เพื่อนร่วมงานชอบนินทา

Work Tips: วิธีรับมือกับ เพื่อนร่วมงานชอบนินทา ขี้เม้าท์ดีนัก ต้องเจอแบบนี้!

Work Tips: วิธีรับมือกับ เพื่อนร่วมงานชอบนินทา ขี้เม้าท์ดีนัก ต้องเจอแบบนี้!

เพื่อนร่วมงานชอบนินทา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ เพื่อนร่วมงานประเภทนี้จะขยันนำข่าวสารข้อมูลต่างๆ ทั้งที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจ มาเล่าให้เราฟังอยู่เสมอ มีข่าวอะไร ใครคบกับใคร ใครเลิกกับใคร ใครได้เลื่อนขั้น ใครโดนหักเงินเดือน รับรองว่าเพื่อนคนนี้รู้ โลกรู้ อย่างแน่นอน

แต่ในเมื่อเขาชอบนำเรื่องของคนอื่นมาเล่าให้เราฟัง ก็เป็นไปได้ที่เขาจะนำเรื่องของเราไปเล่าให้คนอื่นฟังเช่นกัน เพราะฉะนั้น มาดูวิธีการรับมือกับเพื่อนร่วมงานประเภทนี้กันเถอะ

 

::: อย่าไว้ใจ :::

นี่คือเรื่องที่สำคัญมาก หากเราไม่ได้รู้จักเค้าดีจริง เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เขาเป็นคนที่ไว้ใจได้หรือไม่ หากเราพูดคุยอะไร หรือ แสดงความคิดเห็นอะไรให้เขาฟัง ก็มีโอกาสที่เขาจะนำเรื่องที่เราพูดด้วยความไว้วางใจนั้น ไปขยายความต่อจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้

ยิ่งถ้าเรายังไม่รู้ว่าในที่ทำงานเรา มีใครที่สนิทกันบ้าง มีใครที่ไม่ถูกกับใครบ้าง แล้วเราเผลอไปแสดงความคิดเห็นในแง่ลบให้คนคนนั้นได้ยินแล้วล่ะก็ เราอาจตกเป็นผู้ร้ายที่ถูกนำไปพูดต่อ นำไปฟ้อง นำไปเล่าลือเป็นเรื่องราวใหญโตได้ ทั้งๆ ที่ตอนที่พูดคุยกันนั้น เราก็ย้ำนักย้ำหนาแล้วว่าให้เก็บไว้เป็นความลับ

ยิ่งถ้าเพื่อนร่วมงานขี้เม้าท์คนนี้ เป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ มีอิทธิพลในที่ทำงาน หรือสนิทกับหัวหน้าหรือเจ้านายแล้วล่ะก็ ยิ่งต้องระมัดระวังให้มากค่ะ

 

::: ระวังหลักฐานมัดตัว :::

ทุกอย่างที่เราพูด หรือ แสดงความคิดเห็นออกไป อาจเป็นหลักฐานมัดตัว ที่ทำให้เรามีความผิดได้ หรือ “ดูเหมือน” เป็นคนร้ายได้

บุคลิกอย่างหนึ่งของเพื่อนขี้เม้าท์ คือ จะเป็นคนที่คุยเก่ง ดูเหมือนอัธยาศัยดี คุยสนุก หยิบยกเรื่องของคนอื่นขึ้นมาคุยได้อยู่เรื่อยๆ และสามารถลื่นไหลไปกับบทสนทนาต่างๆ ได้อย่างชำนาญ บางครั้งคนประเภทนี้อาจถามความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ จากคุณ และถ้าคุณเผลอนินทา ต่อว่า อ้างอิงถึงใคร ยิ่งถ้ามีการระบุชื่อด้วยแล้ว มีโอกาสที่คนคนนั้นจะนำคำพูดของคุณไปพูดต่อ หรือ นำข้อความแชทของคุณไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัว ทำให้คุณดูเป็นผู้ร้ายไปในที่สุด

หากคุณอยากเม้าท์ อยากนินทาให้สนุกปากบ้าง อย่าลืมเลือกคุยกับคนที่ไว้วางใจได้นะคะ

 

::: อย่าเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้เขารู้ :::

วิธีป้องกันตัวเองจากเพื่อนร่วมงานจอมจุ้นจ้านที่ดีที่สุด คือการไม่เปิดโอกาสให้เขาล่วงรู้ถึงข้อมูลสำคัญของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ความลับ รสนิยมส่วนบุคคลที่ไม่อยากให้ใครล่วงรู้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าเปิดโอกาสให้เขาได้มีข้อมูลดีๆ ไปเที่ยวโพนทะนา และนินทาให้ใครต่อใครฟัง

 

::: พูดคุยเฉพาะเรื่องงาน :::

ในเมื่อการพูดคุยกับคนคนนี้ กลายเป็นเรื่องที่แสนยากลำบาก ไหนจะต้องระมัดระวังคำพูด ไหนจะต้องอย่าเผลอคุยสนุกปากจนเกินไป

ถ้าคุยกันยากลำบากขนาดนี้ ถ้าอย่างนั้น เราหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนคนนี้ไปเลยดีกว่าค่ะ เลือกคุยเฉพาะเรื่องงานที่จำเป็นและสำคัญ และหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ในเรื่องส่วนตัวต่างๆ

 

::: ทำตัวเราเองให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ :::

ตั้งใจทำงานให้ดี มีประสิทธิภาพ ให้เห็นหัวหน้า เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานของเราเห็นว่าผลงานของเราดี เป็นที่ประจักษ์ ทำให้ตัวเราเองเป็นคนที่มีคุณค่าทั้งในแง่ของการทำงาน และในด้านมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

หากใครที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ อย่าปล่อยให้เพื่อนร่วมงานเช่นนี้ มาขัดขวางความก้าวหน้าของเราได้ค่ะ

 

บทความที่น่าสนใจ

6 เพื่อนร่วมงานนิสัยแย่ และวิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญกับคนแบบนี้

วิธีรับมือ จัดการ และอยู่ร่วมกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี เพื่อการทำงานที่มีความสุข

วิธีป้องกันไม่ให้ เพื่อนร่วมงานรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.