เจ๊ะหัน

มหัศจรรย์แห่งการอ่าน เจ๊ะหัน ยะลา

มหัศจรรย์แห่งการอ่าน เจ๊ะหัน ยะลา

เจ๊ะหัน ยะลา คือชายวัย 50 ปีชาวบ้านในตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ที่เดิมทำงานรับจ้างทั่วไป แต่วันนี้ชีวิตของเขาสุขสบาย ทำธุรกิจหลายอย่างที่ทำรายได้มากมาย และที่สำคัญคือ เขาทำงานเพื่อชุมชนด้วย

ความสำเร็จทั้งหมดในชีวิตเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ด้วยเคล็ดลับธรรมดา ๆ นั่นคือ “การอ่าน” 

แต่การอ่านของชายวัย 50 ปีคนนี้ไม่ใช่เพื่อการสอบ ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงแต่เป็นการอ่านเพื่อจุดประกายความคิดและเปลี่ยนแปลงชีวิต

ตอนนี้คุณเจ๊ะหันทำอาชีพอะไรบ้างคะ

ตอนนี้ค้าขาย มีธุรกิจครอบครัวคือรับซื้อปาล์มน้ำมัน เผาถ่านจากกะลามะพร้าวเลี้ยงไก่ นอกจากนี้ก็มีงานในชุมชน เช่น หางบประมาณให้ชุมชน ประสานงานทำความเข้าใจระหว่างคนในหมู่บ้านและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงดูแลเรื่องการอ่านหนังสือของคนในชุมชนด้วยครับ

ชีวิตก่อนเริ่มอ่านหนังสือของคุณเจ๊ะหันเป็นอย่างไรคะ

ชีวิตตอนเด็ก ๆ ของผม พูดตามความเป็นจริงเลยคือลำบาก พ่อแม่ทำสวนทำไร่มีรายได้แค่วันละ 50 - 60 บาท พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ผมอายุ 12 ปี ผมก็อยู่กับพี่น้อง ต้องพึ่งพาตัวเอง ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เรียนสูงสุดคือชั้น ป.6 หลังเรียนจบก็รับจ้างทำงานไปเรื่อย ทั้งงานก่อสร้าง ตัดหญ้า กรีดยางคนชนบทไม่คิดเรื่องเรียนต่อหรอก เรียนจบป.6 ให้อ่านออกเขียนได้ก็ดีแล้ว

ทราบว่าหลังจากเรียนจบชั้น ป.6 ก็ไม่ได้อ่านหนังสืออย่างจริงจังอีกเลย

ในชีวิตของผมไม่มีโอกาสได้อ่านเลยจบ ป.6 ก็เพื่อให้อ่านภาษาไทยออก คิดเลขเป็นแค่นี้ก็ถือว่าพอแล้ว ชีวิตนี้ไม่เคยคิดที่จะมาอ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนมากอ่านแค่หนังสือพิมพ์ที่วางอยู่ตามโรงพยาบาลสถานที่ราชการ อ่านแล้วก็วาง ไม่ได้มาคิดอะไรต่อ กลับถึงบ้านก็ลืมที่อ่านมาหมดแล้ว

คนในชุมชนไม่มีใครคิดที่จะซื้อหนังสือมาอ่านหรอกครับ มีแต่ทำมาหากินกัน แค่หาเลี้ยงครอบครัวกันยังไม่ไหวเลย และไม่มีใครที่สามารถซื้อหนังสือเล่มละเป็นร้อยมานั่งอ่าน ชาวบ้านคิดแต่ว่าหนังสือเป็นภาระเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ทั้งที่ในหลักศาสนาอิสลามมีคำสอนว่า จงอ่าน แต่เรากลับไม่ได้ไขว่คว้าเรื่องนี้กันเลย พอมีใครพยายามหาหนังสือมาอ่านก็มักโดนตำหนิว่า อย่าไปดิ้นรนเลยทำมาหากินดีกว่า

