ดับไฟในใจลูก ด้วยเส้นประสาทกระจกเงา โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร 

ดับไฟในใจลูก ด้วยเส้นประสาทกระจกเงา โดย ขุนเขาสินธุเสน เขจรบุตร

 

         เส้นประสาทกระจกเงาที่มีอยู่มากมายในสมองส่วนหน้า คือคุณอนันต์ที่ธรรมชาติให้มนุษย์มาเพื่อให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นหลายเท่า  อย่างไรก็ตาม ถ้าเราใช้มันไม่เป็นเส้นประสาทชนิดนี้ก็อาจกลายเป็นโทษมหันต์ได้เช่นกัน

กล่าวได้ว่าหนึ่งใน “ปัญหา” ที่ใหญ่ที่สุดของพ่อแม่คือ ปัญหาเรื่องลูก  บ้างก็มีลูกเกเร  บ้างก็มีลูกก้าวร้าว  บ้างก็มีลูกที่เอาแต่เล่นเกม  ติดมือถือ  ติดไอแพ็ด ติดเพื่อน  ติดเที่ยว  ฯลฯ  ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านถามผมว่า  จะแก้ปัญหาเรื่องลูกอย่างไร  โดยหารู้ไม่ว่า ปัญหาของลูกแท้จริงแล้วต้องเริ่มแก้ที่ตัวพ่อแม่เองก่อน…

หนึ่งในงานวิจัยที่โด่งดังที่สุดในวงการจิตวิทยาคือ งานวิจัยในปี 1961  โดยศาสตราจารย์อัลเบิร์ต  แบนดูร่า (Albert Bandura) ที่มีชื่อเรียกน่ารัก ๆ ว่า TheBobo doll experiment (งานวิจัยตุ๊กตาล้มลุก)  โดยมีการคัดเลือกเด็กอายุระหว่าง 3 - 6 ขวบ  จากโรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจำนวน 72 คน (เด็กชาย 36 คน  เด็กหญิง 36 คน) มาเข้าร่วมงานวิจัยนี้

ศาสตราจารย์แบนดูร่าแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ  และให้เด็กกลุ่มแรกนั่งดูผู้ใหญ่เล่นของเล่นในห้องซึ่งมีตุ๊กตาล้มลุกปนอยู่ด้วย  แต่ผู้ใหญ่จะต้องไม่แสดงท่าทีสนใจตุ๊กตาล้มลุกเลย  ในขณะที่ให้เด็กกลุ่มที่สองนั่งดูผู้ใหญ่ทำร้ายตุ๊กตาล้มลุกด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา  รวมทั้งตะคอกใส่ตุ๊กตาล้มลุกด้วย

ผลปรากฏว่า หลังจากที่นักวิจัยอนุญาตให้เด็ก ๆ ลุกจากที่นั่งได้  เด็กกลุ่มที่นั่งดูผู้ใหญ่ทำร้ายตุ๊กตาล้มลุกเกือบทั้งหมดพุ่งตรงไปเตะ  ต่อย  ทำร้าย  และตะคอกใส่ตุ๊กตาล้มลุก  ทั้งที่ไม่ได้รับคำสั่งจากใครทั้งสิ้น  ส่วนเด็กอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่มีทีท่าว่าจะสนใจตุ๊กตาล้มลุกแม้แต่น้อย  พวกเขาพากันเล่นกับของเล่นอื่น ๆ อย่างสบายใจ

ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ  เมื่อกลุ่มของนักจิตวิทยานำทีมโดย เดวิด  ลอย (David Loye) ทำการทดลองที่คล้ายกัน  โดยเปลี่ยนกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองจากเด็กเป็นผู้ใหญ่จำนวน 183 คน (อายุ 20 – 70 ปี)  ผลที่ออกมาก็เหมือนกับการทดลองของศาสตราจารย์แบนดูร่าทุกประการ  คือผู้เข้าร่วมการทดลองที่ดูพฤติกรรมอันโหดร้ายทางทีวีและสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ  จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง  และแสดงออกถึงความฉุนเฉียวบ่อยครั้งกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดูอย่างเห็นได้ชัด

ในสมองของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่  จะมีกลุ่มของเส้นประสาทในสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า “เส้นประสาทกระจกเงา” (mirror neurons)  ซึ่งเส้นประสาทกระจกเงาเหล่านี้จะทำงานทั้งในตอนที่เรากำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่  และในตอนที่เรากำลังมองดูผู้อื่นทำสิ่งนั้นด้วย  กล่าวคือมันเป็นเส้นประสาทที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้จากการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น  หรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยที่ไม่ต้องมีการสื่อสารใด ๆ เลยนั่นเอง

สัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดในระดับสูงเช่น  นกแก้ว  นกขุนทอง  ปลาโลมา  สุนัข ช้าง  และลิงชนิดต่าง ๆ เท่านั้นจึงจะสามารถเรียนรู้โดยการลอกเลียนแบบได้  เราจะไม่มีวันเห็นปลาทองในตู้เอียงหน้าตามเราหรือเห็นหนูทดลองอ้าปากค้างเลียนแบบเราเส้นประสาทกระจกเงาที่มีอยู่มากมายในสมองส่วนหน้า  คือคุณอนันต์ที่ธรรมชาติให้มนุษย์มา  เพื่อให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นหลายเท่า  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราใช้มันไม่เป็นเส้นประสาทชนิดนี้ก็อาจกลายเป็นโทษมหันต์ได้เช่นกัน

ในสมองของเด็ก ๆ มีเส้นประสาท กระจกเงาอยู่จำนวนมหาศาล  ซึ่งหมายความว่า  แม้พ่อแม่จะคอยย้ำเตือนจนปากเปียกปากแฉะให้ลูกอ่านหนังสือและทำการบ้านมากเท่าไร  แต่ถ้าตัวเองยังนั่งดูทีวี  เล่นคอมพิวเตอร์  หรือนั่งเมาท์กับเพื่อนทั้งคืนลูกย่อมทำตามสิ่งที่เขา เห็น มากกว่าสิ่งที่เขาถูกสั่ง ให้ทำ  เพราะเด็ก ๆ เรียนรู้โดยการซึมซับ (osmosis) มากกว่าการถูกย้ำให้จำ(repetition) เสมอ  และแม้ว่าพ่อแม่จะสามารถบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้  ส่วนใหญ่ก็ต้องแลกมาด้วยการทะเลาะวิวาท  ตี  ลงโทษ  ริบของ  หรือไม่ก็เอารางวัลมาล่อ  ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความหวาดกลัวเกลียดชัง  ทำผิดลับหลัง  หรือสร้างลักษณะของจิตใจที่มีความโลภเป็นพื้นฐานในระยะยาว

เด็กเรียนเก่ง 9 ใน 10 คนที่ผมรู้จักไม่ได้มีพ่อแม่ที่คอยจ้ำชี้จ้ำไชให้เขาเรียนเพียงอย่างเดียว  แต่พวกเขามีพ่อแม่ที่ขยันทำมาหากิน  ชอบอ่านหนังสือ  ให้ความสนใจในสิ่งที่เขาเรียน  ใส่ใจในสิ่งที่เขาทำ  และเป็นผู้นำทางปัญญาที่ไม่ได้เอาแต่บ่นหรือว่าเขา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพ่อแม่พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง  จะทำให้เด็กเกิดความสับสนและไม่เชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเถียง  ขึ้นเสียงก้าวร้าว  และต่อกรกับพ่อแม่  ดังเช่นที่เป็นปัญหาในหลายครอบครัว

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้การเรียนรู้ผ่านทางสายตามากถึง 90 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งหมายความว่า  หากเราทะเลาะกับลูก  แล้วสุดท้ายเราขึ้นเสียงขู่ตะคอกให้ลูกเงียบ  ลูกจะไม่ได้ยินคำที่เราพูดเลย  แต่เขาจะจำขึ้นใจว่า  การตะคอกเป็นวิธีที่ได้ผลในการทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเงียบลงได้  หากเกิดการทะเลาะวิวาท  แล้วอย่างนี้เราจะหวังให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักได้อย่างไรกัน…

     ถ้าพ่อแม่ทำในสิ่งที่สอนลูกไม่ได้อย่างน้อยก็ไม่ควรทำในสิ่งตรงกันข้ามให้ลูกเห็น  เพราะเด็กจะเกิดการต่อต้านคัดค้านในใจว่า “ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี  แล้วทำไมพ่อแม่ถึงได้ทำ”  และการพยายามอธิบายให้เขาฟังด้วยเหตุผลมักเปล่าประโยชน์เพราะอย่าลืมว่าธรรมชาติสร้างให้เด็กทุกคนเกิดมาเป็น “นักดู” ก่อนที่จะเป็น “นักฟัง”

โปรดจำไว้ว่า  ยิ่งลูกอารมณ์ร้อนมากเท่าไร  เราก็จะต้องยิ่งเย็นลงมากเท่านั้นเพราะลึก ๆ แล้วเขามองเราเป็นแบบอย่างและจะคอยซึมซาบพฤติกรรมต่าง ๆ จากเราอยู่เสมอ  ฉะนั้น  ถ้าไม่อยากเห็นอะไรในตัวลูก  ก็อย่าแสดงมันออกมาในตัวเอง

ตัวอย่างที่ดีเพียงหนึ่งตัวอย่าง  มีค่ามากกว่าคำพูด 1,000 คำ  คนที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศและระดับโลกทุกคนล้วนมี “แบบอย่าง” (role model) ที่ดีด้วยกันทั้งสิ้น  ตั้งแต่คุณพ่อของนักเทนนิสระดับตำนานอย่างราฟาเอล  นาดาล  หรือสมเด็จพระชนนี…แม่ที่ยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา  ทุกท่านล้วนเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นในสิ่งที่ประเสริฐและดีงาม

การสงบให้ดู อยู่ให้เห็น  และเย็นให้สัมผัส  คือวิธีที่ดีที่สุดในการดับไฟโทสะและจุดตะเกียงแห่งธรรมะเพื่อส่องแสงให้แก่คนรอบข้าง  เพราะเราเสพอะไรเข้าไปเราก็เป็นสิ่งนั้น (You are what you eat) แต่อย่าลืมว่าในแต่ละวันเราไม่ได้ “เสพ” แค่ทางปากเท่านั้น  แต่เราเสพทางตา  ทางหูและทางใจอยู่ตลอดเวลา  ฉะนั้นขอให้ระวังสิ่งที่คุณกำลัง “เสพ”  และระวังสิ่งที่คุณกำลัง “ป้อน” ผู้อื่นให้ดี

            เพราะนั่นก็คือสิ่งที่คน นั้นจะ “เป็น”… 

 

 

Secret Box

อย่ากังวลเลยว่าทำไมเด็กๆ ไม่ฟังคุณ

แต่จงกังวลว่าเขากำลังเฝ้าดูคุณในทุกฝีก้าวจะดีกว่า…

โรเบิร์ต  ฟุลจัม

 

ที่มา

Mind Management นิตยสาร Secret ฉบับที่ 133 โดย ขุนเขา สินธุเสน

ขอบคุณภาพ josealbafotos

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.