อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล

ทุกลมหายใจคือ “งาน” และ “การให้” อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล

ทุกลมหายใจคือ “งาน” และ “การให้” อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล ผู้ก่อตั้งนพวรรณขนมไทย

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์นพวรรณจงสุขสันติกุลทุ่มเททำงานเพื่อสืบสานให้ขนมไทยเลื่องชื่อด้วยสองมือที่ลงมือทำขนมไทยอย่างประณีตจนเป็นที่จดจำเรื่องรสชาติและความสวยงาม

ทุกวันนี้อาจารย์นพวรรณในวัย 72 ปียังคงทำงานไม่หยุด บทบาทในวันนี้ของท่านคืออาจารย์ “ผู้ให้” ที่มองเรื่องประโยชน์และความสุขของผู้อื่นเป็นสำคัญ เพราะสุขที่ได้รับจากครอบครัวและการทำงานที่รักมาตลอดชีวิตนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ท่านอยากแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย

จุดเริ่มต้นทำให้อาจารย์สนใจเรื่องการทำขนมไทยคืออะไรคะ

ดิฉันเกิดในครอบครัวที่คุณยายเป็นเจ้าของโรงสีข้าวที่จังหวัดอุทัยธานี คุณแม่เป็นลูกสาวคนโตของบ้าน ท่านรับหน้าที่ช่วยงานทุกอย่างของครอบครัว และคลุกคลีทำงานในโรงสีมาตั้งแต่เด็ก ท่านจึงลองนำปลายข้าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา ขายไม่ได้ มาทำขนม โดยนำมาแช่ แล้วโม่เป็นแป้ง นำมาทำขนมครก ขนมถ้วยฟู ขนมตาลขนมไทยโบราณเหล่านี้ทำจากข้าวเจ้าทั้งนั้น คุณแม่คิดและทดลองทำจนชำนาญ และเป็นคนที่ทำขนมเก่งมาก

พอโตขึ้นมาหน่อย คุณยายก็ส่งคุณแม่ไปเรียนตัดเสื้อผ้า ต่อมาท่านก็เปิดโรงเรียนสอนตัดเสื้อผ้าของตัวเองจนเมื่อแต่งงานคุณแม่จึงย้ายมาอยู่กรุงเทพฯกับคุณพ่อทางบ้านคุณพ่อเป็นเจ้าของสวนมะลิ ปลูกมะลิขายที่แถวสวนหลวง หรือที่เรียกกันว่าหน้าจุฬาฯ เวลานั้นคุณแม่เป็นแม่บ้าน จึงทำขนมขายไปด้วย ขนมของคุณแม่เป็นที่เลื่องลือมาก เพราะรสชาติอร่อยและมีกลิ่นหอมจากน้ำแช่ดอกมะลิที่คุณแม่นำมาทำขนม คนแถวนั้นก็โจษจันกันว่าขนมที่นี่หอมอร่อย จึงมีคนมาขอรับขนมไปขาย ท่านจึงเริ่มทำขนมมากขึ้นและจัดเป็นหาบให้คนมารับทุกเช้า

ดิฉันจึงได้คลุกคลีกับการทำขนมมาตั้งแต่เด็ก อายุประมาณ 3 - 4 ขวบ ก็ตื่นตี 4 พร้อมคุณแม่ตลอด แล้วมาดูท่านทำงาน ภาพที่เห็นตอนนั้นคือ คุณแม่ตื่นมานึ่งขนมถ้วยฟู ขนมตาล จากนั้นคุณพ่อซึ่งทำงานประจำ ท่านจะตื่นมาช่วยคุณแม่เตรียมจัดของลงหาบ พอ 6 โมงเช้าก็มีคนมารับขนมไปสิบหาบ ขนมส่วนที่เหลือคุณแม่จะนำใส่รถเข็นไปขายที่ร้านในตลาด ขายแค่แป๊บเดียวก็หมดแล้ว

พออายุได้สิบกว่าขวบดิฉันก็ช่วยคุณแม่ทำขนมขายหน้าที่หลักคือทำขนมวุ้นถาดที่ขายทั้งหมดทุกวันตอนเย็น ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ก็รับหน้าที่ทำขนมประเภททอง พวกทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง ขนมเหล่านี้ทำแล้วสามารถเก็บไว้ขายได้ทั้งสัปดาห์ เวลานั้นดิฉันมีความสุขมากที่ได้ช่วยคุณแม่เพราะนอกจากได้อยู่ใกล้ชิดท่านแล้ว ก็ยังได้ทำขนมซึ่งเป็นสิ่งที่รักและชอบ การช่วยท่านทำให้มีประสบการณ์จากการที่ได้ลงมือทำจริงจนเกิดเป็นความชำนาญในการทำขนมไทย

พอโตขึ้นมาได้มุ่งไปทางการทำขนมเต็มตัวไหมคะ

พอโตขึ้นมาหน่อย คุณแม่ส่งไปเรียนเมืองนอกเพราะอยากให้เก่งเรื่องภาษา ดิฉันจึงได้ไปเรียนที่ประเทศอินเดีย และเลือกเรียนหลักสูตรเลขานุการ ซึ่งใช้เวลาเรียนไม่นานนัก กลับมาเมืองไทยได้เพียง 5 วันก็ได้งานที่บริษัทAir America ที่จังหวัดอุดรธานี บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ดูแลการสั่งอะไหล่เครื่องบิน Air Force ของอเมริกาที่ส่งไปใช้ในสงครามเวียดนาม ซึ่งใช้ภาษาผิดพลาดไม่ได้ ดิฉันทำงานนี้ได้สองปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ จึงกลับมาอยู่กรุงเทพฯ

ไม่นานนักก็มาทำงานที่โรงแรมพัทยาพาเลซ ได้ทำงานกับ คุณสุธรรม พันธุศักดิ์ ซึ่งเป็นเจ้านายคนแรกและคนสุดท้ายในชีวิตมนุษย์เงินเดือน ท่านสอนงานจนดิฉันเก่งงานทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลที่มีบุญคุณมาก ดิฉันทำงานในแวดวงโรงแรมนานถึง 30 ปี จนตำแหน่งสุดท้ายในการทำงานคือ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล

ระหว่างทำงานประจำ อาจารย์ห่างหายจากการทำขนมไปเลยไหมคะ

ไม่ค่ะ ถึงจะทำงานประจำแต่ไม่เคยทิ้งเรื่องการทำขนมซึ่งเป็นสิ่งที่รัก ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ที่พัทยา หลังเลิกงานจะกลับไปทำขนมไทย เพื่อที่ตอนเช้าก่อนไปทำงานจะนำขนมไปส่งลูกค้า ทำให้มีรายได้ประมาณวันละหนึ่งพันบาทการที่หารายได้เพิ่มได้ ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีค่า มีความหมายมากขึ้นไปอีก

การทำงานฝ่ายบุคคลทำให้ได้พบปะคนเยอะ จึงมีโอกาสนำวิชาความรู้ด้านขนมมาช่วยเหลือคนด้วย เวลาเจอคนที่มาสมัครงานแล้วยังไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ดิฉันก็มักจดสูตรขนมที่ทำง่าย ใช้ทุนน้อยให้เขาไปบ้างเพราะถึงเขาไม่ได้งาน แต่เขาอาจได้อาชีพที่ทำให้หาเลี้ยงครอบครัวได้

ดิฉันให้แม้แต่คนที่ไม่รู้จักกัน เพราะการให้แบบไม่รู้จักกันจะดีกว่า เพราะเราไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนกลับมาดิฉันไม่ได้ทำเพื่อคนอื่น แต่ทำเพราะเราให้แล้วสุขใจ เราก็ทำเท่านั้นเอง

ดูเหมือนอาจารย์จะประสบความสำเร็จในการทำงานประจำด้วย แล้วเกิดจุดพลิกผันอะไรให้อาจารย์ได้กลับมาทำขนมอย่างจริงจังอีกครั้งคะ

จุดพลิกผันของชีวิตในเวลานั้นคือ ลูกชายและลูกสาวมาเรียนที่กรุงเทพฯ ดิฉันจึงต้องขอลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกเต็มตัว พอลาออกมาก็มีเวลาว่างเยอะ จึงเขียนตำราอาหารขนมไทยอย่างละเอียดมาก ต่อมาก็ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อหนังสือ “ขนมหวานและอาหารว่าง” ตั้งแต่ พ.ศ. 2538และตีพิมพ์ซ้ำมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วถือเป็นผลงานที่ดิฉันภูมิใจมาก

เมื่อหนังสือวางขาย ดิฉันก็ได้รับการทาบทามให้ไปสอนทำขนมและอาหารว่างให้สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนได้ 6 - 7 ปี ก็เปิดร้าน“นพวรรณขนมไทย” ที่หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 และได้รับป้ายเชลล์ชวนชิมจาก คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และได้ออกรายการโทรทัศน์ของท่าน รวมถึงรายการอื่น ๆอีกหลายรายการ เพราะเราทำขนมไทยที่อร่อยและหากินได้ยาก เวลานั้นมีลูกค้ามาตามซื้อกันเยอะมาก และก็ได้ทำงานอีกหลายงานจากการเปิดร้านนี้

ผลงานที่อาจารย์ภูมิใจมีอะไรบ้างคะ

ส่วนมากดิฉันมีโอกาสทำงานในโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ ซึ่งก็รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในงานเหล่านั้น งานที่ภูมิใจมากมีหลายงาน เช่น การได้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดขนมหวานเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานเทศกาลขนมไทยซึ่งเป็นมา 7 ปีแล้ว นอกจากนี้ก็มีงานที่ได้เป็นที่ปรึกษาในงานระหว่างประเทศ เช่น ที่ปรึกษาด้านขนมไทยในงานครบรอบ 500 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย - โปรตุเกส และการที่ได้ทำเค้กไทยซึ่งทำจากขนมสาลี่ทิพย์ แต่งหน้าด้วยขนมทองเอกสีเหลืองทองทำเป็นช่อดอกราชพฤกษ์คู่กับทองเอกสีขาวแซมชมพูที่จัดเป็นช่อดอกซากุระเพื่อนำไปจัดแสดงในงาน 120 ปีสัมพันธไมตรีไทย - ญี่ปุ่นที่สถานทูตไทยในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้จากประสบการณ์ที่ลงมือคิดค้นทำขนมเองทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ดิฉันสามารถสอนและถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้ ทุกวันนี้ดิฉันร่วมมือกับทางอาชีวศึกษาเพื่อถ่ายทอดการทำขนมไทยให้แก่คณะครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา สิ่งไหนที่ยาก ดิฉันก็คิดค้นพัฒนาให้ทำง่ายขึ้น เพราะอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ภูมิใจในขนมไทย ในความเป็นไทยที่เรามี

ทราบว่าอาจารย์เปิดสอนให้คนที่สนใจทำขนมไทยเป็นอาชีพด้วย

ใช่ค่ะ ที่ผ่านมาก็มีลูกศิษย์มาเรียนด้วยหลายคนแล้วเขาก็ไปเปิดร้านของตัวเอง มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาจากจังหวัดเชียงใหม่ขอมาเรียนทั้งขนมหวานและของว่าง พอเรียนจบก็ไปเปิดร้านอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มาถึงวันนี้ก็ 20 ปีแล้ว

อีกร้านคือ ร้านสุพัตรา ที่จังหวัดพิษณุโลก เดิมคือพี่สาวเจ้าของร้านสั่งขนมจากเราไปถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทุกครั้งที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร พอน้องสาวเรียนจบจึงมาเรียนและฝากตัวเป็นลูกศิษย์ดิฉัน พอกลับไปเปิดร้านก็โด่งดังเพราะฝีมือดีมาก นี่คือลูกศิษย์ทั้งสองคนที่รักมาก และผูกพันกันเหมือนเป็นลูกจริง ๆ

การที่ลูกศิษย์มาเรียนกับอาจารย์และได้สูตรไปทุกอย่าง เหมือนกับการเปิดแฟรนไชส์แต่ไม่ต้องใช้ชื่อ “นพวรรณ” หรือคะ

ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อหรือส่งเสริมชื่อ “นพวรรณ” เพราะดิฉันอยากส่งเสริมลูกศิษย์มากกว่า อีกทั้งการที่ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ถือเป็นความภูมิใจ การให้ถือเป็นความสุขของครู เป็นความสุขที่ได้จากการให้เป็นสุขที่ยั่งยืนและหาอะไรเปรียบไม่ได้ และถ้าคนที่ได้รับจากเรามีความรู้สึกและอยากให้คนอื่นต่อบ้างยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นในการสอนลูกศิษย์แต่ละคน ดิฉันทุ่มเทความคิดและจิตวิญญาณ สร้างให้เขาเป็นคนดีและเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย ดิฉันสอนลูกศิษย์เสมอว่าต้องมีคุณธรรมในการประกอบอาชีพ วัตถุดิบอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภคก็ห้ามใส่ลงไป เราต้องคำนึงถึงสุขภาพของคนที่กินเป็นอย่างมาก

ทุกวันนี้อาจารย์ยังเปิดร้านนพวรรณขนมไทยอยู่ไหมคะ

ไม่ได้เปิดแล้วค่ะ เพราะช่วงหลังเด็กลูกมือ 7 - 8 คนที่ช่วยในร้านก็ค่อย ๆ ขอไปเปิดกิจการของเขาเอง พอไม่มีคนช่วย ดิฉันก็ทำเองไม่ไหว เพราะงานทำขนมเป็นงานละเอียด จึงต้องหยุดทำร้านไปก่อน แล้วลูก ๆ ก็ขอให้กลับมาอยู่บ้านที่ซอยสายลม ดิฉันจึงเปลี่ยนมาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านขนมไทยให้ผู้ประกอบธุรกิจสอนทำขนมไทยและทำขนมส่งตามออร์เดอร์เท่านั้น แต่ไม่เคยหยุดทำงานเพราะการทำขนมเป็นสิ่งที่รัก

ในวันนี้ที่อาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ อาจารย์มีหลักการทำงานอย่างไรคะ

ใครมีปัญหาอะไรก็จะนัดคุยกัน เมื่อรู้จุดประสงค์ว่าเขาต้องการอะไร ดิฉันก็จะคิดและเตรียมงานอย่างดี ดังนั้นถ้าใครมาขอให้ช่วยก็จะช่วยให้ถึงที่สุด ไม่ว่าโจทย์เล็กโจทย์ใหญ่ ไม่ปฏิเสธ เป็นคู่คิดให้ได้ แล้วก็เก็บเป็นความลับให้ด้วย เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากเป็นหนึ่งเดียว การทำให้คนมีความสุขได้ภายในข้ามคืนถือเป็นความสุขยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เงินก็ซื้อไม่ได้ พอได้รับโจทย์ได้รับรู้ปัญหาของคนที่มาปรึกษาก็จะรีบคิดทดลองและเตรียมสูตรให้เขาทันที เพราะรู้ว่ากว่าเขาจะมาถามเรา ปัญหาอยู่กับเขามานานแล้ว เขาหาทางออกไม่ได้แล้วจึงมาหา เขาเสียเงินให้เราก้อนหนึ่ง พอเรารับเรื่องก็ต้องรีบตีโจทย์ให้แตกจากนั้นก็นัดเขามาดูผลงาน และให้เขาลองชิม ถ้าเขาถูกใจก็นัดมาเข้าครัวปฏิบัติ เพื่อให้ลงมือทำจริงและกลับไปทำเองได้ ส่วนเราก็ได้รับความสุขใจเมื่อได้เห็นเขาประสบความสำเร็จในงานที่ทำ

แม้อายุ 72ปีแล้วอาจารย์ก็ยังไม่คิดเกษียณตัวเองหรือคะ

ในช่วงอายุนี้ถือว่ามีความสุขมาก เพราะยังได้ทำงานและทำประโยชน์เพื่อคนอื่นอย่างเต็มที่ ไม่มีห่วงเรื่องใด ๆตอนนี้ทุกลมหายใจเข้าออกดิฉันคิดแต่เรื่องงาน ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ พยายามคิดพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้น

ที่ผ่านมามีงานที่คิดไว้หลายงาน เช่น การคิดพัฒนาใช้หญ้าหวานมาเติมความหวานแทนน้ำตาลเพื่อให้ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ การพัฒนาแป้งขนมสำเร็จรูปเติมน้ำร้อนเพียงอย่างเดียวก็สามารถนำไปทำขนมได้ถึง 3 ชนิด คือ ช่อม่วง ขนมปั้นสิบ และขนมจีบนก ไส้ขนมก็มีทำสำเร็จรูปไว้เช่นกัน โดยสามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 ปีนอกจากนี้ก็มีชุดทำขนมลูกชุบสำเร็จรูปที่มีแป้งและวุ้นสำเร็จรูป เด็ก ๆ ก็ทำกันได้

การพัฒนาชุดทำขนมเหล่านี้ให้ทำง่ายไม่ยุ่งยากเพราะอยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและลองทำขนมไทยและภูมิใจในความเป็นไทย รวมถึงส่งเสริมให้ขนมไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพราะสามารถนำชุดทำขนมสำเร็จรูปเหล่านี้ไปแสดงหรือทำที่ต่างประเทศได้ หากใครสนใจอยากนำไปต่อยอดทางธุรกิจก็ยินดีมาก

นอกจากนี้ก็ยังมีงานที่อยากทำอีกเยอะ งานหนึ่งที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาส คือเข้าไปสอนทำขนมให้นักโทษหญิง ที่ผ่านมาทำได้แค่ฝากสูตรขนมไปให้ เพราะอยากให้เขาได้มีวิชาชีพติดตัว ถ้ามีลูกก็จะได้มีอาชีพทำมาหากินเลี้ยงลูกได้