ทำไมถึงได้มาเริ่มอ่านหนังสืออีกครั้งเมื่ออายุ 44 ปีคะ

เมื่อ พ.ศ. 2553 ผมมีโอกาสดูแลโครงการหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ของอาจารย์มกุฏ อรฤดี ตอนแรกมัสยิดในชุมชนของผมไม่ได้อยู่ในสายตาของโครงการนี้เลยเพราะเป็นมัสยิดเล็ก ๆ ที่อยู่ในชุมชนที่เล็กมากคนในชุมชนก็ต่างคนต่างอยู่ แต่มีมัสยิดแห่งหนึ่งปฏิเสธโครงการนี้ เมื่อมีคนมาถามผมว่าจะรับโครงการนี้ไหม ผมจึงบอกทันทีว่า “ดีเลย มาเลย”

ที่ตอบรับไปเพราะผมเห็นว่าชุมชนของเราขาดโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือ ขาดความรู้ความเข้าใจสังคมภายนอกเราอาศัยอยู่แต่ในชุมชนอิสลามเล็ก ๆ ของเรา ผมจึงรู้สึกว่าถ้าชาวบ้านได้อ่านหนังสือ ชุมชนอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีคนบอกว่า อ่านหนังสือไปก็เท่านั้น เราก็ยังต้องตัดยาง กรีดยาง ขายปลา เผาถ่านเหมือนเดิม อ่านแล้วไม่รู้ว่าจะได้อะไรหรือช่วยอะไรพวกเขาได้

 

ในเมื่อตอนนั้นคุณเจ๊ะหันก็ยังไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ ทำไมจึงอยากส่งเสริมให้คนอื่นอ่านหนังสือคะ

ผมมีความรู้สึกเหมือนกับเรากำลังวิ่งผลัด 4 × 100 เมตรกันอยู่ อาจารย์มกุฏทำโครงการนี้เปรียบเป็นเหมือนนักวิ่งไม้แรกอาจารย์ตั้งความหวังว่าอยากให้ชุมชนได้ความรู้จากการอ่าน ผมเป็นคนที่รับไม้ต่อก็คิดว่าคนแรกที่เขาวิ่งมา เขาอยากให้เราชนะ เราก็ต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัย พอผมรับไม้ต่อปุ๊บผมก็ส่งต่อให้กับชาวบ้านวิ่งต่อไปอีก ชาวบ้านจะวิ่งได้เร็วและไกลแค่ไหนก็อยู่ที่ตัวเขา แต่ผมจะคอยเชียร์ให้กำลังใจให้เขาไปถึงเส้นชัยให้ได้

คุณเจ๊ะหันส่งเสริมให้ชาวบ้านอ่านหนังสืออย่างไรบ้างคะ

เริ่มแรกผมก็อ่านเองก่อนครับ จากนั้นจึงคิดวางแผนให้คนมาอ่าน เริ่มจากการไปซื้อผ้าโสร่งมา แล้วตั้งกติกาว่า อ่านมากได้โสร่งคือให้แต่ละคนอ่านหนังสือแล้วจดบันทึกสิ่งที่อ่านไว้ในสมุด ใครอ่านหนังสือได้เยอะจะได้โสร่ง ชาวบ้านจึงหันมาอ่านหนังสือกันเยอะมากเพราะอยากได้โสร่ง (หัวเราะ) ผมไม่รู้ว่าเขาอ่านจริงหรือไม่ แต่ถ้าใครมีการจดบันทึกซึ่งตรวจดูแล้วตรงกับหนังสือที่เขาอ่านก็ให้รางวัลไป

ต่อมาผมก็คิดอีกว่า ในชุมชนยังมีชาวพุทธที่อยากอ่านหนังสือด้วย เขาก็มาถามว่า ขอยืมหนังสือด้วยได้ไหม หรือบางคนอยากจะอ่าน แต่ก็ไม่กล้ามาขอยืม ผมจึงคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรคนพุทธในชุมชนจะมีโอกาสอ่านหนังสือเหมือนกัน จึงเริ่มจากการคัดสรรหนังสือหลายประเภท เช่น การเกษตรการประกอบอาชีพ วรรณกรรมเยาวชน แล้วก็ซื้อตะแกรงสำหรับเสียบหนังสือเอาไปฝากตามร้านเสริมสวย ร้านค้า หรือสถานีอนามัย โดยจะเลือกหนังสือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างสถานีอนามัยก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับแม่และเด็ก โดยมีสมุดจดบันทึกการยืมคืนในแต่ละจุดที่นำไปวางด้วย

