ในแต่ละปีสถิติของผู้ป่วย(ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง)ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากถึง 1 ต่อ 10,000 รายที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสถิติที่น่าตกใจเพราะใครจะคาดคิดว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะสามารถทำลายชีวิตคนได้ถึงเพียงนี้
ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ดูเหมือนธรรมดา แต่แท้จริงแล้วไม่ธรรมดา เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่มีอัตรากลายพันธุ์สูงมากเพราะการกลายพันธุ์เป็นขบวนการเพื่อความอยู่รอดของตัวเชื้อโรค เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ฉะนั้นในแต่ละปีไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้สามารถก่อโรคในคนได้ทุกปี นั่นเป็นสาเหตุต้องมีการพัฒนาวัคซีนที่ไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันว่าผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปี ส่วนในเด็กถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สูงมากถึงประมาณร้อยละ 30-40 ต่อปีของประชากรเด็ก และยังมีรายงานทางสถิติอีกว่าถ้าเป็นคนที่ไม่มีภาวะเสี่ยง จะพบอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ อยู่ที่สัดส่วน 1 ต่อ 10,000 รายที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเองหายเอง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว การป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าคนกลุ่มใดที่จะเข้าข่ายอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” ประเภทใด โดยกลุ่มเสี่ยงจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เสี่ยงเป็น กับ เสี่ยงตาย

อาการไข้หวัดใหญ่
อาการคล้ายป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาจส่งผลต่อร่างกายมากกว่า เช่น มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การดูแลตนเอง อายุ และโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย
ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคไข้หวันใหญ่
เด็กถือว่าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายที่สุด ซึ่งในแต่ละปี เด็กจะมีโอกาสป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่สูงถึงร้อยละ 30-40 เพราะภูมิคุ้มกันต่างๆ ในเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมไปถึงพฤติกรรมของเด็กที่มักมีการสัมผัสจากการเล่นกันที่โรงเรียน การไอ จาม สั่งน้ำมูก และไม่ชอบล้างมือ จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเป็นมากที่สุด นอกจากนั้นมีบุคลากรทางการแพทย์ที่โอกาสรับเชื้อสูงจากลักษณะการทำงาน
ใครอาจเสี่ยงตายฉับพลันจากไข้หวัดใหญ่
ทำไมเป็นแล้วถึงตาย มันร้ายแรงขนาดนั้นเลยหรือ จากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคอ้วน รวมไปถึงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น จะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ
โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย เช่น โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม โดยจะมีระดับความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงสูงเพิ่มขึ้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าป่วยเป็นโรคประจำตัวอะไรหรืออยู่ในกลุ่มใด
- โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอด จะเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง พบมากกว่าคนปกติถึง 100 เท่า
- โรคหัวใจจะเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 50 เท่า
- โรคเบาหวาน เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 5-10 เท่า
เนื่องจากในผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้อาจจะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแปรปรวน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีเท่ากับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง
คุณแม่ตั้งท้องเสี่ยงสูง
ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างต่ำ จากสถิติพบว่าในกลุ่มนี้ สามารถเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าคนปกติถึง 4 เท่า และหากเป็นไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรง สามารถส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการตั้งครรภ์ หรือเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวแบบไหน หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงใดรวมทั้งกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เราควรลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจะมีความคุ้มค่ามากที่สุด
ดูแลตนเอง ห่างไกลไข้หวัดใหญ่
ลองดูว่าคุณเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มไหน “กลุ่มเสี่ยงเป็น” หรือ “กลุ่มเสี่ยงตาย” หรือทั้งสองกลุ่ม แล้วหาวิธีป้องกันตนเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอัตราเสี่ยงเป็น และ เสี่ยงตาย
โดยการดูแลตนเอง เช่น ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด เป็นต้น วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีและคุ้มค่าอีกหนึ่งวิธีคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พบว่าสามารถลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ ลดการแพร่เชื้อโรค รวมไปถึงลดการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินอีกด้วย ซึ่งผลโดยรวมยังพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย
อย่างไรก็ตามในกลุ่มเด็กมักจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 9 เท่า และเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นที่มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สูงกว่าผู้ใหญ่ถึง 4 เท่า หรือพบร้อยละ 30-40 ต่อปีของกลุ่มเด็กทั้งหมด ดังนั้นจึงแนะนำฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นี้ให้แก่เด็กๆได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน หรือในช่วงก่อนเปิดเทอมใหญ่ประจำปีจะได้ประโยชน์มาก
สิ่งที่สำคัญคือการรณรงค์ทำความเข้าใจให้เห็นถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ทุกคนในครอบครัว เพราะผลจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ลดการเจ็บป่วย ลดการหยุดงาน ลดการหยุดเรียน และลดความเครียดรวมทั้งความทุกข์ใจของครอบครัวด้วย
ข้อมูลโดย
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์
นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย