6 วิธีพูดชมคนอื่น พูดชมยังไงให้ดูจริงใจ อีกฝ่ายไม่คิดว่าเราพูดไปงั้นๆ

ว่ากันว่าคนที่มักจะเป็นที่รักของคนรอบข้างมักจะมีนิสัยพิเศษบางอย่าง นั่นคือ เป็นคนที่พูดชมคนอื่นเก่ง แต่การพูดชมเก่งไม่ได้หมายความว่า เจอใครก็ชม พูดชมไปงั้นๆ แต่คนที่พูดชมคนอื่นเก่งหมายถึง คนที่มักพูดถึงข้อดีของคนนั้นได้อย่างจริงใจ ไม่ดูโกหก และที่สำคัญมีจังหวะในการชมที่ไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอึดอัดหรือคิดว่าเราพูดไปตามมารยาท

เวลาที่เราได้รับคำชมอย่างจริงใจ เราก็จะรู้สึกดีต่อตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าใครที่ได้รับคำชมที่จริงใจก็จะรู้สึกดีและมีความสุขกับตัวเองด้วยเช่นกัน  และเมื่อได้ยินบ่อยๆ เราอาจจะกลายเป็นคนแบบนั้นจริงๆ ก็ได้ เพราะคำชมก่อให้เกิดพลังด้านบวก เมื่อได้รับคำชมก็จะดีใจ มีความมั่นใจ ทำได้ดี แล้วก็ได้รับคำชมอีกครั้ง

หากเราพูดชมคนรอบข้างบ่อยๆ คนรอบตัวก็จะค่อยๆ มีความสุข ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รักของคนเหล่านั้น ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้เราเพราะเขาก็จะมีความสุขนั่นเอง แต่การชมกับการพูดเยินยอต่างกันเพียงเส้นบางๆ

บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า ทั้งๆ ที่พูดชมอย่างตั้งใจ แต่ทำไมอีกฝ่ายอีกคิดว่าเราไม่จริงใจ กลายเป็นว่าคำชมของเราแทนที่จะสร้างความประทับใจ กลับทำให้รู้สึกอึดอัดแทน เพราะไม่ใช่ทุกคำชมที่ผู้ฟังจะดีใจได้ เราต้องชมให้ถูกจังหวะและมีเทคนิคการพูดที่เหมาะสมด้วย 6 เทคนิคต่อไปนี้

 

พูดชมโดยใส่ความรู้สึกเข้าไป

สิ่งที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไม่จริงใจ ก็เพราะเวลาพูดชมนั้นไม่ได้ใส่ความรู้สึกของเราลงไปด้วย หมายความว่า  คุณอาจกำลังพูดชมส่งๆ อยู่เพราะเห็นคนอื่นพูดกันแล้วตัวเองไม่รู้จะพุดอะไร

เช่น หากเดินผ่านหัวหน้าที่สวมเสื้อตัวใหม่มา มองแว้บแรกเราไม่คิดว่ามันสวยเลย แต่ถึงอย่างงั้นก็พูดออกไปว่า ‘เสื้อสวยนะคะ’ เราแค่พูดเพราะอยากพูด แต่ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ จึงทำให้ดูเหมือนว่า เราพูดชมไปส่งๆ

หากเราลองมองกว้างๆ มองในมุมที่เรารู้สึกว่ามันดีจริงๆ  พร้อมกับใส่ความรู้สึกนั้นลงไปในคำพูด เช่น หากเสื้อใหม่ตัวนั้นคุณคิดว่าไม่สวย แต่เมื่อมองรวมๆ แล้วดูเข้ากับกระเป๋า คุณอาจพูดว่า ‘เสื้อสวยนะคะ เหมาะกับกระเป่าที่ถือมาวันนี้เลย’ เพียงแค่นี้ผู้ฟังก็จะรู้สึกว่า เราชมอย่างใส่ใจและมีรายละเอียด ใส่ความรู้สึกจริงๆ ลงไป

หลักสำคัญคือ มองข้อดีอย่างกว้างๆ พูดจากความรู้สึกที่เห็น ไม่พูดชมเพียงเพราะอยากพูดออกมา

 