การนำหนังสือไปฝากตามที่ต่าง ๆ ก็มีทั้งที่เขายินดีรับและปฏิเสธ คนที่ชอบก็รับฝาก แต่คนที่ปฏิเสธมักบอกว่า อย่าเอามาเลยเด็กมันเล่น บางคนที่รับฝากถามว่า ถ้าหนังสือหายจะทำอย่างไร ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไรแต่ความรู้สึกของผมคือ อย่าให้หายสิ อย่าให้พังสิ เราก็อยากรักษาหนังสือไว้ บางทีคนที่รับฝากบอกว่า มีคนยืมไปแล้วนะ แต่ไม่เห็นส่งกลับมาเลย ผมก็รู้แล้วว่าเขาช่วยดูแลหนังสือให้เราอยู่

พอครบหนึ่งเดือนผมก็จะเอาหนังสือไปสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้การนำหนังสือไปฝากไว้อย่างนี้ก็เป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชนที่เป็นพุทธและอิสลาม เรียกได้ว่าหนังสือทำให้คนเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันได้

คุณเจ๊ะหันมีหลักการอ่านอย่างไรบ้างคะ

อยู่ที่เราอ่าน แล้วคิด และลงมือทำการอ่านจึงจะเปลี่ยนชีวิตเราได้ และเวลาที่อ่าน เราต้องไม่จบแค่สิ่งที่ในหนังสือเขียนมา หากผู้เขียนเขียนมาหนึ่งบรรทัดเราต้องคิดต่อไปอีกสองหรือสามบรรทัดและต้องหาความรู้ในเรื่องนั้นเพิ่มเติมต่อไปอีกไปหาเรื่องที่เกี่ยวข้องมาอ่าน แล้วก็ต้องคิดวิเคราะห์ว่า หนังสือบอกมาอย่างนี้ เราจะทำได้ไหม จะปรับเข้ากับสิ่งที่เราจะทำอย่างไรแล้วจึงลงมือทำ ลองผิดลองถูกจนได้ผล

ผมคิดว่า อย่าหยุดตัวเองเพียงแค่กรอบที่หนังสือเล่มหนึ่งให้ไว้ เราต้องทะลุกรอบออกมา คิดและไขว่คว้าหาความรู้ต่อไปและเมื่อออกจากกรอบนั้นมาได้ ก็จะได้เจอแสงสว่างมากมาย

หนังสือเล่มไหนที่เรียกได้ว่าเป็น “หนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิต”

หนังสือเรื่อง คุณหมอดูลิตเติล(วรรณกรรมเยาวชนของ ฮิวจ์ ลอฟทิง) ครับหนังสือเล่มนี้แหละที่เปลี่ยนชีวิตจริง ๆ เปลี่ยนทั้งวิธีคิดและการกระทำ ส่วนหนังสือเล่มอื่น ๆ ก็เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรามีชีวิตได้อย่างวันนี้

ตอนแรกผมเห็นว่าหนังสือเล่มนี้แปลกตรงที่เขียนที่ปกว่า คุณหมอคุยกับสัตว์ พอเปิดดูก็สะดุดกับคำว่า “สัตว์น้ำเปลือกแข็ง”ซึ่งผมติดใจคำนี้ ตอนนั้นไม่คิดถึงเนื้อหาของหนังสือเลยว่าเป็นเรื่องอะไร ไม่รู้ด้วยว่าเป็นวรรณกรรมเด็ก แต่ก็อ่านไปเรื่อย ๆ

อ่านจนไปเจอตอนที่เรือของคุณหมอดูลิตเติลล่องไปเจอเรือโจรสลัด เรือของคุณหมอเก่ามากจึงไปได้ช้า จนสุดท้ายสัตว์ในเรือก็ขอให้ฝูงนกนางแอ่นมาช่วย นกนางแอ่นก็บอกให้คุณหมอแก้เชือกเส้นยาวบางส่วนออกและคลายเกลียวเชือกเป็นเส้นยาว ๆ เพื่อให้ฝูงนกนางแอ่นจิกแล้วลากเรือไป

จากเนื้อเรื่องตอนนี้ทำให้ผมได้คิดว่าเรือลำนี้มีสัตว์อยู่บนเรือเยอะแยะ ซึ่งก็เหมือนกับชุมชนของเราที่มีคนหลากหลายแบบ มีทั้งคนที่คิดจะช่วยและไม่ช่วย แต่ถ้าทุกคนร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันคนละไม้คนละมือเหมือนกับฝูงนกนางแอ่นที่มาช่วยเหลือคุณหมอชุมชนของเราก็จะอยู่รอดได้

ผมคิดต่อไปว่า เชือก 1 เส้นในเรื่องก็เหมือนกับคนในชุมชน 1 คน และถ้าทุกคนออมเงินวันละ 1 บาท น่าจะได้ประโยชน์อะไรสักอย่าง จึงเป็นที่มาของการหารือกับชาวบ้านจัดตั้งกองทุนสวัสดิการหมู่บ้านขึ้นมา

ทำไมการอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนจึงจุดประกายให้เกิดเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนได้คะ

ไม่รู้เหมือนกันครับ ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นคงเรียกว่าเป็นไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมา หลายคนบอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือของเด็กแต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ถึงจะเป็นหนังสือสำหรับเด็กก็มีดี เพราะเป็นหนังสือที่สร้างให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรจะปิดกั้นตัวเองในการอ่านหนังสือด้วย

อยากให้เล่าถึงการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านให้ฟังค่ะ

เมื่อได้แนวคิดจากการอ่านหนังสือคุณหมอดูลิตเติล ผมจึงคิดว่าน่าจะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการในชุมชนขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนของเรารู้จักออม รู้จักใช้จ่าย และช่วยเหลือกันและกัน ผมไปเสนอชาวบ้าน บางคนถามว่า ออมวันละ 1 บาทจะได้อะไร เอา 5 บาทไปเลยดีกว่า แต่ผมบอกว่ามันหนักเกินไป ยิ่งเป็นคนจนจะยิ่งหนัก เพราะเป็นการเก็บรายบุคคล ไม่ใช่รายครอบครัวส่วนคณะกรรมการก็ชวนจากคนที่ช่วยกันดูแลหนังสือนี่แหละ

ตอนแรกเราทำในชุมชนของเราก่อนประมาณ 40 - 50 คน โดยใช้ความไว้เนื้อ-เชื่อใจระหว่างชาวบ้านด้วยกัน ต่อมาก็ขยายไประดับตำบล มีการจดทะเบียนเป็นกองทุนสาธารณประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นระบบ และตรวจสอบได้ ตอนนี้ก็มีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณสี่แสนบาทครับ

เงินที่เราเก็บไว้จะนำมาใช้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ทุนการศึกษา ทุนผู้พิการทุนคลอดบุตร และสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับสมาชิก เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาได้ครั้งละ 200 บาท แต่ถ้านอนโรงพยาบาลได้คืนละ 1,000 บาท หรือค่าคลอดบุตรก็แยกไปต่างหาก สำหรับนักเรียนนักศึกษา เราให้ทุนปีละ 500 บาท หรือหากมีกรณีเสียชีวิตเราก็มีเงินช่วยเหลือให้

การจัดตั้งกองทุนนี้เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เหมือนกับเรามีกิ่งไม้ 10 กิ่งที่นำมามัดรวมกัน กิ่งไม้นั้นก็ช่วยประคองซึ่งกันและกันให้ตั้งตรงอยู่ได้ ถ้ากิ่งไม้กิ่งหนึ่งหักหรืองอ อีกเก้ากิ่งก็ช่วยประคับประคองกันอยู่ เช่นเดียวกับที่เราเก็บเงินคนละ 1 บาท ถ้ามีคนหนึ่งป่วย อีก 4 บาทของ 4 คนก็ช่วยคนคนนี้ได้ หรือถ้ามีใครคนใดป่วย อีก 4 คนก็ช่วยกันได้ เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นำความรู้จากการอ่านหนังสือมาแก้ปัญหาและช่วยเหลือในชุมชนอย่างไรบ้างคะ

ย้อนกลับไปก่อนจะมีโครงการหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ชุมชนของผมมีบ่อนวัวเป็นแหล่งอบายมุข เยาวชนของเราไม่มีความรู้ไม่มีงานทำ บ่อนก็จ้างให้ไปเลี้ยงวัวชน ผมคิดว่าถ้าเด็กทำงานนี้ไปเรื่อย ๆ เขาอาจฝังใจเริ่มชอบ แล้วก็ทำเอง ชนเอง ถ้าอย่างนั้นจากครอบครัวที่อบอุ่นก็จะเริ่มแตกแยก ผมจึงอยากดึงเด็กออกมาจากบ่อนนี้ เคยคุยกับอาจารย์มกุฏว่าจะทำอย่างไรดีที่จะดึงเด็กกลับมาให้ได้ แต่ก็หาทางออกไม่ได้

จนกระทั่งได้อ่านหนังสือการเกษตรเล่มหนึ่งของกรมปศุสัตว์ เป็นเรื่องการเลี้ยงวัวแล้วมีเรื่องหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ผมจึงเกิดความคิดว่า ถ้าเราทำอะไรบ่อนนี้ไม่ได้ ก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปลูกหญ้าขายให้พวกวัวชนเลยแล้วกัน จะได้มีรายได้ ผมจึงชวนน้องทำ ไปเช่าที่ปลูกหญ้า ปลูกได้ 6เดือน หญ้าก็ยาว โตเต็มที่ ตัดขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท รายได้เดือนละเป็นหมื่น

พอคนในชุมชนเห็นว่าขายได้ เขาก็ปลูกกันบ้าง ผมกับน้องจึงเลิกทำ เพราะทำไปก็แย่งกันขาย จากนั้นจึงมาคิดกันว่าจะรับซื้อปาล์มน้ำมัน จึงเอาที่ไปจำนองเพื่อหาเงินมาลงทุน ซึ่งวันนี้ก็เป็นธุรกิจของครอบครัวที่ช่วยกันดูแล และเป็นรายได้หลักของครอบครัว

ตอนนี้ชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปเยอะไหมคะ

ทุกวันนี้จากชาวสวนชาวนาก็เป็นพ่อค้าจากพ่อค้าก็มาเป็นผู้บริหาร ทำธุรกิจส่วนตัวซึ่งในชุมชนมีกลุ่มที่รวมตัวกันทำอาชีพหลายอย่าง เช่น กลุ่มขายปลาย่าง กลุ่มอาชีพเลี้ยงไก่ ผมพยายามส่งเสริมให้คนในชุมชนพึ่งพาตัวเองให้ได้ ให้เขารู้จักคิดและรู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเขาก็เปลี่ยนแปลงชีวิตไปโดยที่ไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มพัฒนาอาชีพเพาะเห็ด ที่ตอนแรกผมหาหนังสือไปให้เขาอ่าน จนสุดท้ายพัฒนามาเพาะเห็ดกลางอากาศ เพื่อป้องกันการรบกวนจากมดและแมลง ไม่เหมือนกับการเพาะเห็ดเมื่อก่อนที่วางถุงเห็ดไว้กับพื้น เขาก็มีรายได้จากตรงนี้ผมหาหนังสือมาให้ชาวบ้านหลายกลุ่มหลายอาชีพ เขาก็นำไปคิดต่อยอดและหาเลี้ยงตัวเองได้ บางกลุ่มก็ดูแลกันได้ ขนาดมีกองทุนสวัสดิการของกลุ่มตัวเองด้วย ทุกอย่างได้มาจากหนังสือทั้งนั้น

เห็นว่าการเผาถ่านจากกะลามะพร้าวเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่คุณเจ๊ะหันทำมีจุดเริ่มต้นอย่างไรคะ

ช่วงหนึ่งหน่วยงานสาธารณสุขรณรงค์ให้คว่ำกะลามะพร้าวเพื่อไม่ให้น้ำขังและเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงลาย ตอนนั้นผมกำลังทำโครงการเผาถ่านอัดแท่งอยู่ ได้ยินแล้วก็เกิดความคิดว่าทำไมเขาต้องให้คว่ำกะลามะพร้าวด้วย เพราะในกะลามีเยื่อมะพร้าวอยู่ ถึงจะคว่ำแล้ว แต่ไก่มันได้กลิ่น มันก็เขี่ยให้หงายเพื่อจิกกินเยื่อมะพร้าวอยู่ดี แล้วกะลาก็หงายเหมือนเดิมชาวบ้านคว่ำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเสร็จ

ผมคิดว่าน่าจะเก็บกะลามะพร้าวมาเผาเป็นถ่านดีกว่า จะได้กำจัดยุงลายและกำจัดขยะไปได้ด้วย จึงบอกให้คนในชุมชนเก็บกะลามะพร้าวมาขายให้ผม ส่วนการรับซื้อเราคิดราคาตามผู้ขายนะ คือถ้าเป็นคนปกติหรือร้านค้าที่เขาคั้นน้ำกะทิขายอยู่แล้ว ผมรับซื้อกิโลกรัมละ 50 สตางค์ แต่ถ้าเป็นคนสูงอายุที่ยากจน ผมให้กิโลกรัมละ 1 บาทถ้าเป็นคนพิการ ผมให้ 1.50 บาท เพราะผมให้ความสำคัญกับความพยายามของเขาการเป็นคนต้องรู้จักดิ้นรน ไม่รอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นเพียงอย่างเดียว แล้วก็เหมือนเราได้ทำบุญไปด้วย เพราะได้ช่วยให้เขามีอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้

ได้ทำงานหลายอย่างที่เป็นการช่วยเหลือคนในชุมชน ปกติเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้วหรือเปล่าคะ

จริง ๆ แล้วเมื่อก่อนผมเป็นคนเห็นแก่ตัวมาก ไม่เคยคิดที่จะช่วยเหลือคนอื่นเลย จนเมื่อมีลูก ก็คิดว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยฟังความคิดคนอื่นเลย คิดถึงแต่ตัวเอง จากนั้นผมจึงเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและเปิดใจมากขึ้น จนตอนนี้ผมคิดว่า ในชุมชนของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกัน เราก็อยู่ไม่ได้ ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันช่วยเหลือกัน ไม่ควรเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เพราะคนที่เก่งกว่าเรามีอีกเยอะ ไม่มีใครที่เก่งไปหมดเพราะคนเรามีความรู้ความสามารถไม่เท่าเทียมกัน แต่เราก็ช่วยเหลือกันได้

มีแนวหนังสือที่ชอบอ่านไหมคะ

ผมอยากอ่านอยากรู้ทุกอย่าง แต่ก็เลือกอ่านสิ่งที่จะนำมาปฏิบัติได้ เช่นเรื่องอาชีพผมมักเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับอาชีพที่เราถนัดหรือเป็นอาชีพที่จะทำได้ อย่างงานเลี้ยงไก่เป็นงานที่ถนัด ผมก็หาหนังสือวิธีเลี้ยงไก่มาอ่าน เพื่อนำความรู้มาสร้างรายได้ แต่หนังสือที่ผ่อนคลายความเครียดก็อ่านอยู่บ้างเหมือนกันครับ

ทุกวันนี้ก็ยังอ่านหนังสืออยู่ แต่ไม่ได้อ่านแล้วเก็บทุกเรื่อง จะเก็บเฉพาะใจความสำคัญที่นำมาใช้กับชีวิตได้

อ่านหนังสือมาเยอะแล้ว อยากลองเขียนหนังสือดูบ้างไหมคะ

อยากลองนะครับ แต่ไม่รู้จะเขียนถูกไหม เพราะเราก็จบ ป.6 เนอะ อาจจะยากนิดหนึ่ง (หัวเราะ)

โครงการที่คิดจะทำต่อไปมีอะไรบ้างคะ

ตอนนี้ผมมองว่า สิ่งที่มีมากที่สุดในชุมชนเล็ก ๆ ของเราคือขยะ ผมจึงอยากจัดการเรื่องนี้ โดยอยากจะเปลี่ยนขยะให้มีคุณค่า อยากนำขยะมาเปลี่ยนเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจัดตั้งธนาคารขยะในอนาคต คือเราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอด

เมื่อวานนี้ผมได้ไปเดินที่ถนนข้าวสารแล้วเห็นว่าเขาขายแมลงด้วงทอด เลยปิ๊งไอเดียว่า ที่กระบี่มีปาล์มเยอะ แล้วทางปาล์มนี่แหละเป็นอาหารที่ดีที่สุดของด้วง ปกติเราก็ทิ้งทางปาล์มอยู่แล้ว ถ้าเราเอามาปอกให้ยุ่ยแล้วเลี้ยงแม่พันธุ์ในนั้น ผมว่าน่าจะทำได้แน่นอน

สุดท้ายนี้อยากให้คุณเจ๊ะหันพูดถึงประโยชน์ของการเป็นนักอ่านค่ะ

ตั้งแต่ได้อ่านหนังสือ ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเยอะมาก เปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมดผมเองไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้มาร่วมพูดคุยในงาน “อ่านอะไร ได้อะไร” ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ได้ไปชมหอสมุดจุฬาฯ ได้เข้ามาที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ หรือแม้แต่ได้มาพูดคุยเรื่องนี้กับคุณที่นี่ เรียกว่าชีวิตของผมเปลี่ยนไปเยอะมาก และเปลี่ยนให้ได้เห็นจริง ๆ

ถ้าวันนั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือ ผมก็คงอยู่แค่ที่บ้าน ไม่ได้ออกมาสู่สังคมภายนอก ไม่ได้ได้รู้อะไรที่อยากรู้ขนาดนี้ ผมบอกได้เลยว่า การอ่านก็เหมือนจักรวาลที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีจุดจบ จนแก่เฒ่าชรา เราก็ยังอ่านได้ และอ่านไปจนตลอดชีวิต

ดังนั้นแม้ว่าปัจจุบันโครงการหนังสือหมุนเวียนในมัสยิดในชุมชนของผมจบไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่ผมก็ยังดูแลและสานงานต่อไป เพราะเป็นโครงการที่ดีมากและคนในชุมชนที่ชอบอ่านหนังสือก็ยังมีอยู่

ไม่ว่าอย่างไรผมก็จะไม่ทอดทิ้งหนังสือเพราะหนังสือมีคุณค่า สามารถเปลี่ยนมนุษย์เปลี่ยนสังคมได้จริงๆ 


Secret BOX

หนังสือเปลี่ยนแปลงคน เปลี่ยนแปลงสังคม

เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศหรือเปลี่ยนแปลงโลกก็ได้ ด้วยความรู้ในหนังสือ

เจ๊ะหัน ยะลา


เรื่อง เชิญพรคงมาภาพวรวุฒิวิชาธร, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้ช่วยช่างภาพธนทัชหิรัญวรกุล


บทความที่น่าสนใจ

ท้อแท้ แต่อย่าท้อถอยกับ 7 ข้อคิด และ คำคมสร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟให้ชีวิต

10 ข้อคิดสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ โดย แจ็ค หม่า

ด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูอาสาจากแดนไกล บ้านกรูโบ

นิพา เดชมา เศรษฐินีร้อยล้าน “ฉันมีความจนเป็นแรงบันดาลใจ”

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.