สร้างแบรนด์ของตัวเอง

3 แนวทาง ปรับไลฟ์สไตล์ให้ทันโลก สำหรับคนที่อยาก สร้างแบรนด์ของตัวเอง

3 แนวทาง ปรับไลฟ์สไตล์ให้ทันโลก สำหรับคนที่อยาก สร้างแบรนด์ของตัวเอง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนได้เปลี่ยนชีวิตคนทั่วโลกไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบอาเซียนที่มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง IoT (Internet of Things) และ AI (Artificial Intelligence) ได้กลายมาเป็นที่จับตามองของหลากหลายวงการในฐานะคลื่นลูกใหม่ต่อจากสมาร์ทโฟน ที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะคนที่อยาก สร้างแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งต้องเร่งปรับตัว

 

จับตา IoT-AI เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ HILL ASEAN แนะ 3 แนวทางเจาะตลาดอาเซียน

เมื่อไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แน่นอนว่าแนวทางการตลาดย่อมต้องปรับตัวตาม ล่าสุด ศูนย์วิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือ “HILL ASEAN” (Hakuhodo Institute of Life and Living Asean) คลังสมองด้านวิชาการในเครือบริษัทฮาคูโฮโด อิงค์ บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ได้ชี้แจงว่า

มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบและแบรนด์ต่างๆ ต้องเตรียมรับมือกับเทรนด์แห่งอนาคตนี้ โดยเน้นการทำตลาดแบบเรียลไทม์ให้มากยิ่งขั้น บนพื้นฐานของข้อมูลผู้บริโภคที่จะถูกรวบรวมเอาไว้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ไม่จำกัดแค่พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของ แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลสุขภาพ ความสนใจ ความชอบส่วนตัว และประวัติการสั่งซื้อสินค้า ฯลฯ

Internet of Things
ทีมนักวิจัยฮิลล์ อาเซียน ถ่ายภาพร่วมกัน

งานวิจัยฉบับล่าสุดของฮิลล์ อาเซียน ที่มีชื่อว่า “THINK FUTURE-FORWARD: How Asean Lives Evolve as Technology Gets Smarter” (TECH ล้ำทำชีวิตเปลี่ยน) ซึ่งเป็นผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างใน 6 ชาติอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ได้ระบุว่า

โลกยุคต่อจากสมาร์ทโฟนจะเป็นโลกที่มีทั้ง “Internet of Things” และ “Intelligence of Things” กล่าวคือเป็นยุคที่สิ่งของเครื่องใช้สามารถคิดวิเคราะห์และปฏิบัติการได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านสมาร์ทโฟนอีกต่อไป สืบเนื่องมาจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและ AI

Internet of Things
ยุคใหม่ของ IoT เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค

ทั้งนี้คาดการณ์กันว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โลกนี้จะมีจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยเทคโนโลยี IoT เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าของสมาร์ทโฟน ทำให้บริษัทไอทีต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

Internet of Things
ยุคใหม่ของ IoT เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค

ตัวอย่างชัดเจนคือยักษ์ใหญ่จากสองฝั่งของโลกคือ สหรัฐอเมริกาที่มี Google, Apple, Facebook. Amazon, Microsoft หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม GAFAM กับจีนที่มี Baidu, Alibaba, Tencent, Xiaomi หรือกลุ่ม BATX ซึ่งพัฒนาระบบปฏิบัติการผู้ช่วยอัจฉริยะ ให้มีความฉลาดขึ้นเรื่อยๆ และโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปหลังยุคสมาร์ทโฟน

ทักษะแห่งอนาคต
โกโร โฮคาริ กรรมการผู้จัดการฮิลล์ อาเซียน

โกโร โฮคาริ กรรมการผู้จัดการ ฮิลล์ อาเซียน ซึ่งนำทีมคณะนักวิจัยมาเปิดผลศึกษาชิ้นนี้ในงานสัมมนา ASEAN Sei-Katsu-Sha Forum 2019 ได้อธิบายว่า การแพร่หลายของเทคโนโลยี IoT จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการคือ

  • การมาถึงของยุคไร้จอ “Beyond the Screen” โลกดิจิทัลจะก้าวข้ามรูปแบบของหน้าจอและแผ่ขยายไปอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถยนต์ระบบเมือง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมต่างๆ

  • การเกิดขึ้นของฐานข้อมูล “Me Data” เมื่อ IoT แพร่พลาย ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา (Me Data) เช่น พฤติกรรมในอดีต ประวัติการซื้อสินค้าและบริการ ความชื่นชอบส่วนตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ จะถูกเก็บสะสมอยู่ในอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงถึงกัน โดยมีศูนย์กลางการควบคุม 1 ไอดีเท่านั้น
  • การให้คำแนะนำที่ตรงใจ (Predictive Recommendation) ยิ่ง Me Data เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานได้มากขึ้นเท่าใด ระบบ AI อัจฉริยะก็จะยิ่งสามารถวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น ถึงขั้นที่สามารถให้คำแนะนำหรือนำเสนอสินค้าและบริการที่เราต้องการได้ทันที ผ่านอุปกรณ์ IoT ต่างๆ

  

