ซื้อของช็อปปิ้ง

สิ้นเดือนต้องไม่สิ้นใจ! ซื้อของช็อปปิ้ง อย่างไร ให้คุ้มค่า คุ้มเงิน

สิ้นเดือนต้องไม่สิ้นใจ! ซื้อของช็อปปิ้ง อย่างไร ให้คุ้มค่า คุ้มเงิน

ช่วงเวลาที่เงินเดือนออกนั้นช่างมีความสุขเหลือเกิน แค่นึกว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง ก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยหัวใจแล้ว แต่ช้าก่อน! ถ้ายังไม่อยากอดอยากปากแห้ง กินมาม่าประทังชีวิต แดดิ้นสิ้นใจตอนสิ้นเดือน มาดูเทคนิคการ ซื้อของช็อปปิ้ง ให้คุ้มค่า คุ้มเงิน กันค่ะ ถ้าทำตามนี้ รับรองว่า เงินทุกบาท ทุกสตางค์ของเราจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า คุ้มกับหยาดเหงื่อแรงงาน ของเราอย่างแน่นอนค่ะ

 

::: ศึกษาให้ดี ก่อนตัดสินใจซื้อ :::

ก่อนจะตัดสินใจซ์้อของสักชิ้น ค่อยๆ คิดให้ถี่ถ้วน ถึง “ความจำเป็น” ของของชิ้นนี้ ว่าจำเป็นกับชีวิตเรามากแค่ไหน ถ้าเราไม่มีของชิ้นนี้ จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเรามีของชิ้นนี้แล้ว ตัวเราจะเป็นอย่างไร

รวมไปถึงการศึกษาวิธีการใช้ รายละเอียด คุณสมบัติให้ดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามจากพนักงานขาย ปรึกษาคนที่เคยทดลองใช้จริง หรือศึกษาจากรีวิว (Review) จากที่ต่างๆ

 

::: ซื้อของที่คลาสสิก ไม่ “เชย” เร็ว :::

ควรเลือกซื้อสิ่งของที่ดูคลาสสิก เรียบ สุภาพ สามารถใช้ได้เรื่อยๆ ไม่ตกยุคหรือรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็ว เช่น เสื้อผ้าโทนสีสุภาพ สีขาว สีดำ ลายเรียบ ทรงเรียบ รองเท้าทรงสุภาพสีเรียบ ซึ่งสามารถหยิบมาใส่ได้เรื่อยๆ ในหลากหลายโอกาส ยกตัวอย่างเช่น เสื้อเชิ้ตสีขาว ทรงเรียบร้อย และกระโปรงสีดำ หรือสีกรมท่าที่สามารถนำมาใช้งานได้ในหลายโอกาส ตั้งแต่งานรับปริญญา สัมภาษณ์งาน พบลูกค้า ร่วมพิธีที่เป็นทางการ ร่วมงานศพ เป็นต้น จะนำมาใส่ซ้ำก็ไม่ถูกมองว่าสวมเสื้อผ้าซ้ำ เพราะเสื้อผ้าทรงนี้ คนส่วนใหญ่มักจะมีติดบ้าน ติดตู้เสื้อผ้าเอาไว้หลากตัว หลายชิ้น หลายเนื้อผ้าและวัสดุอยู่แล้ว

เสื้อผ้าบางทรง อาจได้รับความนิยมในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไป ก็อาจจะกลายเป้นเสื้อสุดเชย ที่เราไม่คิดจะหยิบมาสวมอีกเลย เสื้อบางลาย ดูสวยน่ารัก แต่พอผ่านไปสักพัก ก็แทบไม่มีใครหยิบมาใส่อีก เช่น เสื้อลายสับปะรดที่ฮอตฮิตช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ ก็ไม่ค่อยเห็นใครหยิบมาใส่อีกแล้ว

 

::: ซื้อของที่มีอายุการใช้งานยาวนาน :::

ของแพงใช่ว่าจะดีเสมอไป แต่ในขณะเดียวกัน ของถูกก็ใช่ว่าจะดีเสมอไปเช่นกัน

บางครั้งเราอยู่ในสภาวะ “เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายว่า หมายถึง เสียเพียงเล็กน้อยไม่ยอมเสีย ทำให้ต้องเสียมากกว่าเดิม เช่น ตอนที่เบรกรถยนต์เริ่มไม่ดี ก็ไม่รีบไปซ่อม พอเบรกแตกไปชนต้นไม้เข้า เลยต้องเสียค่าซ่อมมาก เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

บางครั้ว เรารู้สึกว่าของชิ้นนี้ราคาแพง ต้องเก็บเงินนานกว่าจะสามารถซื้อได้ เราจึงเลือกซื้อของที่ราคาถูกกว่า แต่มีปริมาณน้อยกว่า มีความคงทนแข็งแรงต่ำกว่า มีอายุการใช้งานน้อยกว่า ซึ่งหากเราพึงพอใจกับการซื้อแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะผู้เขียนเองก็ชอบซื้อนาฬิกาข้อมือราคาถูกๆ มาใช้ ใช้ไปไม่ถึงปี นาฬิกาก็พังเสียแล้ว พอนาฬิกาพัง ก็ซื้อเรือนใหม่ กลับรู้สึกดีใจที่นาฬิกาเสียบ่อยๆ จะได้เปลี่ยนนาฬิกาบ่อยๆ แก้เบื่อไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเราลองหารเฉลี่ยราคากับอายุการใช้งาน เราจะพบว่า การซื้อสิ่งของที่อาจมีราคาสูงขึ้นอีกนิด แต่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น ทำให้เราประหยัดได้มากกว่าการซื้อของราคาถูก ปริมาณน้อยๆ บ่อยครั้ง

::: ควบคุมรายจ่ายอยู่เสมอ :::

หากไม่อยากเป็นหนี้ ก็จง “ใช้เงินเท่าที่มี” แต่ถ้าเราอยากมีเงินเก็บ อยากสร้างวินัยทางการเงินให้กับตัวเอง ก็จง “ใช้เงินน้อยกว่าที่มี” แบ่งรายได้ของเราออกมาเป็นเงินเก็บ แล้วจึงค่อยนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายตามความเหมาะสม

 

::: จ่ายเงินไปกับสิ่งที่จะนำเงินกลับคืนมาให้เรา :::

เลือกเสียเงินไปกับสิ่งที่สามารถนำเงิน รายได้ และประโยชน์ต่างๆ กลับมาสู่ตัวเรา เช่น การซื้อหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม การซื้ออุปกรณ์ทำงานดีๆ เพื่อให้การทำงานของเราดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการเสียเงินเพื่อซื้ออาหารดีๆ มีประโยชน์ต่อร่างกาย การซื้ออุปกรณ์กีฬาเพื่อใช้ออกกำลังกาย ให้ร่างกายของเราแข็งแรง และการลงทุนกับที่นอนที่ดี สะอาด หลับสบาย ก็เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าในภายหลังเช่นกัน

 

เพียงเท่านี้ เราก็สามารถใช้เงินให้คุ้มค่า คุ้มราคาความพยายามของเราแล้วค่ะ

 

บทความที่น่าสนใจ

เช็คตัวเอง! พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต แบบไหน เป็นภัยต่อกระเป๋าตังค์

5 สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นคน ใช้เงินเกินตัว

วิธีเก็บเงินสำหรับคนทำงานประจำ ไลฟ์สไตล์มนุษย์เงินเดือน รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น

ใช้เงินแบบมีความสุข ด้วยลิสต์รายการสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่อยากได้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.