รู้จักแนวคิด ‘เดธคลีนนิ่ง’ ทิ้งไปอย่าให้เป็นภาระ เพื่อชีวิตที่อิสระมากขึ้น

เดธคลีนนิ่ง คืออะไร

ความหมายของ เดธคลีนนิ่ง (Death Cleaning) คือ การลดข้าวของให้น้อยที่สุดก่อนลาจากโลกไป เป็นแนวคิดแบบมินิมัลลิสต์ของชาวสวีเดนที่ได้รับการพูดถึงมากในปัจจุบัน

เดธคลีนนิ่ง หรือ เดอสแต็ดนิง (dostadning) โดยคำว่า เดอ (do) แปลว่า ความตาย และ สแต็ดนิง (stadning) แปลว่า การทำความสะอาด  ในภาษาสวีเดนคำนี้หมายถึง การนำสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไปและทำให้บ้านของคุณดูดีเป็นระเบียบ เมื่อคุณคิดว่าเวลาที่คุณจะต้องจากโลกใบนี้ใกล้เข้ามาแล้ว

โดยเดธคลีนนิ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการสิ่งของเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดความรู้สึกยึดติดและความทรงจำด้วย เพราะข้าวของบางชนิดอาจมีความผูกพันทางใจ แม้ไม่ได้ราคาแพง

โดย Margareta Magnusson ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Gentle Art of Swedish Death Cleaning (สุดท้ายก็ต้องทิ้ง, สำนักพิมพ์ Amarin How-To) พูดถึงแนวคิดนี้ผ่านหนังสือของเธอว่า “…การเก็บกวาดเดธคลีนนิ่งหมายถึงการรื้อดูสิ่งของทั้งหมดที่ตัวเองมี แล้วตัดสินใจว่าจะกำจัดของที่ไม่ต้องการแล้วออกไปอย่างไร 

“การเดธคลีนนิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเป็นคำที่เราใช้เมื่อคุณหรือใครสักคนลงมือทำความสะอาดจนหมดจดและเอาสิ่งของต่างๆ ออกไปเพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้นและแออัดน้อยลง มันไม่ได้จำเป็นต้องมีอายุหรือความตายเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอไป

“การเก็บกวาดเดธคลีนนิ่งด้วยตัวคุณเองอาจเป็นเรื่องยากมากก็ได้ การรื้อดูของเก่าๆ ทั้งหมดนึกถึงหนสุดท้ายที่คุณใช้มันและบอกลาของบาชิ้นด้วยดีนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับเราหลายคน คนเรามักชอบเก็บมากกว่าโยนทิ้ง 

“ฉันได้พบกับแนวคิดเดธคลีนนิ่งครั้งแรกเมื่อตอนที่ต้องเก็บกวาดอพาร์ตเมนต์ของพ่อกับแม่หลังจากที่แม่จากไป พ่อกับแม่แต่งงานอยู่กินกันมา 46 ปี และเมื่อต้องย้ายไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กลง พ่อก็ไม่สามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เราช่วยกันคัดเลือกเฟอร์นิเจอร์ ผ้าปู อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ของกระจุกกระจิก และภาพวาดที่จะทำให้บ้านใหม่ของพ่อดูดีและอยู่สบาย

“แม่ของฉันเป็นผู้หญิงที่มีระเบียบ ฉลาด และมีเหตุผล แม่ป่วยอยู่พักใหญ่ และฉันเชื่อว่าแม่คงระแคะระคายว่าตัวเองเหลือเวลาไม่มากนัก ดังนั้น จึงเริ่มวางแผนล่วงหน้าสำหรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากแม่จกไป

“ขณะที่เริ่มต้นเก็บกวาดบ้านของพ่อแม่ ก็ได้เจอข้อความที่แปะไว้บนเสื้อผ้าและของอื่นๆ มันเป็นคำแนะนำที่เขียนด้วยลายมือตัวเล็กๆ ว่าควรทำอย่างไรกับข้าวของทุกอย่าง ของบางห่อยกให้การกุศล หนังสือบางเล่มให้ส่งคืนเจ้าของ

“แม้ว่าคำแนะนำสั้นๆ พวกนี้จะไม่ได้เจาะจงถึงฉัน แต่มันก็ทำให้ฉันสบายใจ ฉันรู้สึกว่าแม่อยู่ตรงนั้นคอยช่วยอยู่ แม่ได้เก็บกวาดเดธคลีนนิ่งของแม่เองแล้ว ฉันรู้สึกขอบคุณและสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวอย่างดีๆ ที่ทำให้ฉันเห็นว่า เราควรจะรับผิดชอบต่อสิ่งของของตัวเองอย่างไร คนที่เรารักถึงจะไม่ลำบากเมื่อเราจากไป…”

 

เราจะเริ่ม ‘เดธ คลีนนิ่ง’ ที่บ้านอย่างไร

การกำจัดข้าวของทั้งหมดในบ้านอาจจะต้องอาศัยเวลาพอสมควร เราอาจเริ่มต้นจากห้องเก็บของ ตู้เก็บของที่ไม่ได้เปิดมานาน ค่อยๆ ไล่ไปแต่ละห้องจนครบ

