให้ลมหายใจเข้า-ออกแรงขึ้น ซึ่งเนื้อเยื่อของผนังคอ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ และโคนลิ้นมีการสั่นสะเทือนจนเกิดเสียงดังขึ้น

โดยคนที่มีอาการมาก จะพบว่าผนังคอยุบตัวลงจนอากาศไม่สามารถผ่านไปได้ชั่วขณะ หรือเรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ

นอนกรน
นอนกรน อาการเริ่มต้นของโรคหยุดหายใจขณะหลับ

 

โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) เกิดจากอะไร?

จากสถิติพบว่า ร้อยละ 20 ของผู้ที่นอนกรนเป็นประจำมักมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย

ผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก โดยอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต ความจำถดถอย การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และยังอาจเกิดภาวะง่วงนอนกลางวันมากกว่าปกติ อาการหลับใน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

โรคหยุดหายใจขณะหลับมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน

  • ผู้ที่มีการหยุดหายใจขณะหลับในระดับรุนแรงน้อย คือ น้อยกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีอัตราการเสียชีวิตจากการหยุดหายใจขณะหลับเฉลี่ยร้อยละ 8
  • หากหยุดหายใจมากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-16
  • เมื่อเทียบกับคนปกติแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงกว่า 2-3 เท่า
  • เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ 2 เท่า
  • เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 3 เท่า

ดังนั้น หากพบว่าตัวเราเองหรือคนที่เรารัก มีอาการนอนกรนเป็นประจำ แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ และให้ความสำคัญในการหาวิธีป้องกันและรักษาอาการนอนกรนอย่างเหมาะสมต่อไป

 

นอนกรนบ่อย ควรทำอย่างไรดี?

อาจารย์ แพทย์หญิงสุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวชศาสตร์การนอนหลับ แนะนำว่า ผู้ที่มีอาการกรน หรือสงสัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ แนะนำให้ไปพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพการนอนและมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จากนั้นอาจจะมีการให้ตรวจสุขภาพการนอนหลับ ซึ่งปัจจุบันจะมีห้องตรวจพิเศษที่เรียกว่า Sleep Lab ออกแบบเหมือนอยู่บ้านและคนไข้ต้องเข้ามานอนพักหนึ่งคืน

ภายในห้องนอนจะมีกล้องวงจรปิด และเครื่องมือติดที่ตัวคนไข้เพื่อตรวจวัดค่าการหยุดหายใจ และระดับออกซิเจนขณะหลับ จากนั้นจึงนำค่าทั้งหมดที่ได้มาประมวลว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกแนวทางการรักษาในขั้นถัดไป

นอนกรน
ผู้ที่มีอาการกรน หรือสงสัยว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี

 

วิธีการรักษาอาการนอนกรน

แนวทางการรักษา ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและชนิดของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น โดยในผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงต่ำ แพทย์จะแนะนำให้ทำดังนี้

  1. ปรับนิสัยการนอนด้วยการนอนหลับในระยะเวลาที่เพียงพอ คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน
  2. นอนและตื่นให้เป็นเวลา
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มชา กาแฟ และบุหรี่
  4. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน จำเป็นต้องมีการลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงระดับปานกลางและมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure Therapy) หรือ CPAP ซึ่งเป็นเครื่องอัดอากาศเข้าทางช่องจมูกหรือปาก เพื่อให้ช่องคอและทางเดินหายใจส่วนต้นมีอากาศไหลเวียนได้ในขณะหลับ ใช้เครื่องมือในช่องปาก และการผ่าตัด

นอนกรน
แนวทางการรักษา ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและชนิดของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น

 

ด้านนายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราต้องบอกว่า

การนอน ถือเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จากผลสำรวจด้านการนอนประจำปีของฟิลิปส์ โกลบอล “The Global Pursuit of Better Sleep Health” พบว่า ร้อยละ 44 ของประชากรในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกยอมรับว่าตัวเองมีการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และประสบปัญหาการหลับกลางวันระหว่างสัปดาห์

ในขณะที่ประชากรส่วนมากนอนหลับเฉลี่ยเพียงแค่ 6.3 ชั่วโมงในช่วงวันทำงาน และ 6.6 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งต่ำกว่า 8 ชั่วโมงตามคำแนะนำ จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนอนหลับที่เพียงพอ

นอกจากนี้ 8 ใน 10 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องการพัฒนาการนอนหลับของตนให้ดีขึ้น และ ร้อยละ 50 ของผู้ตอบผลสำรวจ พบว่า สาเหตุหลักของการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เกิดมาจาก “ความเครียด” ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การง่วงในเวลากลางวัน การไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน เป็นต้น

การนอนส่งผลกระทบทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และ สุขภาพในระยะยาว

สำหรับผู้ที่สนใจ หรือสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ Philips.com.sg/saveoursleep.

 

อขอบคุณข้อมูลจาก ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และด้วยความห่วงใยจาก บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “WORLD SLEEP DAY 2019 – ใครว่า “การนอน” เป็นเรื่องเล่น ๆ” เนื่องในวันนอนหลับโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการนอน และส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ และโรคหยุดหายใจขณะหลับ

 

บทความเพื่อการนอนหลับพักผ่อนอย่างถูกวิธี

รู้ทันสิ่งที่ห้ามทำก่อนเข้านอน และ 8 เคล็ดลับเพื่อการนอนหลับฝันดี

เชื่อสิว่า ถ้าก่อนนอนสวย…ตื่นมาก็จะสวย!!

เทคนิคสร้างชั่วโมงส่วนตัว ขอเวลานอกให้ชีวิต เพื่อ พักผ่อนสมอง ให้หายล้า

วิธีการพักผ่อน ที่ถูกต้อง สำหรับคนที่รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง จากการทำงาน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.