เทคโนโลยี Iot-AI เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภคอาเซียน

ขณะเดียวกัน รูปแบบสื่อในสังคมจะแปรสภาพตามไปด้วยจากที่เคยเป็น Mass Media ก่อนมาถึงยุคของ Interactive Media และ Personalized Media ในปัจจุบัน จะทำให้เกิดสื่อรูปแบบใหม่ที่คณะนักวิจัยของฮิลล์ อาเซียนตั้งชื่อให้ว่า “Assistive Media” ซึ่งจะทำการวิเคราะห์ข้อมูล Me Data แล้วจึงเสนอแนะสิ่งที่ผู้บริโภคน่าจะชอบหรือต้องการในช่วงเวลานั้นๆ ทั้งในรูปแบบของข้อมูล หรือ Solution สินค้าหรือบริการต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องลงมือค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองอีกต่อไป (Optimal solutions at the optimal time)

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคย่อมไม่เหมือนเดิมเช่นกัน งานวิจัยชิ้นนี้คาดการณ์ต่อว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ผู้บริโภคในอาเซียนจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป 2 รูปแบบ

  • ประการแรก เรียกว่า “Bye-Bye Boring Routines”

เทคโนโลยี Iot และ AI จะเข้ามาช่วยให้กิจวัตรซ้ำๆ ตามปกติในแต่ละวันของผู้บริโภคลดลง ทั้งยังทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และสนุกยิ่งขึ้น เช่น การซื้อของใช้ประจำวัน ซึ่งปกติแล้วผู้บริโภคอาจไม่มีความชอบใดเป็นพิเศษ เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือแนะนำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองอีกต่อไป

  • พฤติกรรมแบบที่สอง เรียกว่า “Match-Me Journey”

แทนที่จะต้องสิ้นเปลืองเวลาไปกับการหาข้อมูลเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการที่ดีที่สุด แต่ผู้บริโภคจะได้รับคำแนะนำจาก AI เกี่ยวกับสิ่งของและบริการน่าซื้อ ซึ่งถูกคัดกรองมาแล้วว่าตรงกับความชอบส่วนบุคคลของผู้บริโภค แล้วจึงค่อยทำการตัดสินใจซื้อในที่สุด

พฤติกรรมผู้บริโภค
พฤติกรรมผู้บริโภค 2 รูปแบบที่จะเปลี่ยนไป
IoT
มนัสริน ณ ระนอง Strategic Planning Manager หนึ่งในทีมวิจัย

 

แบรนด์และนักการตลาดควรปรับตัวอย่างไร

 จากแนวโน้มที่กล่าวมานี้ HILL ASEAN แนะนำให้ผู้ประกอบการธุรกิจและแบรนด์เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงด้วยการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ

 

  • Purpose Branding: กำหนดนิยามคุณค่าของแบรนด์ ชัดเจนเหมาะกับสถานการณ์

เมื่อมี Assistive Media เป็นตัวช่วยนำเสนอแบรนด์ “อันดับ 1” ในแง่ต่างๆ เช่น แบรนด์อันดับ 1 ในใจ, แบรนด์ที่ถูกค้นหาเป็นอันดับ 1, แบรนด์ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 หรือแบรนด์ที่มีราคาถูกที่สุด ฯลฯ จะทำให้การค้นหาข้อมูลของผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์อื่นๆ น้อยลง สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือ ให้คำนิยามที่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นจะเป็นประโยชน์และจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในเวลาหรือสถานการณ์ไหน เพื่อที่จะเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคต้องการ

Strategic Planning
อานันท์ปภา ศิริวรรณ Strategic Planning Director หนึ่งในทีมวิจัย
  • Life Solutions: พัฒนา Solution ครบวงจร ตอบโจทย์ทุกปัญหาผู้บริโภค

เพื่อที่จะเป็นสินค้าที่ถูกเลือกจากผู้บริโภคและ Assistive Media แบรนด์ต่างๆ ต้องทำมากกว่าการผลิตและขายสินค้า นั่นคือการนำเสนอ “life solutions” หรือสินค้าและบริการที่พัฒนาให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ อาจจะต้องร่วมมือกันสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศ online ขนาดใหญ่ เพื่อนำเสนอโซลูชันให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องพิจารณาด้วยว่าโซลูชันที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะช่วยแก้ปัญหาตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง

 

  • Real-Time Marketing: นำเสนอคอนเทนต์โดนใจ ฉับไวตรงสถานการณ์

แนวทางการทำการตลาดแบบ Real-time marketing ที่เน้นการสร้างคอนเทนต์การสื่อสาร ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความสนใจของผู้บริโภคแต่ละคนได้อย่างทันท่วงที จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาจต้องใช้ทั้งข้อมูลที่แบรนด์มีอยู่แล้วร่วมกับข้อมูลจาก Me Data โดยการทำตลาดแบบนี้จะช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่าง    แบรนด์กับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การใช้ประโยชน์จาก Me Data และการสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาเป็นของแบรนด์เอง จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการธุรกิจควรทำ

ดาวน์โหลดข้อมูลและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.hillasean.com/forum_2019/en/

บทความที่น่าสนใจ

Meta Skill 3 ทักษะที่ควรมี เพื่อการพัฒนาตนเอง พร้อมรับมือในยุคที่ AI ครองเมือง

5 ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน พัฒนาตัวเองให้เก่ง และ โดดเด่นกว่าใคร

ทักษะ 4.0 เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.