ชมอย่างเฉพาะเจาะจง

เวลาชมใครก็ตาม แทนที่จะพูดอย่างคลุมเครือกว้างๆ ก็พูดอย่างเจาะจงลงไปเลยจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกพิเศษมากกว่า  เช่น ‘รองเท้าสีแดงคู่นี้สวยจังเลยค่ะ ดูเข้ากับชุดที่ใส่มาด้วย’  แทนที่จะพูดเฉยๆ ว่า ‘รองเท้าสวยจัง’ คือให้เรามองเข้าไปในส่วนปลีกย่อยของสิ่งที่ต้องการชมให้มากขึ้น ก็จะดูเหมือนว่าเราตั้งใจชมเขาอย่างจริงจังและจริงใจ

นอกจากนี้การเจาะจงเรียกชื่อด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกประทับใจมากขึ้น เช่น หากมีคำถามว่า ‘หัวหน้าของคุณเป็นคนอย่างไร’ แทนที่จะบอกว่า เป็นคนเก่งมากค่ะ อาจจะเรียกชื่อเลยว่า ‘คุณ A ทำงานก่งมากค่ะ ไม่ว่าเจอปัญหาอะไรก็จะพยายามหาทางออกอย่างดีที่สุดให้ทุกคนได้เสมอ’ ถ้าเราพยายามดึงจุดเด่นของคนๆ นั้น และเรียกชื่อออกมา ก็จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าเราชมอย่างจริงใจ  ผู้ที่ถูกกล่าวถึงก็รู้สึกดีใจไปด้วย

 

พูดชมอื่นอย่างไร ดูจริงใจ ไม่เสแสร้ง

ชมจากมุมมองของคนทั่วไป

คำชมแบบนี้เป็นคำชมที่ได้เรียกรอยยิ้มของผู้ฟังได้ทันที เช่น หากเราเจอเพื่อนใหม่ที่หน้าตาดี หากพูดไปตรงๆ ว่า ‘คุณเป็นคนสวยจังเลยนะคะ’ อาจถูกมองว่า แกล้งชมเป็นมารยาท แต่ถ้าหากเราพุดว่า ‘ใครต่อใครถ้าได้เจอคุณก็ต้องพุดชมว่าคุณเป็นคนสวยมากแน่ๆ’

แทนที่จะพุดชมตรงๆ คุณควรพูดจากมุมมองของคนอื่นๆ ไม่ใช่มุมมองส่วนตัว จะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้พูดแค่เป็นมารยาท

คำพูดแนวนี้ เช่น ‘ต้องมีคนพูดบ่อยๆ แน่ ๆ ว่าเธอเป็นคนตลก’  ‘ไม่ว่าใครก็ต้องบอกว่าเธอเป็นน่ารักและเข้ากับคนอื่นได้ดีแน่ๆ’’่าใครก็ต้องบอกว่าเธอเป็นน่ารักและเข้ากับคนอื่นได้ดีแน่ๆ

คำชมเหล่านี้จะทำให้เขาดีใจกว่า ที่เราจะชมเขาตรงๆ เพระเขาอยากให้ทุกคนมองเห็นข้อดีในตัวอยู่แล้ว

ยิ่งถ้าเป็นคำชมที่เอ่ยถึงความถนัด ลักษณะนิสัยก็จะยิ่งทำให้คนนั้นรู้สึกมั่นใจ รู้สึกดีในตัวเองและรู้สึกดีที่ได้คุยกับเราอีกด้วย

 

ชมให้ตลอด แม้อีกฝ่ายจะถ่อมตัว

เวลาที่เราชมอีกฝ่าย บางครั้งเรามักจะได้รับคำตอบกลับมาว่า ‘ไม่ใช่หรอกค่ะ’ ‘ไม่ขนาดนั้นหรอกครับ’  แม้ในใจจะรู้สึกดีใจ แต่ก็ต้องถ่อมตัว แต่ถ้าเราบอกต่อว่า ‘อย่างนั้นหรอคะ แบบนั้นหรอคะ’ อีกฝ่ายที่กำลังอาจจะแอบดีใจอยู่อาจจะรู้สึกเสียใจทันทีก็ได้ เพราะไม่ว่าใครก็อยากรู้สึกเป็นคนสำคัญ ไม่ว่าใครก็อยากได้รับคำชม แม้จะถ่อมตัวแล้วแต่หลังจากนั้นก็อยากให้อีกฝ่ายพูดว่า ‘ไม่หรอกค่ะ จริงๆ นะคะ ไม่ได้พูดเกินไปหรอกค่ะ’