คุณอาจแปลกใจว่าของหลายๆ อย่างอาจจะอยู่ที่นั่นมาเป็นชาติแล้วโดยที่คุณไม่ได้นึกถึงมาก่อน หรือลืมไปแล้วว่าเคยมีของชิ้นนี้อยู่ ดังนั้น แม้จะต้องทิ้งมันไปคุณก็คงไม่ได้เสียดาย และไม่ได้จำเป็นในชีวิตของคุณเท่าไร แต่ถ้าของบางอย่างอยู่ในสภาพดีและคุณคิดว่าก็ยังไม่อยากทิ้งไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ทำไม ลองบอกให้เพื่อนๆ หรือคนรอบข้างของคุณได้รู้สิ พวกเขาอาจจะอยากช่วยคุณรับของที่คุณไม่ต้องการ หรือช่วยย้ายของบางอย่างทีทำคนเดียวไม่ไหว

แต่อย่าเริ่มต้นที่ภาพถ่ายหรือจดหมายต่างๆ เพราะสุดท้ายคุณจะลงเอยด้วยการนั่งดูภาพเหล่านั้นพร้อมระลึกถึงความหลังจนผ่านไปหลายชั่วโมงก็ไม่ได้เริ่มเสียที

 

อะไรควรเก็บและอะไรไม่ควรเก็บ

หลังจากเหลือแต่ของที่ควรเก็บไว้แล้ว ก็อาจจะจำแนกของพวกนี้ออกเป็นเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า หนังสือ เครื่องครัว ของสะสม ฯ  เมื่อแยกได้แล้วลองเลือกสิ่งของประเภทที่คุณคิดว่าจัดการได้ง่ายก่อน หมายถึง ของที่มีเยอะและไม่ได้ผูกพันทางอารมณ์กับเรามากนัก เพราะการเริ่มด้วยของเหล่านี้จะทำให้เรากล้าที่จะทิ้งมากขึ้น

ของที่จัดกายได้ง่าย เช่น เสื้อผ้า เพราะหลายคนมักมีเสื้อผ้าหลายชุดในตู้ โดยเริ่มจากแยกเป็น 2 กอง คือ กองแรกเสื้อผ้าที่ใส่ประจำ ใส่แล้วมั่นใจ และกองสองเสื้อผ้าที่มองแล้วนึกไม่ออกว่าใส่ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เสื้อผ้าที่คุณใส่ไม่ได้แล้ว  และนำเสื้อผ้ากองสองไปบริจาค

เสื้อผ้ากองแรกของคุณจะมีแต่เสื้อผ้าที่จะใส่จริงๆ ใส่แล้วมั่นใจตลอดวัน จะแฟชั่นหรือไม่แฟชั่นขอแค่คุณรักมันก็พอแล้ว

หลังจากนั้นก็เริ่มที่ชั้นหนังสือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หลักการคือ แยกออกเป็น 2 กองเสมอ คือกองที่คุณต้องใช้มันประจำ และกองที่คุณมองไม่ออกว่ามันจะไปทำอะไรต่อ ตอนที่ซื้อมาคิดอะไรอยู่ หลังจากนั้นลองถามเพื่อนๆ ของคุณเผื่อมันอาจกลายเป็นของจำเป็นสำหรับพวกเขาได้ ถ้าคุณหาคนยกให้ไม่ได้ บางชิ้นก็อาจขายได้ และบางชิ้นอาจจะบริจาคเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมได้ต่อไป

 

เดธคลีนนิ่ง เพื่อชีวิตที่เป็นอิสระต่อตัวเองและคนรอบข้าง

หนึ่งในแรงจูงใจที่คนหันมาเก็บกวาดแบบเดธคลีนนิ่งคือการทำเพื่อคนอื่นๆ ที่จะได้ไม่ต้องมาจัดการกับข้าวของของเราในภายหลัง แต่อันที่จริงแล้วมันยังเป็นการทำเพื่อตัวเองด้วย

ถ้าคุณตั้งใจจะเก็บกวาดข้าวของให้โล่งขึ้น  ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ควรใช้เวลากับข้าวของสักพัก คัดแยก จัดให้เป็นระเบียบ จดจำมันไว้ และยกให้คนอื่น ถ้าเป็นของมีคุณค่าต่อใจแต่อยากยกให้คนอื่น ก็ลองเล่าเรื่องเกี่ยวกับมันให้คนนั้นได้ฟัง จะช่วยให้คุณตัดใจจากมันได้ดีขึ้นและช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆ ต่อคนที่กำลังจะรับมันไป  แต่ไม่ใช่ให้ยึดติดกับความทรงจำในอดีต เพราะการวางแผนในอนาคตสำคัญกว่าเยอะ มองไปข้างหน้าสิ คิดดูว่าข้าวของน้อยชิ้นจะช่วยให้ชีวิตง่ายและสงบผ่อนคลายมากขึ้นแค่ไหน

หลังจากที่เก็บกวาดเดธคลีนนิ่งได้สักพัก นิสัยการซื้อของก็จะเปลี่ยนไป เหลือเงินเก็บมากขึ้น บ้านโล่งทำความสะอาดได้ง่าย มีเวลาเหลือเฟือ และรู้สึกชีวิตเป็นอิสระไม่ต้องพะวงเรื่องข้าวของที่อาจพังหรือหายไปนอกจากนี้คนรอบข้างก็จะไม่ต้องลำบากเป็นภาระจัดการสิ่งของของเราหลังจากที่เราไม่อยู่แล้ว เหลือไว้เพียงความทรงจำดีๆ ที่ไม่มีวันสูญหาย

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.