ความสุขทุกวันนี้คืออะไรคะ

อะไรที่เรียบง่ายก็ถือเป็นความสุขแล้ว ทุกวันนี้ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ได้พิถีพิถันหรือเรื่องมากกับใคร ความสุขความทุกข์เราเลือกได้ แม้วันนี้จะเหนื่อยแต่ก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้มองว่าเป็นความทุกข์ ไม่ได้มองแต่ความมืดมน แต่มองทุกอย่างในมุมสุข ชีวิตจึงได้เปรียบคนอื่น ตอนนี้แม้จะอายุมากแล้ว แต่สมองยังดีมาก จำเรื่องราวต่าง ๆ ของตัวเองได้หมด แต่เลือกจำแต่สิ่งที่ดี ๆ ความทรงจำที่ไม่ดีไม่รู้จะจำไว้ทำไม จำไปก็เป็นทุกข์ ทุกวันนี้คนดูละครก็เกิดความทุกข์ ทุกข์เพราะไปคิดแทนพระนางพระเอก นั่นเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา (หัวเราะ) เรื่องของเราคือการทำงาน

การทำงานทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความสุขเช่นกันในฐานะที่เราเป็นที่ปรึกษา ถ้าเราคิดงานคิดแก้ปัญหาให้เขาได้เร็ว ให้เขาคลายทุกข์ หรือสร้างอาชีพเพื่อจะได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง หรือต่อยอดอาชีพให้เขาไปทำ ไปช่วยกันในครอบครัวได้ เราก็ได้รับความสุขเป็นสิ่งตอบแทนกลับมาด้วย

นอกจากนี้หลักที่ยึดปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองมีความสุขเสมอ คือ ศีล 5 เพราะครอบคลุมการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ทำให้เราไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น เราจึงอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข จะก้าวไปทางไหน ไปบังเอิญเหยียบอะไรก็ขอขมาลาโทษ เพราะไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้เจตนา อีกเรื่องที่สำคัญ คือ สติ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องใช้สติกำกับเสมอ

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตตอนนี้ของอาจารย์คืออะไรคะ

อยากให้ข้าวไทยเป็นที่หนึ่งในโลก หากเมล็ดข้าวที่ปลูกเป็นที่หนึ่งไม่ได้ ดิฉันก็เชื่อว่าเมล็ดข้าวที่นำมาแปรรูปสามารถเป็นที่หนึ่งได้ ช่วงในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตดิฉันตั้งจิตอธิษฐานว่าอยากทำงานตอบแทนพระคุณพระองค์โดยสร้างชื่อให้ข้าวของแผ่นดิน ข้าวของพ่อ ด้วยการนำข้าวไทยมาใช้เป็นส่วนผสมของขนมไทยดั้งเดิมให้ได้ 99 เมนูจึงไปที่ “งานมหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ” ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ทำให้ได้รู้จักกัลยาณมิตรหลายท่านและได้นำข้าวจากจังหวัดต่าง ๆ มาทำเป็นเมนูขนมอย่างที่ตั้งใจไว้

เวลานี้ดิฉันตั้งใจที่เขียนสูตรขนมทั้ง 99 เมนูนี้ออกมาเป็นหนังสือ “ข้าวของพ่อ ขนมของแผ่นดิน” และตั้งใจจะนำความรู้เหล่านี้ไปส่งเสริมให้เกิดอาชีพในชุมชน เพราะอยากให้ลูกหลานของคนในแต่ละจังหวัดได้ทำงานอยู่ในท้องถิ่นจะได้ทำงานอยู่ในบ้านเกิด มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ ได้ใช้ชีวิตกันในครอบครัวอย่างอบอุ่น ไม่ต้องห่างกันเพราะเข้ามาทำงานในเมือง

ทุกอย่างที่ทำในเวลานี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและตอบแทนประเทศชาติเป็นสำคัญ และทุกลมหายใจเข้าออกนั้นมีเพียงแต่งานและการให้ ซึ่งทำให้สุขใจเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น 


Secret’s Quote

การทำงาน” ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีความหมาย

ส่วน “การให้” ทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขใจเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

 – อาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล –


เรื่อง เชิญพร คงมา ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

ที่มา: นิตยสาร Secret


บทความที่น่าสนใจ

10 ศิลปินไอดอลแห่งวงการบันเทิง นิตยสาร Secret

10 คลิป คำถามทางธรรม สุดฮิตในปี 2560 นิตยสาร Secret

รวม 10 ข้อคิดเตือนใจ ให้ธรรมนำทาง จากพระอาจารย์ นิตยสาร Secret

รวม 3 พิพิธภัณฑ์ เด็ดน่าไป ไม่ไกลกรุง นิตยสาร Secret

เรื่องจริง ไม่ได้อิงละคร ธรรมะจากละคร นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.