ไม่ว่าอีกฝ่ายจะถ่อมตัวแค่ไหน ก็ควรพูดชมต่อไป โดยการใส่รายละเอียดถึงคำชมนั้นต่อ เช่น ‘คุณเป็นคนที่ทำงานเก่งมากเลยนะคะ’เมื่ออีกฝ่ายตอบกลับมาว่า ‘ไม่ขนาดนั้นหรอกค่ะ’ เราก็อาจจะตอบกลับไปว่า ‘จริงๆ นะคะ ตอนที่เสนองานลูกค้าตอนนั้น เยี่ยมมากจริงๆ พูดจาฉะฉาน ปิดการขายได้ทันที สุดยอดมากเลยค่ะ’

ยิ่งเราชมต่อมากเท่าไร อีกฝ่ายก็จะยิ่งรู้สึกดี และรู้สึกได้ว่าเราชมอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่ชมแบบขอไปที

 

อุทานสั้นๆ ก่อนพูดชม

เทคนิคนี้อาจจะต้องใช้ท่าทางร่างกายให้เป็นธรรมชาติด้วย เช่น หากจะชมว่าคนนี้ทำกับข้าวอร่อย แทนที่จะกินทันทีแล้วพูดว่าอร่อยจัง อาจจะใช้ช่วงเวลาก่อนตักอาหารเข้าปาก ทำท่าทางตื่นเต้นพร้อมพูดว่า ‘โอ๊ะ กลิ่นหอมขนาดนี้ต้องอร่อยมากแน่’ แล้วหลังจากกินเข้าไป ก็พูดต่อว่า ‘นั่นไง อร่อยจริงๆ ด้วย’

การหลุดอุทานก่อนจะทำให้คนฟังรู้สึกว่า เราชมอย่างจริงใจ มาจากใจจริงๆ โดยคำอุทานที่มักใช้ในการเริ่มประโยคชม เช่น ‘โอ้โห’ ‘ว้าว’

อันที่จริงแล้ว การจะอุทานออกมาได้นั้น อาจใช้ปฏิกิริยาที่เรารู้สึกจริงๆ ก็ได้ เพราะการอุทานออกมากเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจ แต่สิ่งสำคัญคือตอนพูดอุทานอย่าเพิ่งสบตา อย่าตั้งใจเกินไป เพราะจะทำให้ดูไม่จริงใจ ค่อยสบตาตอนที่เราเอ่ยประโยคชมยาวๆ ดีกว่า

 

พูดชมลับหลัง

ปกติการได้รับคำชมต่อหน้า ผู้ฟังก็ดีใจอยู่แล้ว แต่การได้รับคำชมจากคนอื่นแบบลับหลังจะยิ่งทำให้คนๆ นั้นดีใจมากยิ่งขึ้น เช่น  ฉันไปกินข้าวกับคุณ A มา เขาชมเธอว่า เธอเป็นคนอัธยาศัยดีและชอบช่วยเหลือคนอื่น

เราย่อมรู้สึกว่าคุณ A พูดถึงรา แล้วยังพูดต่อหน้าคนอื่นด้วย ช่างดีจริงๆ  ยิ่งไปกว่านั้น แม้เราจะได้ยินว่าคนอื่นพูดถึงเรา แต่เราก็รู้สึกได้ว่า ผู้ที่เรากำลังคุยด้วย นำข้อความเหล่านี้มาบอกเราต่อ ก็เหมือนกำลังชมเราอยู่ด้วย ช่างเป็นคนที่น่าคบหาจริงๆ

หากตอนนี้กำลังแอบชอบใคร หรืออยากให้ใครประทับใจ อยากให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ลองพูดชมเกี่ยวกับคนๆ นั้นให้คนอื่นฟังดู ถ้าเป็นคนที่ดูจะเกี่ยวข้องกับคนๆ นั้นด้วยยิ่งดี

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.