ภาวะไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูง คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดผิดปกติ โดยไขมันในร่างกายนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไขมันอันตรายและไขมันชนิดดี
ไขมันอันตราย
คอเลสตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ไขมันสองชนิดนี้ถ้ามีระดับสูงกว่า 200 มก./ดล. อาจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพราะไขมันพอกสะสมอุดตันเส้นเลือด
ไขมันชนิดดี
เรียกว่า HDL ยิ่งมีจำนวนสูงเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะไขมันชนิดนี้ จะทำหน้าที่ลดและป้องกันการสะสมพอกตัวของไขมันในเส้นเลือด แต่เมื่อใดก็ตามที่ HDL มีระดับต่ำกว่า 40 มก./ดล. ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยเช่นกัน

สาเหตุ ภาวะไขมันในเลือดสูง
- เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันผิดปกติ
- เป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน โรคไต หรือเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
- กินอาหารที่มีไขมันสูงเ็นประจำ เช่น ของทอด ของมัน เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์อาหารทะเล หอยนางรม กุ้ง
- เกิดจากความเครียดในการทำงาน การใช้ชีวิต และการสูบบุหรี่
ไขมันในเลือดสูงอันตรายอย่างไร
เมื่อร่างกายมีไขมันในเลือดสูง เลือดจะมีความหนืดสูงกว่าปกติ และมีการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบและแคบลง การไหลเวียนของเลือดผ่านหลอดเลือดไปสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำได้ยาก หลอดเลือดจะตีบและอุดตัน ยิ่งถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่ไหลเวียนไปสู่หัวใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้ในทันทีด้วยภาวะหัวใจวาย หรือถ้าเกิดกับหลอดเลือดสมองอาจส่งผลให้กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
การรักษาโรค ไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และควรตรวจเลือดเช็คระดับไขมันด้วย แต่ถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือสูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวัน หรือเป็นโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ควรตรวจเลือดทุกๆ 6 เดือน เพื่อหาระดับไขมันในเลือด โดยก่อนการตรวจเลือดจะะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่าอย่างน้อย 12 ชม. ก่อนเจาะเลือด หากพบว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์ก็จะทำการรักษาต่อไป
การป้องกันดูแลตัวเองจากโรค ไขมันในเลือดสูง
- ต้องควบคุมการกินอาหาร โดยเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ไขมัน เนื้อสัตว์ติดมัน น้ำมันหมู ของมันของทอด อาหารทะเล หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง
- ใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์
- ใช้วิธีปรุงอาหารโดยการ ต้ม อบ นึ่ง แทนการทอดหรือผัดใช้น้ำมัน
- เพิ่มผักและผลไม้ในอาหารแต่ละมื้อเสมอ เพื่อให้มีเส้นใยอาหารและกากมากขึ้น โดยใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกายได้
- เลี่ยงการดื่มเบียร์ เหล้า และขนมหวานต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยควรออกกำลังกายครั้งละประมาณ 20 – 30 นาที ต่อวัน และออกอย่างน้อย 3 – 4 วัน ต่อสัปดาห์
- งดการสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติได้แล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย
- ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ ไม่อยู่ในเกณฑ์อ้วนหรือผอมเกินไป
- ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ต่อมไทรอยด์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกต้องต่อไป
ข้อมูลโดย ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนครธน